สัญญาณ‘บาทอ่อน’จูงใจต่างชาติในไทย สวอปบาทรีบโอนคอนโด ผู้ว่าฯททท.คาด‘ท่องเที่ยว’ได้รับอานิสงส์

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการที่ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า ส่งผลให้”เงินบาทไทย” “อ่อนค่า”แตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ซึ่งมิติของเงินบาทที่อ่อนค่าลง ย่อมเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก (ถ้าคู่ค้าไม่ขอลดราคาลง) อำนาจการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ(ในรูปเงินบาท) เพิ่มสูงขึ้นนั้น

เงินไทยอ่อน จูงใจต่างชาติโอนอสังหาเร็วขึ้น

สิงคโปร์ ติดท็อป สนใจคอนโด

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด ที่ปรึกษาการลงทุนและบริหารโครงการ กล่าวถึงค่าเงินบาทอ่อนค่ากับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยว่า หากพิจารณาในแง่ของชาวต่างชาติแล้ว ก็น่าจะดีอยู่ แต่ต้องดูเหตุผลอย่างอื่น เช่น การเดินทางเข้าประเทศไทยยังสะดวกหรือไม่ จะยากหรือไม่ รวมถึงต้องติดตามทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะมีการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ จะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก ซึ่งเงินบาทเคยอ่อนค่าไปแตะระดับ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม์)

“เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่ถามผมว่า อสังหาในไทยจะถูกลง จากค่าเงินอ่อนลงนั้น ใช่ แต่คงไม่เยอะ ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่อยู่ในภาวะชะลอตัว แต่หากมองในมุมที่ชาวต่างชาติอยู่ในประเทศไทยแล้ว ก็อาจจะรีบโอน เทเลย ซื้อเลย หรือจ่ายเงินมากขึ้น เพราะอสังหาบ้านเราถูกลง”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยนั้น พบว่า จีนยังสนใจอสังหาไทยอยู่ ติดหนึ่งในสามในแง่ของการลงทุน แต่หากมองในเรื่องเปลี่ยนสัญชาติแล้ว จีนอยู่อันดับที่ 10 แต่เป็นที่น่าสังเกต ชาวสิงคโปร์มาซื้ออสังหาไทยเยอะมาก เดินทางมาเที่ยวมากขึ้น อาจจะเป็นเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 และราคาอสังหาในสิงคโปร์ที่สูง

นายสุรเชษฐ กองชีพ

ห่วง ‘เงินเฟ้อ’ ลากยาวไปอีก 2 ปี

จับตาศก.ยุโรปทรุด กระทบชิ่งท่องเที่ยวไทยด้วย

นายสุรเชษฐ กล่าวถึงภาพรวมการท่องเที่ยวว่า แนวโน้มเงินบาทที่อ่อนลง จะดีกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่โอกาสจะเกิดวิกฤตนั้น คงไม่ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีบทเรียนและเตรียมพร้อมรับมือมาตลอด ตัวเลขหนี้จากต่างประเทศน้อย ทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง มีการซื้อทองคำเข้ามาสำรองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากเห็นสัญญาณที่จะเกิดขึ้นกับค่าเงิน

“เรื่องที่น่าห่วงสำหรับประเทศไทย คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เป็นผลจากราคาเชื้อเพลิง และหากบาทอ่อน การนำเข้าที่เยอะ ก็จะเดือดร้อน ตัวเลขล่าสุดมิ.ย.สูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง ปีนี้(65)เงินเฟ้อ คงไม่ทุเลา อาจจะลากยาวไปถึง 2 ปี ซึ่งเราต้องดูว่าประเทศรัสเซีย จะดำเนินการตัดการส่งก๊าซเข้าประเทศยุโรปเพิ่มอีกหรือไม่ ตรงนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่จะกระทบถึงเศรษฐกิจในยุโรป และถ้าตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศยุโรปสูงขึ้น ก็จะกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากยุโรปติดอันดับที่6-7 เดินทางเข้ามาประเทศไทยมาก”

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ นักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการที่รัฐบาล และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว และสายการบินต่างๆ ได้ไปเปิดตลาดและกระตุ้นชาวอินเดียมาเที่ยวไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศจีนยังไม่ผ่อนคลายเรื่องมาตรการโควิด-19 ทั้งนี้ ตามข้อมูลพบว่า มีชาวจีนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยประมาณ 800,000 คน เยอะสุดเทียบกับทั้งโลก และมีชาวอินเดียอยู่ในไทยประมาณ 200,000 คน เป็นต้น

อนึ่ง Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ได้มอง”อัตราเงินเฟ้อ”ทั้งปี 2565 จะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 6.1% จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง”ยูเครนและรัสเซีย” ที่ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ที่จะทำให้ราคาพลังงานในภาพรวมจะยืนสูงตลอดทั้งปี อีกทั้ง ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่า การส่งผ่าน “ต้นทุน” ผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากดัชนีราคาผู้ผลิตที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร

บาทอ่อนส่งผลดี’นทท.’เข้าไทย

สวอปเงินมากขึ้น ใช้จ่ายเพิ่ม



นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวว่า จริงๆแล้ว แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนตัวนั้น ก็น่าจะดีต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากสมัยก่อน 1 ดอลลาร์ แลกเป็นเงินบาทไทยได้30บาท แต่ตอนนี้ มาประเทศไทยก็สามารถแลกเงินบาทได้ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ แสดงว่า นักท่องเที่ยวแลกเงินบาทได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีใน “ระยะสั้น”

แต่จริงๆแล้ว ต้องเรียนว่า ทางททท.หาความสัมผัสว่า “ค่าเงินบาท”ที่เปลี่ยนแปลงไป กับ “ความต้องการ” เดินทางมาประเทศไทย จะเกิดความสัมพันธ์มากน้อยเพียงใดนั้น ปรากฎว่า “ไม่มีนัยสำคัญ” เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะมีการวางแผนการเดินทาง และเตรียมงบประมาณในการท่องเที่ยวไว้อยู่แล้ว เช่น ตั้งงบไว้ที่ 1,000 เหรียญ ก็จะอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ แต่การที่เดินทางเข้าท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว เงินที่แลกได้อาจจะมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น หรือจะพำนักอยู่ในประเทศไทยยาวขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีประเทศไทย

“ในกรณีระยะยาว หากเงินบาทอ่อนตัวลงไปมากขึ้น ก็อาจจะมีส่วนทำให้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น การซื้อตั๋วเครื่องบิน ถ้าเงินอ่อนค่าลง จะส่งผลต่อเนื่อง เช่น ราคาน้ำมันหรือไม่ ก็ต้องมาดูอีกที”ผู้ว่าฯททท.กล่าวถึงผลดีและผลกระทบที่จะตามมาจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง”



ปี 65 โอนฯห้องชุดต่างชาติ รอการฟื้นตัว

ก่อนหน้านี้ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564

ทั้งนี้ หากมาลงลึกถึงภาพรวมสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ ทั่วประเทศ ในไตรมาส 1 ปี 65 มีจำนวน 2,107 หน่วย ลดลงร้อยละ -10.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่มีจำนวนหน่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปี ในช่วง COVID-19 (ปี 2563 – 2564) ที่มีจำนวน 2,061 หน่วย/ไตรมาสมูลค่า การโอนห้องชุดรวมทุกประเทศ 10,262 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.1 (YoY) มูลค่าการโอนในไตรมาสนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปี ในช่วง COVID-19 ที่มีมูลค่า 9,683 ล้านบาท/ไตรมาส

 

ทั้งนี้ การโอนฯห้องชุดให้ชาวต่างชาติในไตรมาส 1 จำนวน 2,107 หน่วย ในจำนวนนี้เป็นประเภทห้องชุดใหม่ ร้อยละ 65.1 ลดลง (YoY) ซึ่งมีสัดส่วนของห้องชุดใหม่ร้อยละ 80.3 ในขณะที่ห้องชุดมือสองมีสัดส่วนร้อยละ 34.9 เพิ่มขึ้่นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 19.7



สกุลเงินหลายประเทศผันผวนหนัก

ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้ (6 ก.ค. 65) เคลื่อนไหวในกรอบ 35.90-36.10บาท/ดอลลาร์ เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560 หลังดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดวันเดียวที่ +1.6% และค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมากสุด 1.75% และอ่อนค่าสูงสุดเทียบดอลลาร์ในรอบ 20 ปี ในขณะที่ตลาดกังวลเรื่องภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ หลังราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่ง และรายงานตัวเลขขาดดุลการค้าของเยอรมัน หลังมองว่าจะเกินดุล สกุลเงินอื่นมีการปรับอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์เช่นเดียวกัน โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 24 ปี เมื่อวานนี้ธนาคารกลางออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ตามคาด.


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน