คอลัมน์การเมือง – สัญญาณดีเศรษฐกิจไทย 2566 ปีแห่งโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่อง

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

สัญญาณดีเศรษฐกิจ ปี 2566 อะไรคือตัวสะท้อน?

อย่าเชื่อลมปากนักการเมือง

แต่จงพิจารณาจากข้อมูลความจริงในทางเศรษฐกิจจริง ยกตัวอย่าง

1. กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 25 มกราคม 2566

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัวในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

กนง. เห็นว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ”

นอกจากนี้ ในส่วนของระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น

กนง. เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปรับแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอัตราที่ชะลอลง และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของจีนที่จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย

กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

2. ธุรกิจอสังหา 6 แบรนด์ดัง ลงทุนรอบใหม่ทะลุ 1.26 แสนล้านบาท

ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า “ศุภาลัย-แลนด์ฯ-โนเบิล-เฟรเซอร์สฯโฮม-ลลิล-MBK” เปิดเผยแผนพัฒนาโครงการคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลต่างจังหวัดหัวเมืองหลัก-เมืองท่องเที่ยว รับนโยบายเปิดประเทศ เทรนด์บ้านหรู 10-30 ล้านมาแรง ลูกค้ากระเป๋าหนักนิยมซื้อเงินสดเกินครึ่ง

ระบุว่า ปี 2566 สัญญาณบวกในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากสงครามข้ามปีและสถานการณ์โควิด ทำให้เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวกลับมาลงทุนรอบใหม่อย่างคึกคัก จากการสำรวจบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพียง 6 รายที่ประกาศแผนลงทุนรอบใหม่ระหว่างวันที่ 12-24 มกราคม 2566 พบว่ามีมูลค่าลงทุนรวมกันทะลุ 1 แสนล้านบาท ปลุกความเชื่อมั่นทั้งในด้านผู้ประกอบการและผู้บริโภค

รายละเอียด 6 บริษัท ประกอบด้วย

กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ลงทุนใหม่ 34,960 ล้านบาท

ศุภาลัย วางแผนพัฒนาโครงการบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียม 41,000 ล้านบาท

โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ลงทุนใหม่ 23,300 ล้านบาท

เฟรเซอร์สฯ โฮม จำนวน 17,500 ล้านบาท

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศลงทุนใหม่ในกรอบ 8,000 ล้านบาท

และเอ็มบีเคกรุ๊ป ที่มีกระแสเงินสด 4,000 ล้านบาท แบ่งมาลงทุนในปีนี้ 2,000 ล้านบาท

รวมทั้งสิ้น 126,760 ล้านบาท

3. อุตสาหกรรมยานยนต์ เติบโตต่อเนื่อง

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า

ปี 2565 มียอดการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 1,883,515 คัน

เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 11.73%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ธ.ค. 2565 อยู่ที่ 111,605 คัน สูงสุดในรอบ 3 ปี 9 เดือน

ยอดการส่งออกรถยนต์รวมในปี 2565 จำนวน 1,000,256 คันทะลุเป้า 1 ล้านคันที่ตั้งไว้ตอนต้นปี 2565

มูลค่าการส่งออก 619,348.06 ล้านบาท

โดยการผลิตส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มรถยนต์นั่ง ในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

และในปี 2566 ก็คาดการณ์ว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง ในปี 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสม จำนวน 20,815 คัน

เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 274.64%

4. ภาพรวมการส่งออก ขยายตัวต่อเนื่อง

กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน แถลงสรุปตัวเลขส่งออกปี 2565

ระบุว่า การส่งออกทั้งปี 2565 บวก 5.5% เกินเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4%

สร้างเงินให้ประเทศเกือบ 10 ล้านล้านบาท คือ 9,944,317 ล้านบาท

ตลาดส่งออกที่ขยายตัว 10 รายการสําคัญ ในปี 2565 ได้แก่ 1.ตะวันออกกลาง(+22.8%) 2.สหราชอาณาจักร(+15.6%) 3.แคนาดา(+14.2%) 4.สหรัฐฯ(+13.4%) 5.CLMV(+11.5%) 6.เอเชียใต้ (+11.5%) 7.อาเซียน(5) (+9.5%) 8.ลาตินอเมริกา(+5.9%) 9.สหภาพยุโรป(+5.2%) และ10.ทวีปออสเตรเลีย(+1.7%)

สำหรับการค้าชายแดนและผ่านแดน ทั้งปี’65 การค้าชายแดนผ่านการส่งออก +13.7% สร้างเงินให้ประเทศ 648,030 ล้านบาท

ประการสำคัญ เป้าการส่งออกปี 2566 ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน มีความเห็นสอดคล้องกันว่า สำหรับปี 2566 ตั้งเป้าไว้เป็นบวก 1-2% (น้อยกว่าปี 2565 ที่ตั้งไว้ 4%) เพราะมีปัจจัยที่เป็นแรงเสียดทานทางลบหลายปัจจัย เช่น 1. ปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐฯคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะบวก 0.5-1% สหภาพยุโรปที่เป็นตลาดใหญ่ของเราหลายสถาบันประเมินบวก 0-0.5% ญี่ปุ่นประเมินว่าจีดีพีเฉลี่ยจะ +1.6% เป็นต้น ย่อมกระทบการส่งออกของเรา 2. คาดการณ์ว่าไตรมาสแรกปี’66 อาจมีสต๊อกสินค้าที่นำเข้าจากหลายประเทศในโลกของประเทศตลาดหลักโลกคงอยู่อาจชะลอการสั่งซื้อหรือการนำเข้าได้ 3. ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงและไม่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าต้นทุนการผลิตสำคัญของภาคการผลิต 4. ค่าเงินบาทของเรามีแนวโน้มเริ่มแข็งขึ้นทำให้ศักยภาพการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดโลกยากขึ้น เพราะจะแพงกว่าคู่แข่ง

แต่ที่ยังประเมินว่ายังบวกอยู่ เพราะมีปัจจัยบวกหลายประการ เช่น1. ระบบการขนส่งสินค้าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 2. คาดว่าความต้องการด้านอาหารของโลกยังมีเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารเป็นผลดีกับการส่งออกอาหารของไทย 3. ตลาดศักยภาพบางตลาด ยังรองรับการส่งออกของไทยได้ เช่น 4 ตลาดหลักที่จะบุกเป็นพิเศษในปี’66 เช่น ตะวันออกกลาง อาจบวกถึง 20% และตลาดเอเชียใต้ที่จะสามารถทำบวกได้ 10% คือ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และตลาด CLMV ที่คาดว่าสามารถทำตัวเลขบวกได้ถึง 15% สุดท้ายตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่และมีแนวโน้มกำลังจะเปิดประเทศยังทำตัวเลขบวกได้

5. ข้อมูลเหล่านี้ คือ ตัวเลขจริง จากภาคเอกชนตัวจริงเสียงจริง

เป็นภาพสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้ปี 2566 เป็นปีแห่งโอกาสของประเทศที่จะได้ฟื้นเศรษฐกิจต่อเนื่องหลังเผชิญกับวิกฤตโลกรุมเร้า ทั้งโควิด ทั้งสงครามการค้า วิกฤตพลังงานโลก

ลองดูง่ายๆ กิจกรรม การค้า งานอีเว้นท์ต่างๆ คอนเสิร์ต การท่องเที่ยว คนเข้าพักโรงแรม คนเดินทาง ฯลฯ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ล้วนแต่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง

อย่าให้การเมืองภายในประเทศ มาเป็นตัวทำลายโอกาสที่ประเทศจะเดินต่อไปข้างหน้าก็แล้วกัน

สารส้ม


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน