แห่จัดพอร์ตที่ดินหนีภาษีแพง
น.ส.อลิวัสสา พัฒนถาบุตร ประธานบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้เจ้าของที่ดินเป็นแลนด์ลอร์ดและผู้ที่ได้รับมรดก นำที่ดินมาจัดพอร์ตใหม่ว่าแปลงไหนจะเก็บไว้พัฒนาและแปลงไหนจะนำมาขายเพื่อลดภาระภาษีที่ดิน ซึ่งก่อนมีโควิด-19 ระบาด จะเห็นแลนด์ลอร์ดนำที่ดินในเมืองออกมาประกาศขายมากพอสมควร และเริ่มซบเซาในช่วงมีโควิดระบาด เนื่องจากรัฐบาลออกมาตรการลดหย่อนให้ 90% จึงยังมีภาระเพิ่มขึ้นไม่มาก
“ปัจจุบันราคาที่ดินไม่ได้แพงขึ้นมาก แต่ปรับขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 5% มีซื้อขายสูงสุดมีแค่ 1-2 แปลง เช่น ย่านถนนสารสินที่แสนสิริซื้อตารางวาละ 3.9 ล้านบาท ขณะที่การซื้อขายไม่ค่อยคักคักเหมือนในช่วงตลาดคอนโนมิเนียมบูม เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จึงทำให้การพัฒนาโครงการใหม่ในตลาดยังไม่ไม่มาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม”น.ส.อลิวัสสากล่าว
โซนในเมืองขาย-ปล่อยเช่าคึก
น.ส.อลิวัสสา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีแลนด์ลอร์ดและเจ้าของมรดกมีที่ดินแปลงใหญ่ ได้นำที่ดินมาให้บริษัทจัดพอร์ตและแนะแนวทางการบริการจัดการให้ เพื่อลดภาระภาษีที่ดินหลังรัฐบาลไม่มีมาตรการลดหย่อนแล้ว อย่างเช่น ที่ดินโซนในเมืองเช่น ย่านลุมพินี สาทร เพลินจิต วิทยุ สุขุมวิท รัชาดาภิเษก พระราม 9 นำออกมาปล่อยเช่ากันมากขึ้น จากเดิมไม่มีต้นทุนด้านภาษี เจ้าของที่ดินจะปล่อยทิ้งร้างไว้เฉยๆ โดยระยะสั้นจะพัฒนาเป็นที่จอดรถหรือให้เช่าขายของ ระยะเวลาการเช่า 3+3+3 ปี หากเป็นการลงทุนก่อสร้างอาคารจะเป็นการเช่าระยะยาว 15-20 ปี หรือ 30 ปี หากเป็นการก่อสร้างอาคารสูง
“เห็นสัญญาณแบบนี้มา 2-3 ปีแล้ว ตั้งแต่รู้ว่าจะมีภาษีที่ดินบังคับใช้ เป็นการเตรียมการบริหารจัดการ ส่วนความเคลื่อนไหวในปัจจุบันก็ยังมีการนำที่ดินออกมาขาย แต่ไม่ใช่เพราะภาษีที่ดินอย่างเดียว คงเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจด้วย ซึ่งก็ขายได้บ้างไม่บ้างขึ้นอยู่กับทำเลและราคา หากแพงมากก็ขายลำบาก อีกทั้งผู้ประกอบการหากซื้อที่ดินพัฒนาโครงการใหม่ซื้อมาแล้วก็จะพัฒนาในทันที จะไม่ถือไว้นานเพราะต้นทุนภาษีสูง”น.ส.อลิวัสสากล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่