‘เครือข่ายแผงลอย’ทวงสัญญา‘ชัชชาติ-บิ๊กตู่’ จี้จุดไหนพร้อมเร่งไฟเขียวขายได้-รื้อระเบียบที่มีปัญหา

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

วันพุธ ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2566, 15.33 น.

วันที่ 4 มกราคม 2566 นายเรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ว่า เป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้วที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่นโยบายที่เคยหาเสียงไว้เกี่ยวกับการดูแลผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ยังไม่มีความคืบหน้า เช่น กรณีจุดผ่อนผันที่ถูกยกเลิกไปกว่า 500 จุด ช่วงรัฐบาลทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนเหลือเพียง 176 จุด ในยุคที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. จนถึงปัจจุบันที่ นายชัชชาติ ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อจาก พล.ต.อ.อัศวิน ก็ยังไม่มีการอนุมัติพื้นที่เพิ่ม

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่ยังได้รับอนุญาตให้ทำการค้า ปัจจุบันเท่าที่ทราบคือผู้ค้าหลายรายยังไม่ได้รับบัตรประจำตัวของผู้ค้าทั้งที่ กทม. เปิดให้ลงทะเบียนไปแล้ว จึงอยากเรียกร้องไปยังผู้ว่าฯ ชัชชาติ และคณะผู้บริหาร กทม. ว่า ควรเร่งรัดพิจารณาเปิดจุดผ่อนผันเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีความพร้อมสามารถตั้งแผงค้าได้แบบจัดระเบียบไม่ให้กีดขวางคนเดินเท้า นอกจากนั้น ในจุดที่อนุญาตอยู่แล้วควรจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้วย 

เช่น จุดผ่อนผันย่านอ่อนนุช 70 ผู้ค้าลงทุนติดตั้งระบบถังดักไขมัน แต่ยังต้องซื้อน้ำประปาและไฟฟ้าจากภายนอก เรื่องนี้ตนเคยสอบถามไปยังการประปาและการไฟฟ้า ได้รับคำตอบว่าหากทางสำนักงานเขตประสานมาก็สามารถไปติดตั้งระบบน้ำประปา-ไฟฟ้า ได้ทันที จึงอยากให้ทาง กทม. เร่งรัดไปยังทางเขตด้วย ทั้งนี้ จุดดังกล่าวผู้ค้ามีการรวมกลุ่มและมีความพร้อมจ่ายค่าน้ำประปา-ไฟฟ้า ขอเพียงมีการมาติดตั้งเท่านั้น

นายเรวัตร กล่าวต่อไปว่า ยังมีเรื่องของระเบียบ 16 ข้อ ที่ออกโดย กทม. มาตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน ซึ่งทางเครือข่ายผู้ค้าเรียกร้องให้แก้ไขเพราะไม่สามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ แต่จนถึงปัจจุบันในสมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็ยังไม่มีการขยับในเรื่องนี้ ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ค้าและเจ้าหน้าที่ เช่น เคยมีกรณีผู้ค้าย่านเจริญกรุง ตั้งแผงค้ามานานหลายสิบปี วันหนึ่งที่ดินบริเวณนั้นมีการก่อสร้างคอนโดมิเนียม และทางคอนโดฯ ได้ร้องเรียนว่าทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงาม 

ซึ่งแม้เทศกิจที่ดูแลพื้นที่จะเห็นว่าผู้ค้าตั้งแผงเป็นระเบียบไม่กีดขวางทางเดิน แต่ก็ต้องรื้อย้ายแม้จะเห็นใจก็ตาม เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ทำก็จะมีความผิด ทั้งนี้มีหลายจุดใน กทม. ที่มีความพร้อมในการเปิดให้ค้าขายได้ แต่ยังติดข้อจำกัดที่กฎระเบียบดังกล่าว ส่วนประเด็นการจัดหาพื้นที่อื่นทดแทนทางเท้า ที่มีแนวคิดมาจากฮอว์คเกอร์ เซ็นเตอร์(Hawker Center) ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งย้ายผู้ค้าเข้าไปในอาคาร ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถนำมาใช้กับบริบทของประเทศไทยได้ เรื่องนี้พูดกันมาตั้งแต่รัฐบาล คสช. แต่จนปัจจุบันก็ยังทำไม่สำเร็จ

“อย่างพื้นที่สุขุมวิท คุณจะเอาพื้นที่ตรงไหนเข้าไป เขาก็หาไม่ได้เหมือนกันเพราะค่าเช่ามันแพง พื้นที่มันแพงเพราะเป็นของเอกชนที่ไม่สามารถคุมได้เลย เอกชนเขาขึ้นค่าเช่าตามที่เขาต้องได้ แล้วผลกระทบจากโควิดมันทำให้คนต้องหนีตายกันหมดเลย คนอยู่ไม่ได้ไง ค่าเช่ามันแพง อย่างหลายๆ พื้นที่ ถ้าเราออกไปในบางพื้นที่มันอาจจะมีอยู่แล้วที่เหมือนคล้ายๆ กับฮอว์คเกอร์ คือเขาทำตลาดอยู่แล้ว มันก็จะมีบางพื้นที่อยู่ แต่ถ้าที่เขาขายอยู่ด้านนอกที่มันล้นอยู่แต่เดิมจะให้เขาไปอยู่ตรงไหน พื้นที่มันไม่พอ” นายเรวัตร กล่าว

นายเรวัตร ยังกล่าวอีกว่า พื้นที่ค้าขายใน กทม. และในแต่ละเขตมีบริบทไม่เหมือนกัน จึงอยากให้ผู้บริหาร กทม. ลงมาดูพื้นที่จริง อย่าดูแต่เรื่องร้องเรียนบนแอปพลิเคชั่นทราฟฟี ฟองดู (Traffy Fondue) เพราะคนร้องเรียนก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบหาบเร่แผงลอย นอกจากนั้น ยังอยากฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยว่า ผ่านมาจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีแล้ว อีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และมีรัฐบาลชุดใหม่ แต่นโยบายเรื่องหาบเร่แผงลอยที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา รัฐบาลกลางเองก็ยังไม่ได้ผลักดัน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก www.chadchart.com เว็บไซต์ทางการของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ณ วันที่ 4 ม.ค. 2566 กล่าวถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหาบเร่แผงลอยจำนวน 11 นโยบาย ได้แก่ 1.ดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ 2.ส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ 3.สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ ช่วยดูแลพื้นที่การค้า 4.ทำฐานข้อมูลผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ 5.เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย 

6.หาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร (Hawker Center) 7.ทางเท้าเดิมโล่ง สะอาด เป็นระเบียบ 8.ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเขต 9.ใบอนุญาตตามประเภทกิจกรรม Function-based License 10.ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน สนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน และ 11.พัฒนาโอกาสและศักยภาพในตลาด กทม.

ขณะที่คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ในส่วนของนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ ในข้อที่ 1 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิตของประชาชน โดยลดข้อจํากัดในการประกอบอาชีพของคนไทย การจัดการระบบการขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทบทวนรูปแบบและมาตรฐานหาบเร่แผงลอยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อยังคงเอกลักษณ์ของเมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมถนน ทําให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม 

แก้ไขปัญหาหนี้สินและลดภาระหนี้สินของประชาชนในกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้สินนอกระบบ การฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนโดยครอบคลุมไปถึงการฉ้อโกงหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์ ปรับปรุงระบบภาษีและการให้สินเชื่อที่เอื้อให้ประชาชนสามารถมีท่ีอยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ตามความพร้อม ปรับปรุงระบบที่ดินทํากินให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ จัดทําแนวทางการกําหนดสิทธิและการจัดการสิทธิในที่ดินของเกษตรกรที่เหมาะสม ลดอุปสรรคในธุรกิจประมงพาณิชย์และประมงชายฝั่ง รวมทั้งช่วยเหลือดูแลประมงพื้นบ้านโดยยังต้องสอดคล้องกับมาตรฐานด้านการประมงขององค์กรระหว่างประเทศ


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน