ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ 1.5 พันลบ.ของ AP ที่ A- แนวโน้ม

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) (AP) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.5 พันล้านบาทไถ่ถอนภายใน 4 ปีของบริษัทที่ระดับ “A-” เช่นเดียวกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้บางส่วนและเพื่อขยายธุรกิจ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทและความคาดหมายว่าบริษัทจะคงระดับรายได้และการเติบโตของอัตรากำไรเอาไว้ได้ อีกทั้งยังสะท้อนถึงการมีสายผลิตภัณฑ์สินค้าที่อยู่อาศัยของบริษัทที่มีจำนวนมากและมีความหลากหลาย ตลอดจนส่วนแบ่งกำไรจำนวนมากจากโครงการภายใต้กิจการร่วมทุน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับภาระหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูงและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยในระยะสั้นถึงปานกลางด้วย

บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2565 ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้น 17.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยอยู่ที่จำนวน 1.08 หมื่นล้านบาท รายได้จากโครงการบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้นถึง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยอยู่ที่ระดับ 9.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 91% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือมาจากยอดขายจากโครงการคอนโดมิเนียมและรายได้ค่าธรรมเนียมจากการบริหารโครงการและรายได้จากการให้บริการ

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 โครงการของบริษัท (รวมโครงการภายใต้กิจการร่วมค้า) สร้างยอดขายที่มูลค่า 1.29 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.7% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งยอดขายจากโครงการบ้านจัดสรรมีสัดส่วนถึง 83% ของยอดขายทั้งหมด ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ (รวมกิจการร่วมค้า) รวมทั้งสิ้น 2.87 หมื่นล้านบาท ซึ่งประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทของยอดขายดังกล่าวคาดว่าจะส่งมอบให้แก่ลูกค้าได้ในช่วงที่เหลือของปี 2565 และส่วนที่เหลือจะส่งมอบได้ในช่วง 2 ปีถัดไป

อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัททรงตัวอยู่ในระดับ 19%-20% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 21.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษา EBITDA Margin ให้อยู่ในระดับนี้ต่อไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ภาระหนี้ของบริษัทค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุน (รวมเงินกู้จากกิจการร่วมค้าตามสัดส่วน 51%) ของบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 38.5% ลดลงจากระดับ 42.8% ในปี 2564 ระดับ 46.6% ในปี 2563 และระดับ 56.5% ในปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 3.2 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับ 23.7% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 3.8 เท่าและระดับ 19.9% ตามลำดับ ในปี 2564

เงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้ยืมที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้กำหนดให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้อยู่ในระดับเกินกว่า 2 เท่า โดยบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าว ณ เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 0.5 เท่า ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ได้ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวม ณ เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 5%

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบไปด้วยเงินสดในมือจำนวน 2.8 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกอีกจำนวน 7.5 พันล้านบาท อีกทั้งเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทยังคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.8-5.0 พันล้านบาท ในขณะที่เงินทุนที่บริษัทจะต้องใช้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 2.6 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยภาระในการจ่ายชำระหนี้สินตามสัญญาเช่าการเงินจำนวน 0.1 พันล้านบาทและหุ้นกู้จำนวน 2.5 พันล้านบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในตลาดบ้านจัดสรรและตลาดคอนโดมิเนียมเอาไว้ได้ อีกทั้งบริษัทจะยังคงรักษาระดับรายได้และการเติบโตของกำไรเอาไว้ได้ในขณะที่ยังสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับประมาณ 45%

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นโดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40%-45% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับประมาณ 20% อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจมีการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากระดับในปัจจุบันซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 55% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินต่ำกว่า 10% อย่างต่อเนื่อง



ส่งหน้านี้ให้เพื่อน