จุ้นจ้าน เรื่องชาวบ้าน : ผังเมืองคนกรุง ดีพอหรือยัง ?

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

เจาะประเด็นข่าว 7HD – จุ้นจ้าน เรื่องชาวบ้าน ยังอยู่กับการตามดูปัญหาในเมืองกรุง วันนี้จะพาไปชมเรื่องสำคัญของเมืองใหญ่ ถ้าจัดไม่ดี เมืองก็ไม่น่าอยู่ เป็นเรื่องอะไร ไปติดตามกับคุณกาย สวิตต์

ในมหานครที่น่าอยู่ สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของผังเมือง หากมีการพัฒนาเมืองอย่างมีแผน มีผังเมืองรวม ก็จะทำให้บ้านเมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม มีความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ มีการปรับปรุง 4 ครั้งแล้ว อย่างที่เราเห็นในแผนที่ มีหลากสี แบ่งเป็น สีเหลือง คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย สีส้ม หนาแน่นปานกลาง สีน้ำตาล หนาแน่นมาก สีแดง เป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรม และส่วนสีฟ้า ซึ่งตามแผนที่ต้องเป็นสีเขียว คือ พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม

เมื่อวิเคราะห์ปัญหาการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุมชน หากเจาะที่กฎหมายผังเมือง โดยเฉพาะกฎหมายควบคุมอาคาร จะพบว่ากฎหมายมีเขียนไว้ชัด และ กทม. เองก็มีข้อแนะนำในการออกแบบอาคารประเภทอยู่อาศัยรวม ได้แก่ แฟลต อะพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม 

ซึ่งกำหนดไว้หลายข้อ เช่น ประเด็นของแนวอาคารและระยะต่าง ๆ อาทิ อาคารสูง หรือ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมีระยะร่นแนวผนังห่างเขตที่ดินของผู้อื่น และห่างถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร, ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องจนไปเชื่อมกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร เป็นต้น

แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังพบเป็นปัญหาจากการก่อสร้างไปแล้ว และกำลังเตรียมการก่อสร้าง ซึ่งเรื่องนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า จริง ๆ แล้วกลไกมี แต่เหตุใด กทม. ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายบังคับกลับปล่อยให้เกิดการรื้อทุบตึกสูงอยู่เป็นระยะ จนเสมือนไร้ทางออก

การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดสภาพตึกสูงล้อมชุมชน มีข้อพิพาทบ่อยครั้ง เพราะส่งผลกระทบต่อชุมชน ที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ทั้งด้านเสียง ฝุ่นละออง น้ำเสีย ไปจนถึงปัญหารถติด ฝนตกหนัก และบางแห่งยังพบมีการก่อสร้างผิดกฎหมาย จนศาลปกครองสูงสุดสั่งให้รื้อถอนอาคาร ก็คือ 2 ตึก ขนาด 18 ชั้น และ 24 ชั้น ในโครงการภายใต้ชื่อดิเอทัส ในซอยร่วมฤดี

แต่ผ่านมาเกือบ 8 ปี เปลี่ยนมาถึง 3 ผู้ว่าฯ กทม. ก็ยังไม่มีการรื้อถอน มีเพียงการปิดห้ามใช้อาคาร และมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ แต่ก็ไม่มีคำชี้แจงจาก กทม. ในเรื่องของการรื้อถอนอาคาร ทำให้ชาวบ้านเพื่อนร่วมซอยเดียวกัน ยังทุกข์ระทมจากโครงการนี้

ไม่ได้มีเพียงโครงการข้างต้นที่เรานำเสนอว่าฝ่าฝืนบทบัญญัติ กทม. และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จริง ๆ ยังมีคดีดังอีก อาทิ ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ ย่านบางลำพู ปี 2528 กทม. ยื่นฟ้องต่อศาลให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ชั้น 5 ถึงชั้นที่ 11 แล้วก็เกิดการต่อสู้ทางคดีเรื่อยมา จนปี 2537 ศาลฎีกาพิพากษาให้รื้อถอนจุดดังกล่าว แต่การดำเนินการล่าช้าจนปี 2552 เริ่มรื้อให้เหลือ 4 ชั้นตามแบบที่ขออนุญาต ท่ามกลางก่อนหน้านี้เกิดทั้งเพลิงไหม้จนถล่มลงมา เลี้ยงปลาจนได้ชื่อว่า วังมัจฉา และถูกปิดบริเวณไว้จนถึงทุกวันนี้ เพื่อรอการขออนุญาตเปิดใช้งานอีกครั้งในอนาคต

อีกที่คอนโดมิเนียมหรูย่านอโศก ที่มีแผนก่อสร้างถึง 51 ชั้น มีห้องพักกว่า 783 ยูนิต เมื่อปี 2559 มีการยื่นฟ้องคดี และศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมปีที่แล้ว ให้ถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีกัน

ไม่เพียงคดีดัง ยังมีอีกหลายชุมชนในหลายเขตพื้นที่ อาทิ เขตพญาไท, คลองเตย และ สาทร ก็มียื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ช่วยเหลือ หลังสำนักงานเขตมีการอนุมัติให้ก่อสร้างตึกสูงเพื่อพักอาศัย โรงแรม และศูนย์การค้า ในพื้นที่ได้ จนชาวชุมชนดั้งเดิมเกิดความกังวลใจ เพราะมีตึกสูง ย่อมต้องมีปัญหาตามมาทั้งด้านเสียง ฝุ่นละออง น้ำเสีย การจราจรแออัด เป็นต้น

ก็คงต้องรอลุ้นกันว่า ผังเมืองรวม กทม. ที่มีการจัดโซนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ซึ่งกำลังปรับปรุงกันอยู่นี้ โดยเฉพาะ ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะเข้ามาสานต่อ เพื่อยุติปัญหา สร้าง ทุบ ทิ้ง ตึกสูงให้หมดไปจากเมืองกรุงได้หรือไม่

ติดตามทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ : www.ch7.com/bangkokelection


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน