มธ.สร้าง EECmd พัทยา ต้นแบบเมดิคอล วัลเลย์ ประเทศไทย

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กำลังขับเคลื่อนภารกิจสร้าง มธ.ศูนย์พัทยา ให้เป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์พัทยา” หรือ “EECmd” ด้วยแนวคิด “เมืองนวัตกรรมแห่งสุขภาพและเวลเนส” (Thammasat Pattaya : The Health and Wellness Innopolis) ที่บูรณาการความเป็นเลิศทั้งด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บนพื้นที่ 584 ไร่ ณ ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ล่าสุด มธ. จัดงาน THAMMASAT EECmd Vision “Now and Next” พิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) กับองค์กรด้านการแพทย์และวิศวกรรมกลุ่มอุตสาหกรรม HealthTech ทั้งภาครัฐ และเอกชน จำนวน 25 หน่วยงาน เพื่อผนึกกำลังส่งเสริม EECmd เพื่อเป็นต้นแบบเมดิคอลวัลเลย์ (medical valley) แห่งแรกของประเทศ

  • ครม.ไฟเขียวดึงเงินชราภาพในอนาคตมาใช้ เตรียมสำรองเงิน 1.5 แสนล้าน
  • ประกาศฉบับที่ 8 พายุไซโคลน “อัสนี” เตือนฝนตกหนักมาก เสี่ยงท่วมฉับพลัน
  • ราชกิจจาฯประกาศแล้ว นั่งรถด้านหลังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โดนปรับ 2 พันบาท

“รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า EECmd เป็นหนึ่งในโครงการของ มธ. ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม องค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ และสุขภาพ ภายใต้จุดมุ่งหมาย Better Future Beyond Boundaries เพื่อก้าวข้ามพรมแดนแห่งความเป็นสถาบันอุดมศึกษาไปสู่ผู้พัฒนาประเทศ ทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ขณะเดียวกันยังกำหนดเป้าหมายให้ มธ.ศูนย์พัทยา เป็นสมาร์ทซิตี้ และสมาร์ทแคมปัส ขณะนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในการก่อสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา เรียบร้อยแล้ว โดยสร้างให้เป็นโรงพยาบาลดิจิทัลที่มีเครือข่ายศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง และให้บริการชุมชนโดยรอบพื้นที่ EEC พร้อมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และอุตสาหกรรมดิจิทัล

รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา, รศ.เกศินี วิฑูรชาติ, อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย, ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

การดำเนินงานครั้งนี้ มธ.ร่วมมือกับพันธมิตร 25 หน่วยงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub) และพร้อมที่จะเปิดรับข้อเสนอการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การต่อยอด การพัฒนา ศึกษาวิจัย นวัตกรรมการแพทย์มิติใหม่ ด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “4F” ได้แก่

F1 : future workforce สร้างพลังการทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาการศึกษา และการวิจัย

F2 : future workplace พัฒนาที่ทำงานแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้าน digital health

F3 : future life and society สร้างคุณภาพชีวิต และสังคมแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน

F4 : future collaboration พัฒนารูปแบบความร่วมมือแห่งอนาคต ประกอบด้วย กลุ่มความร่วมมือด้านนวัตกรรมการศึกษา การพัฒนาที่ดิน ศูนย์ความเป็นเลิศ และสตาร์ตอัพ

“รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา” รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า มธ.ศูนย์พัทยา คือพื้นที่แห่งอนาคตที่ไม่ใช่แค่แคมปัสการศึกษา แต่แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ ด้านการศึกษา, ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ, ด้านบริการ และด้านที่พักอาศัย จึงมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็น medical valley ต้นแบบของประเทศไทย

“เราจะบูรณาการสร้างระบบการแพทย์แบบครบวงจร ทั้งการผลิตบุคลากร การศึกษาวิจัย การรักษา และการส่งเสริมสุขภาพไว้ในพื้นที่เดียวกัน ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง พัฒนาโรงพยาบาลที่ทันสมัยเพื่อให้บริการชุมชนในท้องถิ่น สอง วางแผนผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล และการดูแลผู้สูงวัย

สาม ศึกษาวิจัยและสร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์ สี่ จัดตั้งศูนย์สุขภาพสำหรับพัฒนาและรองรับการเติบโตด้านการดูแลกลุ่มผู้สูงวัยทั้งในพื้นที่และชาวต่างชาติ และห้า เป็นฐานความร่วมมือกับต่างประเทศและเอกชนเสริมความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ครบวงจร”

มธ.พร้อมเชื่อมต่อการลงทุนกับกลุ่ม HealthTech ชั้นนำระดับโลก ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อลงทุนในพื้นที่ EECmd จำนวนมาก เพราะนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเวลา 11-13 ปี อาทิ การเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้า, การหักลดหย่อนพิเศษ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี

ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกิจการด้วย พร้อมกันนั้นยังมีสิทธิในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพักอาศัยในประเทศไทยพร้อมครอบครัว และสิทธิในการซื้อคอนโดมิเนียมในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 50 อีกด้วย

ดังนั้น การดำเนินงานของ EECmd จะไม่นำเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง แต่ยึดมั่นในปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มองประโยชน์เชิงสังคม แก้ความเหลื่อมล้ำของประเทศเป็นหลัก โดยโฟกัสไปที่ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกต้องได้รับประโยชน์จากการใช้บริการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา

“อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า โครงการ EECmd สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มีการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ Thailand 4.0 ของรัฐบาล เห็นได้ชัดเจนว่า

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) หรือ New Engine of Growth โดยมีแผนยุทธศาสตร์ในการผลักดัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค และยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพและด้านสาธารณสุข พัฒนาบุคลากรและมาตรฐานการให้บริการเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการให้บริการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำหรับการดำเนินงาน medical hub ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญต่อการสนองตอบต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสนับสนุน มธ. และพันธมิตร EECmd ทั้ง 25 องค์กร ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

อันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในแผนปฏิบัติราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี เพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคต และพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การวิจัย ค้นคว้า รวมถึงการต่อยอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้วยการนำระบบดิจิทัลมาสนับสนุนบริการทางสุขภาพ เพื่อสู่เป้าหมายเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างแท้จริง

“ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวเพิ่มว่า พื้นที่ EECmd เป็นหนึ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ขับเคลื่อนนวัตกรรมธุรกิจ health and wellbeing

ซึ่งถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC อันสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศไทยเป็น medical hub ดังนั้น EECmd จึงเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนที่สมบูรณ์แบบ น่าสนใจ มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน

“ตอนนี้ EEC ผลักดันให้เกิดการลงทุนกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ในพื้นที่ภาคตะวันออก อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา การขยายท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นต้น

ดังนั้นการลงนาม MOU ครั้งนี้ จึงเป็นการหลอมรวมพลังและบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทุกมิติ เพื่อสร้างเม็ดเงินลงทุนใหม่หมุนเวียนสู่เศรษฐกิจ จนนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยี การต่อยอดผลิตภัณฑ์ และการเข้ามาใช้บริการของชาวต่างชาติได้ในอนาคต”

EECmd จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการพลิกบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาว่าสามารถก้าวข้ามพรมแดนความรู้ไปสู่การแข่งขันในโลกที่ไร้ขีดจำกัด สร้างฮับที่รวมทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูง โรงพยาบาลดิจิทัล ศูนย์ดูแลสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ในที่แห่งนี้


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน