ข่าวดังในหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ล่าสุด เป็นกรณี ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ต้องรื้อถอนคอนโดมิเนียมโครงการ แอชตัน อโศก ของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และสั่งให้เจ้าของโครงการ ผู้ว่าฯ กทม. ผอ.เขตวัฒนา และรฟม. ร่วมกันหารือแก้ไขให้ถูกต้อง ภายในเวลาที่กำหนด ทั้งที่กรณีคดีของโรงแรมดิเอทัส ในซอยร่วมฤดี ที่สร้างไม่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนหน้านั้น กลับมีคำสั่งให้รื้อถอน
คอนโดมิเนียมของโครงการแอชตัน บริเวณแยกอโศกสุขุมวิท เป็นอาคารสูงพิเศษ สูง 51 ชั้น มีห้องชุด 783 ยูนิตบนที่ดินขนาด 2 ไร่ 3 งาน อยู่แถบเดียวกับห้างเทอร์มินอล 21 ติดกับสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส อโศก และ เอ็มอาร์ที สุขุมวิทมูลค่า 6,481 ล้านบาท
ช่วงปี 2560 สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประชาชน 15 คนที่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างคอนโดฯนี้ ร่วมกันเป็นผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องผู้ว่าฯ กทม. ผอ.สำนักการโยธา และผอ.เขตวัฒนา เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ 450/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 2413/2565) เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง (โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกใบอนุญาต) และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้หน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้องคดีสั่งให้โครงการหยุดการก่อสร้างอาคารคอนโดฯนี้(ซึ่งต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว)
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ส่วนที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการ ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร (เพื่อให้รถดับเพลิงขนาดใหญ่เข้าได้) ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2540) ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 2 กำหนดให้อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30, 000 ตารางเมตร ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินนั้น กว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร (เพื่อให้รถดับเพลิงขนาดใหญ่เข้าได้) ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร) รวมถึงการที่โครงการทำสัญญากับ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) เพื่อใช้ที่ดินร่วมกัน โดยสร้างทางเข้า-ออกโครงการกว้าง 13 เมตรไม่ใช่การใช้ที่ดิน ตามวัตถุประสงค์การเวนคืน และไม่ใช่การใช้เพื่อกิจการรถไฟฟ้า ทำให้การออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน รฟม. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและ “ผิด” พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คำสั่งบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกใบอนุญาตก่อสร้างจึง “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” การ
ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองโครงการก่อสร้างดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2561 และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 กทม.ออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.6) วันที่ 15 มิถุนายน 256 เริ่มโอนกรรมสิทธิ์ขายโครงการ ถึงปัจจุบันสามารถขายโครงการแก่ลูกค้าได้ถึง 87% ของโครงการ (โดยขายไปแล้ว 666 ยูนิต มูลค่า 5,639 ล้านบาท หรือ 87% มีผู้พักอาศัย 578 ครอบครัว เป็นลูกค้าคนไทย 438 รายและต่างชาติ 140 ราย จาก 20 ประเทศ ยังมียูนิตเหลือขายอีก 117 ยูนิต หรือ 13% มูลค่า 842 ล้านบาท (ลูกค้าใหม่ที่มาซื้อได้รับแจ้งให้รับรู้ว่า ยังมีคดีฟ้องร้องกับศาลอยู่)
ต่อมาโครงการ รฟม. และนิติบุคคลอาคารชุดโครงการ ได้ใช้สิทธิ ร้องสอด เข้ามาเป็นคู่ความในคดี (ในฐานะผู้ใช้ที่ดิน) ศาลปกครองรับคำอุทธรณ์ร้องสอดของผู้ร้องทั้งสามประกอบการพิจารณา โดยพิจารณาเห็นว่าปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้มีการโอนขายให้แก่ประชาชนไปแล้ว 87% ประกอบกับหากพิจารณาโดยพฤตินัยแล้ว ที่ดินซึ่งใช้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวมีทางเข้า-ออกกว้างกว่า 13 เมตร ศาลเห็นว่าเป็นประเด็นที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้พิพากษามีคำสั่งให้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามและบรรดาผู้ร้องสอด ร่วมปรึกษาหารือให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโครงการดังกล่าวมีที่ดินด้านหนึ่งด้านใดกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรติดถนน โดยวิธีการจัดหาที่ดินด้วยวิธีใดๆ อันชอบด้วยกฎหมาย ภายใน 180 วัน หากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าฯ กทม.) และที่ 3 (ผอ.เขตวัฒนา) ออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร (โดยนัยหมายถึง หากไม่สามารถกระทำได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ออกคำสั่งโดยมิชอบดังกล่าว จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาลงโทษทางวินัยข้าราชการหรือตามที่องค์กรกำหนดไว้ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมถึงต้องรับผิดในค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ด้วย ) ทั้งนี้คดีนี้ยังสามารถสามารถดำเนินการอุทธรณ์ในชั้นศาลปกครองสูงสุดได้
หากเปรียบเทียบกับคดีโรงแรม ดิเอทัส ซอยร่วมฤดี ที่เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กทม. และสนง.เขตปทุมวัน ดำเนินการรื้อถอนอาคารสูงดิเอทัส ในซอยร่วมฤดี ที่ยืดเยื้อมาเกือบ 10 ปี รวมถึงยังมีข่าวว่า ที่ผ่านมา โรงแรมยังคงมีการใช้สอยอาคารอยู่
โครงการดิเอทัส ซอยร่วมฤดี มีความแตกต่างกับโครงการแอชตัน อโศก ดังกล่าวข้างต้น ตรงที่โครงการดิเอทัสเป็นการประกอบกิจโรงแรม ผู้เป็นเจ้าของโครงการคือ เจ้าของโรงแรม จึงไม่มีผลกระทบต่อลูกค้าที่เป็นบุคคลภายนอก ซึ่งแตกต่างกับโครงการแอสตัน ที่เป็นคอนโดมิเนียม และลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้อง ศาลจึงเมตตาให้โอกาสปรับปรุงแก้ไข เพื่อลดความเสียหายและความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยให้หาทางแก้ไขภายในกำหนดเวลา หากแก้ไขไม่ได้ ต้องหรือถอนอาคารอยู่ดี
หากเปรียบเทียบกับกรณีเดียวกันที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย และประเทศจีนเมื่อไม่นานนี้ ได้มีการระเบิดโรงแรมและอาคารคอนโดมิเนียม (เป็นการรื้อถอนอาคาร) ที่สร้างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อรักษากฎหมาย และบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ในประเทศไทย ยังมีโครงการที่สร้างไม่ถูกต้องตามกฎหมายในลักษณะดังกล่าวอยู่อีกกว่า 10 โครงการทั่วประเทศ
ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการรื้อถอนอาคารขนาดใหญ่ ที่สร้างผิดกฎหมายแม้แต่รายเดียว เพราะติดปัญหาทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ตลอดจนหาผู้มีความรู้ความชำนาญที่จะดำเนินการ
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะบังคับใช้กฎหมายกับอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างไม่ถูกต้องในประเทศไทยได้อย่างจริงจังแค่ไหน