ร้อง มพบ. คอนโดสร้างช้า เสียหายกว่า 100 ล้าน ลุงเศร้า! จ่ายกว่า 2 ล้าน ได้มาแค่โครง
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เขตราชเทวี กทม. กลุ่มตัวแทนผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ กรณีคอนโดคอนโดมิเนียม สร้างล่าช้ากว่ากำหนด มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 100 ล้านบาท โดยใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 2 ชั่วโมง
น.ส.อมรรัตน์ (สงวนนามสกุล) ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนทำสัญญาการจอง ไปเมื่อประมาณ เดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งในสัญญาระบุว่าจะมีการสร้างคอนโดเสร็จสิ้นใน เดือนธันวาคม 2564
แต่ปัจจุบันเดือนมิถุนายน 2565 ก็ยังสร้างไม่เสร็จ และได้หยุดสร้างไป ซึ่งทางบริษัทก็ไม่ได้ชี้แจงอะไรกลับมา ตนผ่อนจ่ายเงินดาวน์คอนโดไปแล้ว 130,000 บาท ตอนนี้มีผู้เสียหาย ประมาณ 40 คน ต้องการได้เงินคืน และอยากให้บริษัทเข้ามาพูดคุย ฝากถึงเจ้าของบริษัทอยากให้เห็นใจกลุ่มผู้เสียหาย เนื่องจากหลายคนเคยทำเรื่องร้องขอไปแล้ว แต่เรื่องก็เงียบไป
ทางด้าน นายเอ (นามสมมุติ) อายุ 64 ปี หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนซื้อไปทั้งหมด 5 ห้อง เป็นคอนโดย่านพหลโยธิน ราคาห้องละ 2.5 – 5 ล้าน ซึ่งได้จ่ายเงินผ่อนดาวน์ไปแล้ว 2,299,136 บาท ครบ 36 งวด ตามสัญญา ที่ตัดสินใจซื้อเนื่องจากเห็นว่าทางบริษัท เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ความเกิดความเชื่อถือ และมีการสร้างคอนโดในทำเลที่ดี สำหรับการลงทุนและอยู่อาศัย
โดยเริ่มแรกตนได้ทำสัญญาวางเงินจอง ไปตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ซึ่งในสัญญาระบุว่า ภายในปี 2564 จะสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งที่ผ่านตนเข้าไปดูคอนโดตลอด พบว่าไม่เป็นไปตามสัญญา ตึกความสูง 30 ชั้น กลางปี 64 ยังสร้างอยู่แค่ชั้นใต้ดิน
นายเอ (นามสมมุติ) กล่าวอีกว่า แต่มีเรื่องที่น่าตลกแบบเศร้าๆ การผ่อนดาวน์ 2 งวดสุดท้าย คืองวดที่ 34 และ 35 ตนจ่ายเงินล่าช้า เนื่องจากบัตรเครดิตหาย แต่ปรากฎว่าทางโครงให้จ่ายค่าปรับ ทั้งที่คอนโดยังสร้างแค่ชั้นใต้ดิน ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่ตนก็ยอมจ่ายค่าปรับ แต่อยากบอกว่า วันที่บริษัทต้องชดใช้ความเสียหาย ก็ต้องยอมจ่ายค่าปรับเหมือนกัน
“ต้องการได้เงินคืนเต็มจำนวน 2 ล้านกว่าบาท เป็นความยุติธรรม ที่ผู้เสียหายต้องได้รับ รู้สึกผิดหวังและเสียใจ อยากให้บริษัทออกมารับผิดชอบ ไม่ใช่เงียบหายไป” นายเอ (กล่าวปิดท้าย)
ทางด้าน นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อํานวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า วันนี้มีกลุ่มผู้เสียหาย ประมาณ 50 คน จากทั้ง 4 โครงการ ประกอบ คอนโดย่านพหลโยธิน , คอนโดย่านลาซาน , คอนโดย่านห้วยขวาง และ คอนโดย่านสุขุมวิท ซึ่งมีทั้งโครงการสูง 8 ชั้น และ โครงการสูงกว่า 40 ชั้น ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการรวบรวมผู้เสียหาย ทางมูลนิธิยินดีช่วยเหลือทุกคน
แนวทางต่อไปจะนัดหมายผู้ประกอบการ เข้ามาพูดคุยเจรจา ตนยากฝากถึงผู้ประกอบธุรกิจ อยากให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเข้าใจผู้บริโภคว่าการนำเงินไปดาวน์คอนโด เพราะมีความประสงค์ว่าจะอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด หากหลังมีการพูดคุยแล้วไม่มีข้อยุติ ก็จะดำเนินการในเรื่องของฟ้องคดีต่อไป