เยอรมนี ยื่นเรื่องฟ้องร้องอิตาลี กับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า การที่ศาลอิตาลีตัดสินให้เหยื่ออาชญากรรมสงครามของนาซี ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกค่าเสียหายกับทางการเยอรมนีได้ เป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่ไอซีเจ เคยตัดสินกรณีนี้มาแล้วเมื่อปี 2012
เอกสารคำฟ้องของเยอรมนีเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ศาลโลกเมื่อวันที่ 29 เมษายน ระบุว่า ทางการอิตาลียังเปิดทางให้มีการยื่นเรียกค่าเสียหายเข้าสู่ศาลในอิตาลี แม้ว่าศาลโลกจะตัดสินตั้งแต่ปี 2012 ที่ผ่านมา ว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อหลักความคุ้มกันแห่งรัฐ (ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่คุ้มครองรัฐและสินทรัพย์ของรัฐจากขอบเขตอำนาจศาลของรัฐอื่น)
ทางการเยอรมนีระบุว่า นับตั้งแต่การตัดสินของศาลโลกในปี 2012 มีการยื่นเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายกับรัฐบาลเยอรมนีเข้าสู่ศาลอิตาลีถึง 25 คดี โดยในหลายคดีศาลอิตาลีได้สั่งให้ทางการเยอรมนีจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เรียกร้อง ในจำนวนนั้น 2 คดี ศาลอิตาลีพยายามยึดอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของรัฐเยอรมนีในกรุงโรม ไปขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นค่าเสียหายให้กับครอบครัวเหยื่อ
โดยการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลโลกล่าสุดมีขึ้นหลังจากศาลในอิตาลีระบุว่าจะมีคำตัดสินว่าจะสั่งให้บังคับขายอาคารที่เป็นที่ตั้งของสถาบันวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์และการศึกษาเยอรมนี หรือไม่ ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ โดยทางการเยอรมนีเรียกร้องให้ศาลโลกมีคำสั่งห้ามไม่ให้ทางการอิตาลีนำอาคารดังกล่าวมาประมูลขาย โดยคาดว่าศาลโลกจะมีการไต่สวนเกี่ยวกับกรณีนี้ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ทั้งนี้ การเรียกร้องค่าเสียหายของเหยื่อนาซี ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในปี 2008 เมื่อศาลอิตาลีมีคำตัดสินให้เยอรมนีจ่ายเงิน 1 ล้านยูโร หรือราว 51 ล้านบาท ให้กับครอบครัวของเหยื่อ 9 จาก 203 คนที่ถูกกองทัพเยอรนีสังหารในทัสคานี อิตาลี ในปี 1944 โดยหลังจากกรณีดังกล่าวก็มีการยื่นร้องเรียกค่าเสียหายตามมาอีกหลายคดี
ด้านทางการเยอรมนีโต้แย้งว่าเยอรมนีได้จ่ายค่าชดเชยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้วตามสนธิสัญญาสันติภาพและค่าปฏิกรรมสงครามหลายฉบับที่มีขึ้นกับหลายประเทศ คิดเป็นเงินหลายพันล้านยูโรนับตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลงในปี 1945
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่