ตีตรงจุด : คนกรุงเทพฯ ปรับตัวหนักกับการขยายเมือง

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

เจาะประเด็นข่าว 7HD – การพัฒนาเมืองสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่ประชาชนได้มีส่วนร่วม และต้องยอมรับว่าการจะพัฒนาเมืองให้เติบโตขึ้น บางทีต้องยอมแลกกับวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำตามมา หากไม่มีการวางแผนจัดการให้ดี ตีตรงจุด พาไปดูกรณีตัวอย่างที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาเมือง

นี่เป็นคลิปที่เจ้าของบ้านรายหนึ่งส่งให้ทีมข่าวเจาะประเด็นข่าว 7HD ดูความเดือดร้อนที่กำลังประสบปัญหาโครงสร้างบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อถอนอาคารข้าง ๆ เพื่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียม จะเห็นว่าช่วงฝนตกก็จะมีน้ำซึมไหลออกมาเป็นทาง

เจ้าของบ้านบอกว่า เดิมทีบ้านของตัวเองเป็นอาคารพาณิชย์ติดกัน 20 หลัง ตั้งอยู่ย่านคลองสาน ก่อนหน้านี้มีโครงการจะสร้างคอนโด และได้กว้านซื้ออาคารพาณิชย์ข้าง ๆ ไป 10 หลัง โดยหลังของตัวเองเป็นหลังที่ 11 จึงมีการรื้อถอนอาคารข้าง ๆ ออกไป ซึ่งระว่างการรื้อถอนและปรับปรุงพื้นที่นี้เองที่พบปัญหา เช่น มีน้ำรั่วซึมตามรอยแตกร้าว มีหลังคาทะลุจากสิ่งของตกใส่ รวมถึงพื้นที่ข้าง ๆ เมื่อกลายเป็นที่ดินเปล่าก็มีสัตว์มีพิษเข้าบ้าน ก่อนหน้านี้มีการติดต่อโครงการให้มารับผิดชอบ โครงการก็มีการเจรจากัน แต่สุดท้ายก็เงียบหาย ตอนนี้ก็ได้แต่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม

เจ้าของบ้านยังบอกอีกว่า นี่นับเป็นความทุกข์ใจของชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยที่ทำอะไรไม่ได้ ขนาดได้รับผลกระทบหลังเดียวโครงการยังปัดความรับผิดชอบ แล้วถ้าได้รับผลกระทบกันทุกหลังจะทำอย่างไร ล่าสุด เจ้าของบ้านได้มีการแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน หากต้องมีการเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว

ส่วนอีกหนึ่งพื้นที่ คือ อาคารพาณิชย์เช่นกัน ตั้งอยู่แยกพระราม 9 อันนี้เป็นเรื่องของการที่เจ้าของบ้านไม่ขายที่ดินให้กับโครงการก่อสร้างคอนโด เมื่อคอนโดสร้างเสร็จแล้วสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ตึกแถวที่เคยมีเพื่อนบ้านก็หายไป กลายเป็นคอนโดสูงที่ล้อมไว้ ประกอบกับเมื่อช่วงที่มีการก่อสร้างเจ้าของบ้านก็อาศัยอยู่ไม่ได้ เพราะอายุเยอะแล้วจึงทนไม่ไหวกับแรงสั่นสะเทือน ฝุ่นทั้งจากการก่อสร้างและการจราจร จนสุดท้ายก็ต้องยอมย้ายออกไปอยู่ที่อื่นและตัดใจขายบ้านที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจนเลยว่าการพัฒนาเมืองต้องแลกมากับวิถีแบบเดิม

ขณะที่ ย่านพระราม 9 ถือเป็น NEW CBD หรือศูนย์กลางย่านธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่ขยายตัวมาจากกรุงเทพฯ ชั้นใน ด้วยทั้งปัจจัยด้านการใช้ชีวิต การอยู่อาศัย รวมไปถึงเรื่องการเดินทางทั้งถนนและระบบราง ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีราคาสูง ราคาเฉี่ยอยู่ที่ 133,000 บาทต่อตารางเมตร นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลที่เจ้าของที่ดินดั้งเดิมไม่อยากขาย ขณะที่นายทุนก็พร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่ย่านนี้เพิ่มขึ้นทุกวัน

ส่วนนอีกหนึ่งที่ก็เคยเป็นกระแสถูกพูดถึงอย่างหนักเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือบ้านสังกะสี 3 หลัง ที่สวนปทุมวนานุรักษ์ เป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งในอดีตเคยเป็นชุมชนแออัด ชื่อว่า ชุมชนโรงปูน มีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 1,000 หลังคาเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเวนคืนที่และจะพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองให้คนกรุงเทพฯได้ใช้พักผ่อน และสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2561 แล้ว แต่ที่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้ เพราะมีชาวบ้านจำนวน 3 หลัง ที่ยังไม่ยอมย้ายออกไป แม้ว่าล่าสุดศาลจะมีคำสั่งให้ย้ายบ้านทั้ง 3 หลังออกจากพื้นที่เหมือนกับชาวบ้านกว่า 1,000 หลังคาเรือน ที่ยอมย้ายไปก่อนหน้านี้ พร้อมค่าชดเชยเยียวยา

และทั้ง 3 กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เมืองใหญ่ที่กำลังถูกพัฒนาจากพื้นที่ดั้งเดิมสู่รูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย หรือย่านการค้า ย่อมพบปัญหาความขัดแย้งทุกที่ แนวทางในการจัดสรรพื้นที่แต่ละโซนให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ก็นับเป็นอีกโจทย์ใหญ่ผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมองเห็นปัญหานี้และจัดการอย่างไร

ติดตามทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ : www.ch7.com/bangkokelection


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน