ประเทศที่เศรษฐกิจยังต้วมเตี้ยม เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำแบบไทย ยากที่จะดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืนเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วได้ง่ายๆ จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องแบกภาระหนี้ครัวเรือนกันแทบเลือดตากระเด็นในทุกวันนี้
มองย้อนหลังไปไกลๆจะพบว่า ในช่วงเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองของไทยพยายามเลียนแบบประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว คือ ได้มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะเน้นที่รถกระบะก่อน เริ่มต้นเป็นรถจากญี่ปุ่นที่พากันมาตั้งโรงงานทั่วแทบทุกนิคมอุตสาหกรรม ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลไทยได้จัดมาตรการส่งเสริมด้านภาษีและอื่นๆให้เต็มที่ ทำให้ไทยสามารถผลิตรถกระบะราคาถูกออกไปขายทั่วโลก ในขณะเดียวกันรัฐก็ยอมให้มีการขายให้คนไทยในราคาที่ต่ำเป็นพิเศษเช่นกันเพื่อหนุนให้บริษัทผลิตรถยนต์มียอดขายมาก นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนของไทยสูงขึ้นเร็วมากในสมัยก่อน และหลังจากนั้นไทยก็ถือโอกาสสนับสนุนให้รถเก๋งจนถึงรถอีโค่คาร์ผลิตออกมามากเพื่อขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผลที่เกิดขึ้นคือนักอุตสาหกรรมรถยนต์โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ร่ำรวยเป็นเศรษฐีกันมากมาย ส่วนประชาชนคนจนตาดำๆที่รายได้ไม่ค่อยจะเพิ่มก็ต้องเป็นหนี้ครัวเรือนแบบชักหน้าไม่ถึงหลัง
ไม่นานหลังจากการดันอุตสาหกรรมรถยนต์ให้โตแบบทะยาน นักการเมืองก็หันมาดันด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วยการสนับสนุนให้มีการสร้างบ้านสำหรับขายผู้มีรายได้น้อยในราคาถูกๆ เรื่องนี้ทำได้ง่ายกว่ารถยนต์ เพราะนักลงทุนคนไทยขนาดเล็กและกลางล้วนแต่ทำอสังหาริมทรัพย์กันได้สบายมากอยู่แล้ว และการเน้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นี้ทุกประเทศเขาก็ทำกันทั้งนั้น ผิดกันที่ว่าผู้ซื้อคนไทยมีฐานรายได้ต่ำ ก็ต้องไปกู้เงินจำนวนมากในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้ต่ำมากจากสถาบันการเงิน กู้มากผ่อนยาว ผ่อนไป 10 – 15 ปี จนตัวเองแก่แล้ว เงินต้นลดไปนิดเดียว นี่คือสภาวะของคนจนที่ตกอยู่ในกับดักของหนี้ครัวเรือนที่ขณะนี้มีจำนวนสูงมากถึงเกือบเท่า GDP
เมื่อดูข้อเท็จจริงจากตัวเลข ในปี 2548 หรือเมื่อ 17 ปีมาแล้ว หนี้ครัวเรือนมีอยู่เท่ากับ 3.43 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 45 % ของ GDP เท่านั้น อีก 9 ปีต่อมา ในปี 2557 ปีที่ คสช. ยึดอำนาจเข้าปกครองประเทศ มีหนี้ครัวเรือนอยู่ 10.55 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.7 % ของ GDP ซึ่งนับได้สูงขึ้นมามาก และในปีปัจจุบัน จากตัวเลขในไตรมาสที่สองของปี 2565 นี้ หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88.2 % ของ GDP จากสถิติของ IMF ประเทศที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงกว่าไทยมีไม่กี่ประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร เป็นต้น
ขอให้ท่านที่มีข้อมูลและความรู้ด้านการพัฒนาของประเทศเราลองหันไปวิเคราะห์การสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงยั่งยืนที่รัฐบาลซึ่งมาจากนักการเมืองที่หวังแต่อำนาจ ไม่เคยใส่ใจกับการสร้างรายได้ให้ประชาชนรากหญ้า มองย้อนหลังไปไกลๆ มาจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นได้ชัดว่ารายได้ที่เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบลุ่มๆดอนๆของไทยนั้น มันไปตกอยู่ในหมู่ผู้มีรายได้สูง ในหมู่พ่อค้าและผู้ประกอบการที่ใกล้ชิดสนิทชิดเชื้อกับนักการเมืองทั้งนั้น ส่วนประชาชนรากหญ้าตาดำๆนั้น รายได้เพิ่มแทบจะจับต้องไม่ได้
การท่องเที่ยวซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศและของคนจนในประเทศพอจะช่วยทำให้ประชากรระดับล่างที่แยกตัวออกจากภาคเกษตรมาทำงานหาเงินเลี้ยงชีวิตรายวันได้ แต่ปรากฏว่าตอนนี้มีทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ราคาค่อนข้างถูก แถมไม่ต้องมีเงินดาวน์ หรือดาวน์น้อยๆ คนจนก็พากันซื้อรถมาใช้กันใหญ่ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่เข้าไปตกอยู่ในวังวนของหนี้ครัวเรือนแบบไทยๆมากจนไม่น่าเชื่อ
พวกที่เข้าไปสัมผัสกับหนี้ครัวเรือนที่กล่าวข้างต้น เมื่อมีปัญหาไม่ว่ากับหนี้ผ่อนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หนี้ผ่อนสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ และจนกระทั่งหนี้บัตรเครดิต จะต้องแก้ไขปัญหาหนี้ของตนเอง จนในที่สุดต้องเข้าสู่ในวังวนของหนี้นอกระบบที่หนี้ครัวเรือนเข้าไปดูแลไม่ถึงและเก็บตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้ ซึ่งเชื่อกันว่ามีถึง 15 – 20 % ของหนี้ครัวเรือน แล้วอย่างนี้จะแก้กันไหวได้ยังไงครับ
การแก้ไขปัญหาของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่โตแข่งกับหนี้สาธารณะของรัฐบาลให้ลดน้อยถอยลงมาหลายยก ในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่มีเขี้ยวเล็บที่จะทำการดูแลได้ ก็ได้เข้ามาใช้มาตรการหลายอย่างเข้าไปจัดระเบียบ เข้าไปบรรเทาโดยการยืดหนี้ ทำการทบทวนโครงสร้างเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม การใช้มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดหลายมาตรการเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในระยะยาวด้วย กล่าวได้ว่า ธปท. ได้เข้าไปแก้ไขรอบด้านเกือบทุกมิติ
การเข้าไปดูแลหนี้ครัวเรือนของธปท. นั้น เป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยคือการได้มีผู้เข้าไปดูแลคมดาบด้านหนึ่งของหนี้ครัวเรือน ไม่ให้คนยากคนจนที่ตกอยู่ในวังวนของหนี้ครัวเรือนต้องแบกภาระหนี้ที่กดหนักอยู่ทุกด้าน แต่คำถามมีว่าแล้วจะช่วยบรรเทาผู้ที่มีหนี้ครัวเรือนให้พ้นวังวนแห่งหนี้ไปได้แค่ไหน ซึ่งคำตอบคงจะทำให้ดีขึ้นจนเป็นรูปธรรมไม่ค่อยได้ เพราะจะแก้ไปได้อย่างไรในเมื่อผู้ที่เป็นหนี้ไม่สามารถหารายได้เพิ่มเข้ามาได้เลย มีอะไรที่รัฐบาลได้เข้าไปทำอย่างจริงจังให้พวกคนยากคนจนเขามีรายได้เข้ามาเป็นรูปธรรมบ้าง
กับดักที่ทำให้เกิดวังวนของหนี้คนจนมีอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขอยกตัวอย่างให้เห็นหนี้ที่เป็นวังวนสักอย่างในประเทศนี้คือ หนี้ครู หนี้นี้ไม่เคยลดมีแต่เพิ่มตามจำนวนครูที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ระยะหลังๆนี้คงไม่เพิ่มสักเท่าไหร่เพราะครูระดับประถมและมัธยมชักลดน้อยลงตามการลดของเด็กเกิดใหม่ แต่กระนั้นมูลค่าหนี้ก็ลดยาก หนี้ครูนี้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่คือธนาคารออมสิน คิดดอกเบี้ยถูก ผมได้รับคำบอกเล่าว่าครูที่เป็นหนี้เมื่อได้ใช้หนี้ทั้งต้นและดอกคืนไป 3 – 4 ปี ธนาคารออมสินดูแล้วว่าเป็นลูกหนี้ที่ดี ก็จะขยายหนี้ให้ก้อนใหญ่มากกว่าเดิม เพื่อให้กู้เพิ่มอีกโดยใช้หลักทรัพย์เดิมค้ำประกัน ครูเขาก็ชอบใจและยอมเซ็นทุกอย่าง
ส่วนธนาคารออมสินก็สบายใจทั้งธนาคารและพนักงานเพราะได้ค่าเบี้ยประกันภัยใหม่เข้ามา หนี้ครูก็เป็นหนี้ที่มั่นคงและยั่งยืน ครูจำนวนไม่น้อยที่เป็นหนี้นี้จนเกษียณหรือตายจากไป
หนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่สุดได้ชะลอตัวลงในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา นี่เป็นผลการวิจัยและติดตามหนี้ครัวเรือนของธนาคารกสิกรไทย โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ที่ว่าฐานะทางการเงินมีสัญญาณอ่อนแอลง และมีระดับหนี้เดิมสูงอยู่จึงทำให้ระมัดระวังในการก่อหนี้เพิ่ม แต่ขณะเดียวกัน ผลการวิจัยก็ได้บอกว่าประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนกลับมีหนี้สินในรูปบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารก็จะกลัวเรื่องนี้มาก แล้วก็จะหาทางบีบรัดลูกหนี้ต่อไป
สรุปแล้วสภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยขณะนี้อยู่ในวังวนของเขาควาย ไปทางไหนก็ตาย (Dilemma) ที่จริงภาวะเช่นนี้ประชาชนระดับคนจนต่างก็ชาชินแล้ว แต่ผู้ที่จะตกอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง คือทั้งสถาบันการเงินและรัฐบาล จะตกอยู่ภายใต้ความบีบคั้นด้วยกันทั้งคู่
คมดาบอีกด้านหนึ่งของหนี้ครัวเรือน คือ คมดาบที่รัฐบาลจะต้องเจอจากการหดตัวอย่างมากของหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นภาวะที่คนยากจนว่างงานมากขึ้น การทำมาหากินฝืดเคืองในทุกด้าน ความสามารถในการหาเงินไปชำระหนี้เดิมยิ่งลดน้อยถอยลงทุกวัน สภาวะเช่นนี้จะหนักหนาและบีบคั้นรัฐบาลไม่แพ้การระบาดของโควิด-19 เสียอีก
ผมคิดว่าบรรดานักการเมืองที่พยายามแสวงหาอำนาจและคะแนนนิยมเพื่อจะเข้าไปเป็นรัฐบาลยังไม่รู้เลยว่าหนี้ครัวเรือนนี้หากไม่สามารถเพิ่มสูงขึ้นได้แล้วมันจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้นอีกแค่ไหน มันจะทำให้การบริโภคภายในประเทศภาคเอกชน (Private Consumption) หดตัวแค่ไหน เอาตัวเลขของสภาพัฒน์ฯที่ทำประมาณการ GDP ปี 2565 มาดูก็จะพบว่า ในปีนี้การบริโภคภาคเอกชนจำนวน 8.30 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนถึงประมาณ 53 % ของ GDP ซึ่งถูกคาดการณ์ว่า GDP ปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 3.5 % ดังนั้น ถ้าภาคเอกชนมีความกดดันด้านรายได้มาก มีการลดค่าใช้จ่ายที่เป็นหนี้ครัวเรือนลงถึง 5 % มันก็จะกระทบการขยายตัวของ GDP ให้หดตัวลงถึง 2.5 % ทีเดียว
อย่าทำเล่นไปนะครับ ปีนี้อาจไม่เป็นไร แต่ปีหน้าปีที่ทั้งโลกจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากรัฐบาลยังไม่รู้วิธีเสริมสร้างฐานรายได้ที่จับต้องได้ให้แก่คนระดับล่าง ก็ขอให้ระวังคมดาบจากหนี้ครัวเรือนให้มากก็แล้วกัน
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
สมหมาย ภาษี
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล