‘ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล’ แม่ทัพหญิง SRTA เผยโปรเจคยักษ์พัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟแบบ TOD

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

วันจันทร์ ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 18.14 น.

จากไลฟ์สไลต์คนที่เปลี่ยนไป ประกอบกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้คนหันมาเลือกเดินทางกับรถสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะรถไฟฟ้า เพราะฉะนั้นการพัฒนาแบบ TOD (Transit Oriented Development)หรือ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า นั้นมีความสำคัญมากในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และความปลอดภัยให้กับคนเดินทาง

ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวว่า TOD เป็นเหมือนการสร้างชุมชนเล็กๆ โดยที่มีสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในการสัญจรไปในที่ต่างๆของคนในชุมชนบริเวณนั้น ซึ่งจะไม่ใช่แค่การมีศูนย์การค้า แต่จะเน้นในการสร้างชุมชนที่น่าอยู่หรือเรียกว่าการทำมิกซ์ยูสโดยทั่วไปการทำ TOD จะวัดระยะพื้นที่รอบๆ รัศมีประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลาง

สำหรับองค์ประกอบการพัฒนาพื้นที่ จะประกอบไปด้วย ที่อยู่อาศัยในรูปแบบแนวตั้งหรือคอนโดมิเนียม มีพื้นที่สำหรับร้านค้าปลีกที่ไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่เป็นสถานที่ที่ให้คนมาเดินเล่นได้อีกส่วนหนึ่งคือการสร้างพื้นที่สีเขียว ใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษ ให้คนเดินทางสามารถสัญจรด้วยจักรยาน และการเดินเท้าได้

ร่วมมือร่วมใจ ปัจจัยสร้าง TOD ให้สำเร็จ

การพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานีให้มีความน่าอยู่ และปลอดภัย จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยหลัก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดิน สำนักงานเขต กทม.หรือสภาพัฒน์ เป็นต้น

ไตรทิพย์ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่ในแต่ละโซน ทาง SRTA จะเข้ามาศึกษาว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับสถานที่อะไรบ้าง เป็นพื้นที่ลักษณะแบบไหนและต้องการการพัฒนาอย่างไร เพื่อพัฒนาให้ตอบโจทย์กับศักยภาพและความต้องการของแต่ละพื้นที่เช่น สถานีธนบุรี บริเวณโรงพยาบาลศิริราช แนวทางการพัฒนาในพื้นที่ส่วนนี้จะไปในทิศทางของการสร้างจุดเด่นเรื่องสุขภาพ ซึ่งสามารถร่วมมือกับทางโรงพยาบาลศิริราช และเปลี่ยนพื้นที่รอบๆ ให้เป็น Medical District หรือบางพื้นที่อาจจะต้องอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ การพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นก็จะเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

“เราเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟ ซึ่งหากได้รับการมอบหมายมาเร็วก็จะสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว สำหรับพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนมาก ก็จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว”

ไตรทิพย์กล่าวต่อว่าการพัฒนาพื้นที่TOD จะทำให้เกิดความเจริญมากขึ้นSRTAพยายามพัฒนาแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเพิ่มเติมสิ่งใหม่เข้าไปเพื่อทำให้ชีวิตคนในพื้นที่ดีขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในแต่ละพื้นที่และเติมเต็มศักยภาพของพื้นที่

ปูพรมศึกษาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ

สำหรับพื้นที่ที่SRTA สามารถเข้าไปพัฒนาได้นั้น ในเบื้องต้นจะเป็นพื้นที่ของการรถไฟ ซึ่งพื้นที่ที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่บริเวณสถานีธนบุรี บริเวณรอบๆ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นโปรเจกต์ใหญ่ บริเวณถ.รัชดาตัดกับถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ที่กำลังเตรียมการศึกษาอยู่ นอกจากนี้ยังมีที่สถานีแม่น้ำ ที่กำลังศึกษาอยู่อีกด้วย

ไตรทิพย์ กล่าวในตอนท้ายว่าSRTA พยายามสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนว่าการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟนั้นมีประโยชน์อย่างไร ทำให้ชีวิตคนในพื้นที่ดีขึ้นอย่างไรซึ่งวัตถุประสงค์ที่บริษัทต้องการพัฒนารอบสถานีรถไฟ ในหลายๆ โครงการ นั้นทำเพื่อสร้างความเจริญให้กับชุมชนในบริเวณรอบรอบสถานี หรือบนพื้นที่ของการรถไฟ เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของคนไทยโดยแท้

-(016)


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน