นครมุมไบเตรียมบูรณะห้องเช่าเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

เชย์ลัช แกมบลี (Shailesh Kambli) ชาวเมืองมุมไบ ซึ่งความฝันในวัยเด็กของเขากำลังจะกลายเป็นความจริง ชายวัย 40 ปีคนนี้เป็นรุ่นที่สามของครอบครัวที่อาศัยอยู่ในห้องแคบ ๆ ขนาด 15 ตารางเมตร ร่วมกับกับพ่อแม่ พี่ชาย และพี่สะใภ้

ห้องแบ่งเช่าเหล่านี้อยู่ในอาคารที่ทรุดโทรมซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินประมาณ 370,000 ตร.ม.ในใจกลางเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของอินเดีย ที่ซึ่งอสังหาริมทรัพย์มีราคาแพงที่สุดในโลก

อาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัยชั้นดีรอบ ๆ อาคารที่มีชื่อว่า BDD Chawls นี้ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากเมืองหลวงทางการเงินของอินเดียซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 20 ล้านคน ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ภายใต้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ ห้องเก่า ๆ ซอมซ่อ 16,000 ห้องบนอาคารสี่ชั้นนี้จะถูกรื้อถอนออกไปเพื่อสร้างอาคารสูงที่มีห้องสำหรับอยู่อาศัยขนาด 46 ตารางเมตร

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่ดำเนินการมาอย่างยาวนานด้วยความสำเร็จที่จำกัด โดยมีการรื้อถอนอาคารเก่า ๆ กระท่อม และชุมชนแออัดบนที่ดินที่ทำเลเยี่ยม แล้วแทนที่ด้วยอาคารสูงสำหรับอยู่อาศัย รวมถึงตึกสำนักงานและห้างสรรพสินค้า ซึ่งนักวางผังเมืองบางคนแสดงความกังวลว่าโครงการนี้จะเพิ่มแรงกดดันอย่างมหาศาลในเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่านอยู่แล้วซึ่งยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน

อาคาร BDD Chawls เป็นอาคารห้องพักที่สร้างโดยชาวอังกฤษเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อนสำหรับคนงานอพยพของโรงฝ้ายที่ทอดยาวทั้งสองด้านของทางเดิน ห้องพักส่วนใหญ่ในอาคารนี้จะมีม่านกั้นเพื่อทำเป็นห้องครัว และส่วนที่เหลือเป็นห้องนอนและห้องนั่งเล่น โทรทัศน์จะถูกติดตั้งอยู่เหนือเตียงหรือตรงมุมห้อง ในแต่ละช่วงตึกจะมีห้องน้ำสองห้องสำหรับห้องพัก 20 ห้องใช้ร่วมกัน โดยผู้อยู่อาศัยจะจ่ายค่าเช่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นให้กับรัฐบาล

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมักจะใช้เวลาทั้งวันตรงทางเดินระหว่างห้องที่ใช้แขวนเสื้อผ้าสำหรับตากแห้ง หรือตรงลานด้านนอกเพื่อพูดคุยกันหรือดูแลเด็กเล็ก ในขณะที่คนหนุ่มสาวออกไปทำงาน

สำหรับอาคารห้องพักสมัยใหม่ที่กำลังจะสร้างขึ้นนั้น มี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ และกั้นห้องครัวเป็นสัดส่วน

ปราชานท์ ธาตรัก (Prashant Dhatrak) หัวหน้าวิศวกรโครงการกล่าวว่า ในคอมเพล็กซ์ใหม่นี้จะมีโรงพยาบาล ห้องพักราคาถูก โรงเรียน และสถานออกกำลังกายด้วย อาคารหลังแรกได้เริ่มก่อสร้างขึ้นแล้วและคาดว่าจะพร้อมอยู่ในเวลาสามปี แต่การพัฒนาทั้งหมดจะใช้เวลาเจ็ดปีด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม นักวางผังเมืองบางคนชี้ให้เห็นว่า ในใจกลางของมุมไบนั้น เต็มไปด้วยอาคารสูงอยู่แล้วจนมีการตั้งคำถามว่าจะสามารถรับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการสร้างคอมเพล็กซ์ได้อย่างไร และว่าในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศแห่งนี้ ที่ดินส่วนใหญ่มักถูกส่งมอบให้กับผู้พัฒนาคอมเพล็กซ์สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและในเชิงพาณิชย์แทนการสร้างสวนสาธารณะ

สุลักษณา มหาจันทร์ (Sulakshana Mahajan) สมาชิกของหน่วยสนับสนุนการปฏิรูปเมืองมุมไบ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในปี 2005 และได้มีส่วนร่วมในการยื่นข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาห้องพักใหม่กล่าวว่า การพัฒนาขื้นใหม่นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่จะต้องทำในลักษณะที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เธอกล่าวต่อไปว่า แนวคิดในเบื้องต้นก็คือ การไม่เพิ่มความหนาแน่นในพื้นที่และจำกัดการพัฒนาสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิม แต่ภายใต้แผนการใหม่ มีการก่อสร้างอาคารมากเกินไป พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยต่อคนจะลดลงอย่างมาก และระยะห่างระหว่างตัวอาคารก็น้อยเกินไป นอกจากนี้ยังจะเป็นการสร้างความตึงเครียดอย่างมากในเรื่องการให้บริการต่าง ๆ เช่น น้ำประปา การสุขาภิบาล และการขนส่งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนในตึก BDD Chawls คำถามในเรื่องความยั่งยืนไม่ได้อยู่ในใจของผู้ที่เคยใช้ห้องน้ำรวมมาเป็นเวลานาน แต่เป็นเพียงความรู้สึกคาดหวังเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่าวิถีชีวิตที่หมุนอยู่รอบชุมชนนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อพวกเขาย้ายออกไป

แกมบลีเล่าว่า การอยู่ในตึกนี้ เขาไม่เคยต้องกังวลเกี่ยวกับแม่ของเขาเลย ในขณะที่ทุกคนไปทำงาน ก็จะมีคนคอยดูแลหากแม่ของเขาไม่สบาย หรือแค่ตะโกนเพียงครั้งเดียวทุกคนก็จะมารวมตัวกัน และเมื่อมีงานแต่งงาน งานเฉลิมฉลองต่าง ๆ หรือมีปัญหา ทุก ๆ คนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน

แต่เขาเกรงว่า ที่ตึกใหม่ เมื่อปิดประตูห้องลง ทุกครอบครัวก็จะมีแต่โลกส่วนตัวของพวกเขาเอง โดยไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นข้างในห้องบ้าง


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน