คืนชีวิตใหม่ให้ ลุงองอาจ ถูกแจ้งตาย 12 ปี

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

สนามข่าว 7 สี – เรื่องอลเวง คนมีชีวิตถูกนำชื่อไปแจ้งตาย หลัง ลุงองอาจ อายุ 65 ปี ชาวจังหวัดนครสวรรค์ ถูกนำชื่อไปแจ้งตาย ถือใบมรณะบัตรมานานกว่า 12 ปี จนต้องเสียสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ จนรู้ที่มาที่ไปของปัญหา เพื่อคืนชีวิตใหม่ให้กับลุง และวันนี้ 09.00 น. ลุงองอาจจะไปทำบัตรประชาชนใหม่อีกครั้ง 

กรณีที่ นายองอาจ หรือ ลุงองอาจ บุญฤทธิ์ อายุ 65 ปี ชาวบ้านในตำบลพระนอน อำเภอเมืองนครสวรรค์ ถูกคนอื่นนำชื่อไปแจ้งตาย ถือใบมรณะบัตรมานานถึง 12 ปี หลังจากที่เมื่อช่วงปลายปี 2553 ได้ไปต่อบัตรประชาชนที่ว่าการอำเภอเมืองนครสวรรค์ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เพราะมีใบมรณะบัตร ถูกแจ้งตายไว้ที่เทศบาลนครนนทบุรี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 ด้วยโรคปอดอักเสบ ที่สถาบันโรคทรวงอก จังหวัดนนทบุรี และฌาปนกิจที่วัดมหาบุศย์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 ถ้านับรวมคือเสียชีวิตมาแล้ว 25 ปี

พอลุงองอาจ รู้ว่าตัวเองถูกแจ้งตายทั้งที่ยังมีชีวิต และสุขภาพยังแข็งแรงดี ยอมรับว่าตกใจ แต่พยายามมองโลกในแง่ดี ว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดจากชื่อ-นามสกุลเหมือนกับคนอื่น เมื่อสอบถามไปที่เทศบาลนครนนทบุรี พบว่าทั้งเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และข้อมูลอื่น ๆ ตรงกับของตัวเอง มีเพียงชื่อพ่อ แม่ เท่านั้นที่ไม่ตรงกัน จึงเชื่อว่าเป็นคนละคนกัน ส่วนกรณีที่ถูกจำหน่ายว่าตายในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร เนื่องจากการปรับปรุงรายการข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง นำเลขบัตรประชาชนไปลงในระบบ จึงทำให้นายองอาจกลายเป็นคนที่เสียชีวิต

เพื่อความกระจ่าง เมื่อวานนี้ ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ชัย จินดาพันธ์ นายอำเภอเมืองนครสวรรค์ พร้อมด้วยปลัดอำเภอเมืองนครสวรรค์ฝ่ายทะเบียนราษฏร และปลัดอำเภอบางบัวทองฝ่ายทะเบียนราษฏร เข้าพบ นายชูชาติ เดชกล้า พนักงานรักษาศพ โรงพยาบาลโรคทรวงอก เพื่อถามกรณีมีชื่อนายชูชาติ เป็นผู้แจ้งการเสียชีวิตของนายองอาจ บุญฤทธิ์ โดยใช้เวลาในการพูดคุยถึงรายละเอียดนานกว่า 1 ชั่วโมง

นายอำเภอเมืองนครสวรรค์ เปิดเผยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมีการเสียชีวิตจริง หากย้อนไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ไม่ได้มีการลงบันทึกเลขบัตรประชาชน 13 หลักไว้ในมรณะบัตร จึงเป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาด เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าเอกสารการเสียชีวิตไม่ครบ จึงได้กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักของนายองอาจ บุญฤทธิ์ ซึ่งมีชื่อและนามสกุลตรงกับผู้เสียชีวิตเข้าไป จึงทำให้เกิดเรื่องเข้าใจผิดดังกล่าว หลังจากที่รู้ว่าเป็นเรื่องผิดพลาดของระบบ จะดำเนินการคืนสิทธิให้กับนายองอาจ ชาวจังหวัดนครสวรรค์ โดยจะออกบัตรประชาชนให้ใหม่ ร่วมถึงสิทธิต่าง ๆ ที่ต้องได้รับทั้่งหมดต่อไป

ด้าน นายชูชาติ เปิดเผยว่า ต้องย้อนไปเมื่อปี 2540 ซึ่งผ่านมาแล้ว 25 ปี จึงจำไม่ได้แล้วว่าตอนนั้นเหตุการณ์เป็นอย่างไร แต่ขณะนั้นทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาศพ โรงพยาบาลโรคทรวงอก ดำเนินการทุกอย่างไปตามระเบียบราชการ และระเบียบของโรงพยาบาลทุกอย่าง ปกติแล้วผลรับรองการเสียชีวิตจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประจำตึก ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย ส่วนตนเองจะทำหน้าที่ออกเลขหนังสือรับรองการเสียชีวิต เพื่อนำไปขอใบมรณะบัตรที่สำนักงานทะเบียนราษฏรเทศบาลนครนนทบุรี ให้กับทางญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งระบุชื่อ นายองอาจ บุญฤทธิ์ สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ถ้าทำอะไรผิดพลาดไป ตนเองอยากจะขอโทษ เพราะไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงแต่อย่างใด แค่ต้องการดำเนินเรื่องช่วยเหลือให้กับญาติของผู้เสียชีวิตเท่านั้น

ขณะที่ พันจ่าอากาศเอก อนุรักษ์ โยธารักษ์ ผู้อำนวยการกองทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชน สำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี ให้ข้อมูลว่า ในปีที่เกิดเหตุ ปี พ.ศ.2540 สำนักงานทะเบียนราษฎรฯ ได้รับข้อมูลจากนายชูชาติ ว่านายองอาจ บุญฤทธิ์ เสียชีวิต ทางสำนักงานทะเบียนจึงออกใบมรณะบัตรให้ตามระเบียบ เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานถูกต้อง แต่ปัญหาคือเมื่อส่งเอกสารไปที่สำนักทะเบียนกลาง ได้มีการกรอกข้อมูลบัตรประชาชน 13 หลัก ทำให้ประวัติข้อมูลทุกอย่าง เป็นของนายองอาจ บุญฤทธิ์ ชาวจังหวัดนครสวรรค์ ส่วนข้อมูลที่สำนักทะเบียนราษฎรเทศบาลได้รับเป็นชื่อและนามสกุลเดียวกัน แต่พักอาศัยอยู่ที่แขวง และเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

ส่วนกรณีที่นายองอาจ ชาวนครสวรรค์ ร้องเรียนขอให้ถอนใบมรณะบัตร ทางสำนักทะเบียนฯ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้เสียชีวิตจริงชื่อ องอาจ บุญฤทธิ์ ชาวกรุงเทพฯ ซึ่งมีชื่อและนามสกุลเดียวกัน ทางสำนักทะเบียนฯ จึงได้ออกหนังสือให้กับ นายองอาจ ที่ยังมีชีวิต เพื่อไปยื่นกับที่ว่าการอำเภอเมืองนครสวรรค์ ในการขอทำบัตรประชาชนใหม่ ซึ่งขั้นตอนทุกอย่างสามารถทำให้ได้เลย ตามกฎระเบียบข้อบังคับข้อที่ 99 หากนายอำเภอหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สามารถพิสูจน์ตัวตนของนายองอาจ ได้ว่ายังมีชีวิตอยู่ และเป็นคนละคนกับนายองอาจ ชาวกรุงเทพฯ ซึ่งตามขั้นตอนสามารถออกบัตรประชาชนให้ได้เลย ยืนยันว่าสำนักงานทะเบียนราษฎร เทศบาลนครนนทบุรี ออกใบมรณะบัตรให้ตามกฎระเบียบทุกอย่างถูกต้อง

และเพื่อให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น ทีมข่าว 7HD ลงพื้นที่ไปตามที่อยู่ที่ถูกระบุว่า นายองอาจ บุญฤทธิ์ ผู้เสียชีวิต อยู่บ้านเลขที่ 104 ถนนบางซื่อ แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ พบว่าบ้านหลังดังกล่าวอยู่ในถนนประชาราษฎร์สาย 1 ซอย 10 แขวงและเขตบางซื่อ เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น มีรั้วรอบขอบชิด สภาพผุใกล้พัง ไม่มีคนพักอาศัย มีรถจักรยานยนต์จอดอยู่ด้านใน สอบถามชาวบ้านให้ข้อมูลว่า เจ้าของบ้านย้ายไปเช่าคอนโดมิเนียมอยู่กับลูกสาว ย่านซอยเรวดี จังหวัดนนทบุรี ได้นานกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาไม่มีใครรู้ชื่อจริงเจ้าของบ้าน รู้เพียงว่านามสกุล “บุญฤทธิ์” และลูกชายเจ้าของบ้าน ชื่อเล่นว่า “วัฒน์” เสียชีวิตไปนานกว่า 20 ปี ส่วนบ้านหลังดังกล่าวให้คนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเช่า จะกลับเข้าบ้านช่วงประมาณ 2-3 ทุ่ม ทุกวัน และนาน ๆ ครั้งลูกสาวเจ้าของบ้านจะเดินทางมาดูความเรียบร้อยเท่านั้น  

และเมื่อวานนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และหัวหน้าส่วนราชการ พากันเดินทางไปที่บ้านของลุงองอาจ ชายผู้ถูกแจ้งตาย เพื่อสอบถามถึงความเป็นอยู่ รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนที่ต้องประสบมาตลอดในระยะเวลา 12 ปี พร้อมมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเบื้องต้นให้

โดยทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และเจ้าหน้าที่ ให้คำมั่นกับลุงว่า ไม่ต้องรอถึง 2 สัปดาห์ วันนี้ (26 ก.ค.) เวลา 09.00 น. ให้ลุงองอาจเดินทางไปที่ว่าการอำเภอเมืองนครสวรรค์ ไปทำบัตรประชาชนใหม่ได้เลย จะดำเนินการนำชื่อของลุงเข้าทะเบียนบ้านให้ สามารถทำบัตรประชาชนได้ทันที และจะคืนสิทธิต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น บัตรผู้สูงอายุ บัตรทองในการดูแลรักษาสุขภาพ ให้ด้วย

ทีมข่าวของเรายังลงพื้นที่ไปที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ คุยกับปลัดอำเภอ เปิดเผยสาเหตุการช่วยเหลือลุงองอาจ ล่าช้า เนื่องจากมีการแจ้งว่าลุงองอาจเสียชีวิตแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ขั้นตอนในการเรียกสอบพยานและผู้ใกล้ชิดต่าง ๆ ใช้เวลานาน และที่สำคัญขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งระหว่างที่ตนเองเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้ 2 ปี ลุงเคยเข้ามาขอความช่วยเหลือ ก็พยายามประสานงานมาโดยตลอด

ขณะที่ทีมข่าวได้เปิดใจลูกชายของคุณลุงองอาจด้วย เล่าให้ฟังว่า ตลอดกว่า 10 ปี พาพ่อไปที่ว่าการอำเภอเมืองนครสวรรค์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ทุกครั้งคำตอบที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่คือบอกให้รอก่อน และที่ผ่านมาประสานทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต. มากว่า 4 สมัย ให้ไปช่วยติดตามเรื่อง จนพ่อทุกข์หนัก เวลาไม่สบายก็ไม่กล้าไปโรงพยาบาลของรัฐ เพราะไม่มีบัตร 30 บาท รักษาทุกโรค ทำได้เพียงไปซื้อยาตามคลินิกเล็ก ๆ แถวบ้าน และจะไปไหนก็กลัวเจ้าหน้าที่มาตรวจค้น กลัวถูกจับ หาว่าเป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้านหลบหนีเข้ามา


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน