คอลัมน์การเมือง – วิกฤตต้มยำกุ้ง ภาพหลอนที่คอยหลอกสังคมไทย

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

ผ่านไปแล้ว 25 ปี สำหรับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง วิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้สังคมไทยได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส จนยากที่จะลบเลือนหรือลืมไปจากสังคมไทยได้โดยง่าย และเป็นสิ่งที่เตือนและตอกย้ำให้สำเหนียกว่า การเน้นและเร่งให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบร้อนรนโดยไม่ดูสมดุลเศรษฐกิจให้ดีคือมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และยังตอกย้ำให้เห็นอีกว่า การเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัวของคนจำนวนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่นิยมการจับเสือมือเปล่าคือต้นเหตุของความล่มจมของภาคธุรกิจในประเทศไทย

หลายคนที่ได้รับบาดแผลฉกาจจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ต่างจำได้ว่า ในยุคนั้นคนไทยจำนวนไม่น้อยเห่อเหิมมาก สุรุ่ยสุร่ายมาก หลายคนซื้อของต่างๆ นานา แบบเกินฐานะ เกินตัวหลายคนคิดว่าหาเงินได้ง่ายมาก บางคนคิดและเชื่อว่าตัวเองเป็นมนุษย์ทองคำ บางคนกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อหากำไรอันเกิดจากฟองสบู่ แต่แล้วเมื่อฟองสบู่แตก ความวิบัติก็บังเกิดไปทั่วประเทศ หลายคนที่เคยอู้ฟู่ต้องฆ่าตัวตาย ดังนั้นในยุคหลังเกิดปัญหาฟองสบู่แตก เราจึงพบข่าวมนุษย์ทองคำกระโดดตึกเพื่อฆ่าตัวตายกันเป็นระยะๆ รวมถึงการฆ่าตัวตายด้วยกรรมวิธีอื่นๆ อีกสารพัด และเราก็ได้พบได้เจอคนเคยรวยที่ต้องออกมาขายของเล็กๆ น้อยๆ กันเต็มเมือง เราได้พบได้เจอการเปิดท้ายรถยนต์เพื่อนำของต่างๆ นานา ออกมาค้าขาย เราได้พบการล่มสลายของธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่ง และเราก็ได้พบด้วยว่าคนที่เห่อเหิมไม่ประมาณตัวก็ต้องเจ็บตัวหนักมาก จนหลายรายเอาชีวิตไม่รอด แต่ในมุมตรงข้าม เราก็กลับไปพบว่าคนที่รู้จักประมาณตัว คนที่อยู่อย่างพอเพียง คนที่อยู่กับความสมถะ คนเหล่านั้นกลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้งไม่มากนัก และเราก็ได้ประจักษ์ชัดว่า แนวพระราชดำริเศรษฐกิจใหม่ และแนวคิดเรื่องความพอเพียง ที่พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นแนวคิดที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถมีชีวิตที่ผาสุกได้ในยามที่บ้านเมืองประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ก่อนจะเกิดต้มยำกุ้ง คนไทยจำนวนไม่น้อยระเริงมาก หลงเชื่อว่าไทยจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย หลายคนติดกับคำว่า NICs (Newly Industrialized Countries) หลายคนเพ้อคลั่งกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอัตราสูงกว่าร้อยละ 10 ติดต่อกันหลายปี (นานกว่า 10 ปี) แต่สุดท้ายเมื่อฟองสบู่แตกกระจาย ความฝันที่เคยบรรเจิดได้ดับวูบกลายเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนและทำลายความสุขของสังคมไทยจนหมดสิ้น

ในยุคก่อนฟองสบู่แตก เราพบว่ามีความฝันเฟื่องเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น ฝันเฟื่องว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการเปิดเสรีทางการเงิน ทั้งๆ ที่มาตรฐานในการควบคุมด้านการเงินของไทยยังถือว่าอ่อนด้อยมาก ในยุคนั้นเงินบาทเป็นที่ต้องการมาก จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายต้องตรึงค่าเงินบาทไว้ที่ระดับ 25 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ในยุคนั้นธนาคารกลางของไทย (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ต้องทำงานหนัก เช่น เวลาค่าเงินบาทแข็ง ธนาคารกลางก็ต้องนำเงินบาทที่มีไปซื้อเงินดอลลาร์มาเก็บไว้ ครั้นเมื่อค่าเงินบาทอ่อน ก็ต้องนำเงินดอลลาร์ไปซื้อเงินบาทมาเก็บไว้ เพื่อรักษาระดับราคาค่าเงินบาทให้ไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นคือ การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เปิดให้บริการวิเทศธนกิจ (BIBF) เมื่อปี 2536 คือการอนุญาตให้ธนาคารกู้เงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ในประเทศได้โดยเสรี เราจะพบว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยในช่วงนั้นสูงถึง 14-17 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในขณะที่จ่ายดอกเบี้ยเงินนำเข้าในอัตรา 4-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น ดังนั้นจึงมีพวกจับเสือมือเปล่าเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะเห็นว่าได้กำไรดีจากการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำๆ แล้วมาปล่อยกู้โดยได้ดอกเบี้ยในอัตราสูงๆ เราจะพบว่าในยุคนั้นมีการปล่อยกู้ง่ายดายมาก ไม่มีการตรวจสอบหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้โดยเข้มงวด มีการปล่อยกู้โดยไม่คำนึงถึงหลักทรัพย์ค้ำประกัน กู้ง่าย กู้คล่องมาก แล้วเงินที่ได้มาโดยง่ายๆ ก็ไปอยู่ในการทำโครงการอสังหาริมทรัพย์สารพัดชนิด รวมถึงในตลาดหุ้นด้วย 

เศรษฐกิจไทยในยุคนั้นคือฟองสบู่ดีๆ นี่เอง ทุกอย่างฟองโตแต่ไม่มีแก่นสารสาระ ราคาที่ดิน ราคาบ้าน ราคาคอนโดมิเนียมแพงเกินจริงหลายสิบเท่า บางเแห่งอาจเกิน 100 เท่า เราจะพบว่ามีการปั่นราคาที่ดิน ราคาคอนโดฯ ราคาอสังหาริมทรัพย์อย่างบ้าคลั่งธุรกิจด้านการเงินมีความคึกคักมากจนผิดปกติ คนทำงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถูกเรียกว่ามนุษย์ทองคำ เงินเฟ้อมาก ราคาข้าวของแพงผิดปกติ มีการปั่นกำไรจากการขายใบจองคอนโดฯ จองบ้าน จองรถยนต์กันเป็นทิวแถว

และยังพบด้วยว่าในตลาดหุ้นไทยนั้นมีการซื้อขายกันอย่างบ้าคลั่ง บางคนไม่มีเงินสด ก็ใช้การเล่นหุ้นด้วยการกู้เงินไปเล่นหุ้น ในยุคนั้นหลายคนไม่รู้จักคำว่าหุ้นตก แต่คิดว่าหุ้นจะขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวันตก 

ทีนี้เมื่อเงินได้มาง่ายมาก ก็สุรุ่ยสุร่าย ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมหนักมาก มีการซื้อสินค้าหรูๆ แพงๆ กันอย่างบ้าคลั่ง รูดบัตรเครดิตกันโครมๆ สังคมไทยเต็มไปด้วยสินค้าหรูหรา

ดังที่เราเคยได้ยินโฆษณาบัตรเครติดยี่ห้อหนึ่งที่มีคำพูดติดปากว่า“ทั้งร้าน เท่าไร” แล้วก็ชูบัตรเครดิตขึ้นมาเพื่อแสดงศักดา 

ในยุคนั้น เราเห็นภาพลวงตาว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีฐานะร่ำรวยแบบข้ามคืน แต่เป็นความร่ำรวยที่หลอกลวง บางคนรวยเพราะก่อหนี้ก่อสินไว้มากมายมหาศาล เรียกว่ารวยเพราะกู้ประเทศขาดดุลการค้ามหาศาล เพราะนำเข้าสินค้ามากมาย แต่ส่งออกได้ไม่มากนัก แถมหนี้สินที่ก่อไว้ก็เป็นหนี้สินระยะสั้นที่รอวันถูกเรียกเก็บเงินกู้คืน โดยต้องคืนเป็นเงินดอลลาร์ จนกระทั่งเกิดปัญหาเงินตึงตัว ใช้หนี้ไม่ทัน และที่สำคัญคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีปัญหาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โครงการก่อสร้างต่างๆ ที่โหมสร้างกันอย่างบ้าคลั่ง แต่ขายไม่ออก ขายไม่หมด

เจ้าหนี้ที่ให้กู้เงินเริ่มไม่แน่ใจว่าไทยในขณะนั้นจะมีปัญญาชดใช้หนี้สินมหาศาลได้หรือไม่ ความเชื่อมั่นในประเทศไทยลดลงเป็นลำดับ นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยออกจากไทย หลายคนขายเงินบาททิ้ง เพราะไม่มั่นใจในเสถียรภาพค่าของเงินบาท

สุดท้ายค่าเงินบาทที่เคยอยู่ที่ระดับ 25 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐกลายเป็น 50 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นนรกจึงแตกโดยพลัน ธนาคารกลางของไทยพยายามอุ้มค่าเงินบาทต่อไป ด้วยการใช้เงินสำรองจำนวน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าไปอุ้ม แต่สุดท้ายไม่มีปัญญาอุ้มได้อีกต่อไป เพราะเงินหมดคลัง จนสุดท้ายนรกแตกจริงๆ ต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวแบบไม่มีทางควบคุมต่อไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 

และแล้วหนี้สินจำนวนมหาศาลก็บังเกิดขึ้นกับแผ่นดินไทย ธุรกิจพังพินาศ ล้มระเนระนาด หุ้นไทยดิ่งนรก โครงการก่อสร้างต่างๆ กลายเป็นขยะเต็มแผ่นดิน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่งเจ๊งระนาว ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจ ผู้คนตกงานมากมายมหาศาล หลายคนยังมีงานทำก็จริง แต่ถูกลดเงินเดือนจนเหลือเพียง 30-50 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยได้รับมาก่อนฟองสบู่แตก

สุดท้ายไทยก็ต้องเป็นลูกหนี้ IMF (International Monetary Fund) วงเงินกว่า 510,000 ล้านบาท แล้วยังต้องไปกู้เงินจาก FIDF อีกกว่า 1.14 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปพยุงสถานะสถาบันการเงินไม่ให้ล้มพังพินาศ 

นั่นคือภาพรวมๆ ของนรกที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในยุคฟองสบู่แตกที่หลายคนยังจำภาพความเลวร้ายได้ดี แต่ก็ไม่มีใครรับผิดชอบกับความบรรลัยที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว กับการไม่สามารถหาตัวผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับประเทศได้ 

หลังนรกฟองสบู่แตกแล้ว ประเทศไทยระมัดระวังตัวมากขึ้น ทำอะไรก็รอบคอบมากขึ้นพอประมาณการดำเนินนโยบายด้านการเงินการคลังก็ระมัดระวังตัวดีขึ้นกว่าเดิม แม้นักการเมืองที่เข้าไปดูเรื่องนโยบายการคลังจะยังไม่มีประสิทธิภาพดีมากจนได้มาตรฐานสากลก็ตามที่ แต่หน่วยราชการไทย และคนในสังคมไทยก็ระมัดระวังตัวมากกว่าเดิมหลายเท่า

ธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ สำเหนียกตัวเองมากขึ้น ระมัดระวังการปล่อยกู้มากกว่าเดิม แต่ก็ต้องบอกว่าจากวันนี้นั้น เมื่อ 25 ปีก่อน ประเทศไทยยังไม่ได้ชำระเงินที่ไปกู้มาเพื่อแก้ปัญหาต้มยำกุ้งให้หมดสิ้นไปนะครับ แม้นักกาเมืองบางรายพยายามโกหกว่าชำระเงินกู้ไปหมดสิ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องบอกว่ามันคือคำโกหกของนักการเมืองทรราช ขอย้ำว่าประเทศไทยยังมีหนี้สินอีกหลายแสนล้านที่ยังรอวันชำระซึ่งเป็นภาระที่คนไทยทุกคนต้องรับต่อไปเรื่อยๆ 

วิกฤตต้มยำกุ้งตอกย้ำให้เห็นชัดๆ ว่า การที่คนไทย และรัฐบาลไทย และทุกภาคส่วนของไทยไม่ได้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้มั่นคงแล้ว ก็ยังคงเสี่ยงตลอดเวลาที่ระบบเศรษฐกิจของไทยจะประสบปัญหาวิกฤตในรูปแบบต่างๆ แม้วันนี้ธนาคารและสถาบันการเงินของไทยจำนวนไม่น้อยจะมีประสบการณ์มากขึ้น เพราะได้เรียนรู้บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 25 ปีก่อน แต่ก็ดูเสมือนว่ารัฐบาลไทย และคนไทยอีกจำนวนมากยังไม่สำเหนียกถึงความเลวร้ายจากวิกฤตต้มยำกุ้งมากนัก 

รัฐบาลตอบสาธารณชนได้หรือไม่ว่า หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจชนิดใหม่ขึ้นมาอีก รัฐบาลมีปัญญาเอาชนะวิกฤตได้หรือไม่ 


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน