“แอชตัน อโศก” ย้อนคดีมหากาพย์ ก่อนศาลปกครองนัดพิจารณานัดแรก 20 ก.ย.นี้

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ย้อนรอยคดีมหากาพย์ก่อนศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีนัดแรกพรุ่งนี้ (20 กันยายน 2565) 

โครงการแอชตัน อโศก เป็นคอนโดมิเนียมหรู สูง 50 ชั้น ภายใต้การร่วมทุนระหว่าง บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ของกลุ่มบริษัท อนันดา ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ในเครือมิตซุย ฟูโดซัง อสังหาริมทรัพย์สัญชาติญี่ปุ่น มูลค่าลงทุนกว่า 6,300 ล้านบาท

ย้อนกลับไปในวันที่ 23 มกราคม 2557 อนันดาฯ ได้ซื้อที่ดิน 3 แปลง จำนวน 2 ไร่ 3 ไร่ และ 47.6 ไร่ รวมพื้นที่ในอาคาร 55,206.14 ตารางเมตร มีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษตามกฎหมายควบคุมอาคาร ตั้งอยู่ในบริเวณถนนซอยสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร แต่ที่ดินนั้นเป็นที่ดินตาบอด ไม่มีทางเข้าและทางออก 

เนื่องจาก ในอดีตการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ที่ดินโครงการแอชตัน อโศก เป็นที่ดินตาบอด

ทำให้ในวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับ รฟม. เพื่อขอใช้ประโยชน์ที่ดิน รฟม. เป็นทางเข้าและทางออกโครงการแอชตัน อโศก โดยขยายความกว้างถนนจาก 6 เมตร เป็น 12 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายผังเมืองที่มีการบัญญัติในภายหลังกำหนดให้การสร้างตึกสูง ต้องมีทางกว้างถนนไม่ต่ำกว่า 12 เมตร 

โดยแลกเปลี่ยนกับการที่อนันดาฯ ต้องสร้างอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานให้กับ รฟม. มูลค่ารวมกว่า 100 ล้านบาท

4 กรกฎาคม 2557 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านโครงการแอชตัน อโศก

เมื่อโครงการเป็นไปตามกฎหมายแล้ว วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 อนันดาฯ ยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกใบรับแจ้งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโครงการ จำนวน 15 คน ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 ฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) รฟม. และพวกอีก 5 คน อนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ขัดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิชุมชนและละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนบุคคลของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่โครงการดังกล่าว ด้วยการปล่อยให้มีการปิดกั้นหรือใช้ประโยชน์ถนนสาธารณะนอกขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนเสียหาย ในวันที่ 2 มิถุนายน 2559

ต่อมา 12 ตุลาคม 2560 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 ราย ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา

อย่างไรก็ตาม 30 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา

5 กุมภาพันธ์ 2561 อนันดาฯ สร้างโครงการแอชตัน อโศกเสร็จ และได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบการก่อสร้างอาคารชุดโครงการแอชตัน อโศก และขอออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร หรือแบบ อ.6

ต่อมา 28 กุมภาพันธ์ 2561 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งปฏิเสธที่จะออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.6) ให้กับโครงการแอชตัน อโศก ทำให้ยังโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมให้แก่ลูกบ้านไม่ได้

อนันดาฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ไม่อนุญาตให้แบบรับรองการก่อสร้างอาคาร ทำให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบรับรองการสร้างอาคารในวันที่ 11 มิถุนายน 2561

วันที่ 15 มิถุนายน 2561 อนันดาฯ ได้จดทะเบียนอาคารชุดและจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด และเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ลูกบ้านโครงการแอชตันอโศกจนถึงปัจจุบันไปแล้วกว่า 688 ห้อง หรือคิดเป็น 85% 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาคดีแอชตัน อโศก ว่า การที่กรมโยธาฯ กทม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้เพิกถอนใบอนุฐาต โดยให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาต

นำไปสู่หน่วยงานรัฐ ตั้งแต่ กทม. และ รฟม. ยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยอนันดาฯ ขอเป็นผู้ร้องสอดในคดี เพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่

วันที่ 20 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดจะนัดพิจารณาคดีแอชตัน อโศก นัดแรก เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 12 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

แม้คดีสั่งรื้อถอนโครงการอสังหาริมทรัพย์คดีดังกล่าวไม่ใช่กรณีแรก แต่หากโฟกัสรายละเอียดจะพบว่าโครงการที่ถูกเพิกถอนการอนุญาตก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มโรงแรม ดังนั้น คดีแอชตัน อโศก จึงถือเป็นคดีแรกที่สั่งเพิกถอนคอนโดมิเนียมมูลค่าสูงกว่า 6,300 ล้านบาท และกระทบต่อประชาชนที่มีการซื้อห้องชุดไปแล้วกว่า 668 ครอบครัว 

สิ่งที่น่าจับตา คือ คดีดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง โครงการอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ที่มีการเข้าเค้ากรณีเดียวกับแอชตัน อโศก อาจต้องเตรียมใจรับผลกระทบ หากยึดโยงการตัดสินในรอบนี้เป็นที่ตั้ง

อย่างไรก็ดี หากมองข้ามช็อตการตัดสินไปสู่การเยียวยา ในกรณีทุบคอนโดทิ้ง ศาลปกครองกลางจะตัดสินได้เพียงในแง่เรื่องพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐว่าผิดหรือไม่ แต่ในแง่การรับผิดชอบต่อประชาชนที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดไปแล้ว จะต้องต่อสู้กันยาว ๆ อีกระลอกแน่นอน


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน