ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. เอ็ม บี

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตสะท้อนถึงแหล่งรายได้จากธุรกิจที่หลากหลาย ความยืดหยุ่นทางการเงินที่เข้มแข็ง และการคาดการณ์ต่อผลการดำเนินงานของบริษัทว่าจะฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงการที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ตลอดจนการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มธนชาต

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

แหล่งรายได้จากธุรกิจที่หลากหลายช่วยบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด 19

แหล่งรายได้จากธุรกิจที่มีความหลากหลายของบริษัทเป็นปัจจัยที่ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ในช่วงปี 2560-2562 ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ไม่รวมการปรับปรุงค่าเช่าดำเนินงาน) โดยเฉลี่ยที่ระดับ 2.6-2.8 พันล้านบาทต่อปี โดย EBITDA ประมาณ 60% มาจากศูนย์การค้า ประมาณ 10% มาจากธุรกิจโรงแรม และประมาณ 25% มาจากธุรกิจให้บริการทางการเงิน

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 EBITDA ของศูนย์การค้าของบริษัทลดลง 37% ในปี 2563 และ 46% ในปี 2564 ในขณะที่ EBITDA ของธุรกิจโรงแรมติดลบ แต่ในทางตรงกันข้าม EBITDA ของธุรกิจให้บริการทางการเงินกลับเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ต่อปีในช่วงปี 2563-2564 นอกจากนี้ บริษัทยังมีผลการดำเนินที่แข็งแกร่งในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจให้บริการประมูลในปี 2564 ซึ่งทำให้มีสัดส่วน 11% และ 15% ของ EBITDA ตามลำดับ ด้วยความหลากหลายทางธุรกิจและผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ส่งผลให้บริษัทยังสามารถสร้าง EBITDA ให้อยู่ในช่วง 1.8-2.2 พันล้านบาทต่อปีได้ในระหว่างปี 2563-2564

ผลการดำเนินงานของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

ในช่วงปี 2563 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดบริษัทต้องปิดศูนย์การค้าชั่วคราวจากข้อกำหนดของภาครัฐและช่วยเหลือผู้เช่าโดยการให้ส่วนลดค่าเช่า อย่างไรก็ตาม จากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของจำนวนผู้เข้าศูนย์การค้าหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง บริษัทจึงค่อย ๆ ลดการให้ส่วนลดค่าเช่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทริสเรทติ้งเชื่อว่า ผลการดำเนินงานของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยได้รับการสนับสนุนจากจำนวนลูกค้าในประเทศที่แข็งแกร่งและการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าชาวต่างชาติหลังจากการยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางในเดือนกรกฎาคม 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 23% ในปี 2565 และจะอยู่ที่ระดับ 50% ในปี 2566 และ 15% ในปี 2567

บริษัทให้บริการศูนย์การค้าจำนวน 5 แห่งและอาคารสำนักงานจำนวน 3 แห่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยศูนย์การค้า ?เอ็มบีเค เซ็นเตอร์? ซึ่งเป็นศูนย์การค้าหลักที่สร้างกระแสเงินสดให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าของบริษัทนั้นได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดเนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ ในขณะที่ศูนย์การค้าอื่น ๆ ที่อยู่รอบนอกรวมทั้งอาคารสำนักงานให้เช่านั้นได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวไทย นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัดส่วนการลงทุนอีก 48% ในหุ้นของ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ อีกด้วย โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้จากศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานคิดเป็นประมาณ 19% ของรายได้ทั้งหมดและคิดเป็น 30% ของ EBITDA

ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวปานกลาง

ธุรกิจโรงแรมของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2565 หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโรคโควิด 19 รายได้จากธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น 258% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและการจำกัดการเดินทาง รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประมาณ 40,000 คนต่อวันในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมของบริษัทในปี 2565 จะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 67% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2562 รายได้ในปี 2566 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 77% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2562 และรายได้จะเข้าใกล้กับระดับในปี 2562 ได้ในปี 2567

ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้น

ในปี 2564 รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 40% เป็น 1 พันล้านบาทเนื่องจากการโอนห้องชุดของโครงการคอนโดมิเนียม ?Quinn Sukhumvit 101? ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยอดขายบ้านเดี่ยวและทาวเฮ้าส์ ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีอสังหาริมทรัพย์ที่รอการโอนจำนวน 639 ล้านบาทซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2565 บริษัทมีมูลค่าคงเหลือของโครงการอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 3.1 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2565 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากโครงการที่อยู่อาศัยประมาณ 1.3 พันล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 800 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567

โครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทประกอบไปด้วย คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว และทาวเฮ้าส์ โดยโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสปุณณวิถี โครงการดังกล่าวเป็นอาคารสูงซึ่งมีห้องชุดจำนวน 347 ห้องและมีมูลค่าประมาณ 2.4 พันล้านบาท โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ของบริษัทประกอบด้วยบ้านเดี่ยวที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณหรือใกล้กับสนามกอล์ฟและศูนย์การค้าของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการทาวเฮ้าส์ในจังหวัดชลบุรีซึ่งมีกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงต่ำเป็นลูกค้าเป้าหมายอีกด้วย

ธุรกิจให้บริการทางการเงินยังคงสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ

ธุรกิจให้บริการทางการเงินของบริษัทสามารถสร้าง EBITDA ให้แก่บริษัทจำนวน 700-900 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คงค้างของบริษัทอยู่ที่จำนวน 6.6 พันล้านบาทและยอดสินเชื่อคงค้างของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์อยู่ที่จำนวน 7.9 พันล้านบาท

บริษัทยังคงสามารถบริหารสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ได้เป็นอย่างดีจากการที่บริษัทใช้มาตรการอนุมัติสินเชื่อที่รอบคอบและจัดเก็บหนี้ที่รัดกุม ณ เดือนมิถุนายน 2565 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รวมของบริษัทยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 2.2% เมื่อเทียบกับระดับ 2.4% ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในส่วนของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้รายใหญ่รายหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้เงินสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รวมของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25.3% ณ เดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 15.8% ในปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายด้านอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์ที่เข้มงวดซึ่งจะช่วยจำกัดผลขาดทุนในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ได้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์เฉลี่ยของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของบริษัทอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำที่ 39%

ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าพอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะลดลง 2% ในปี 2565 และหลังจากนั้นจะขยายตัวที่ระดับ 5% ต่อปีในระหว่างปี 2566-2567 รายได้จากธุรกิจให้บริการทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.4 พันล้านบาทในปี 2565 และจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 พันล้านบาทในปี 2567

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดจำนวน 5.5 พันล้านบาทและวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีก 4.1 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 2.6 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่บริษัทมีภาระในการชำระหนี้เงินต้นจำนวน 4.5 พันล้านบาทและหนี้ระยะสั้นคงค้างอีกจำนวน 1 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีงบลงทุนในปี 2565 จำนวนประมาณ 580 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มูลค่า 5.1 พันล้านบาทซึ่งช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินอยู่ในระดับสูง

ตามเงื่อนไขของหุ้นกู้กำหนดให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายให้สูงกว่า 4 เท่าและอัตราส่วนหนี้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ต่ำกว่า 2 เท่า โดยบริษัทสามารถดำรงอัตราส่วนหนี้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ต่อผลการดำเนินงานของบริษัทส่งผลให้บริษัทไม่สามารถดำรงอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายให้เป็นไปตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับการผ่อนปรนในการดำรงอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าวจากผู้ถือหุ้นกู้สำหรับปี 2564-2566 แล้ว

ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้สินรวมอยู่ที่จำนวน 1.84 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมภาระหนี้จากสัญญาเช่า) โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 3.6 พันล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ไม่มีประกันของบริษัทย่อย ดังนั้น อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับ 19%

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้จะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 9 พันล้านบาทในปี 2565 เป็น 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2567

? อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จะปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 42%-45% ในช่วงปี 2565-2567

? งบประมาณลงทุนรวมซึ่งไม่รวมธุรกิจให้บริการทางการเงินจะอยู่ที่ประมาณ 2.1 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567

? ยอดสินเชื่อคงค้างของธุรกิจให้บริการทางการเงินจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท

? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ในระดับประมาณ 50%-55%

? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากประมาณ 7-8 เท่าในปี 2565 เป็นประมาณ 5-6 เท่าในปี 2566-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ต่อผลประกอบการของบริษัทว่าจะฟื้นตัวตามที่ได้ประมาณการไว้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และยังคาดว่าธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ ทั้งนี้ การที่บริษัทมีแหล่งรายได้จากธุรกิจที่หลากหลายและมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยังช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัทอีกด้วย

?

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและบริษัทสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง หรือบริษัทมีการลงทุนที่มีการก่อหนี้เป็นจำนวนมากซึ่งส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

– อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563

บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MBK27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com

ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html



ส่งหน้านี้ให้เพื่อน