มาช่วยผู้ว่าฯสร้างเมืองให้เป็นบ้าน

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

ขอแสดงความยินดีกับชาวกรุงเทพมหานครที่ได้ผู้ว่าฯคนใหม่ด้วยคะแนนล้นหลาม ทำให้คนต่างจังหวัดตาร้อนกันไปตามๆ กัน เพราะไม่ได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าฯ อีกทั้งคนกรุงเทพฯยังมีตัวเลือกผู้ว่าฯหลายท่านที่มีคุณภาพสูงและมีนโยบายน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯคราวนี้ได้ส่งสัญญาณหลายอย่างเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นให้กับคนไทยในจังหวัดอื่นๆ และรัฐบาลให้ขบคิดและขับเคลื่อนต่อไป ประการที่หนึ่ง เห็นได้ชัดว่าคน กทม.แยกได้ระหว่างปัญหาระดับชาติและปัญหาระดับท้องถิ่น ไม่ได้ยึดติดพรรคการเมืองเช่นเดียวกับการเมืองระดับชาติ ซึ่งโดยปกติคนกรุงเทพฯ ก็มักจะเลือกพรรคตรงข้ามกับรัฐบาล (เพราะถึงไม่เลือกรัฐบาลรัฐบาลก็ยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาลเพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง) ต่างจากในต่างจังหวัดที่คนต่างจังหวัดมักจะเลือกนักการเมืองท้องถิ่นสำหรับรัฐบาลท้องถิ่น โดยดูจากความใกล้ชิดและความสามารถที่จะดูแลประชาชน ส่วนในระดับชาติ คนต่างจังหวัดมักจะเลือกนโยบายที่ชอบ จึงเลือกพรรคมากกว่าเลือกตัวผู้สมัคร

ประการที่สอง คนกรุงเทพฯ เข้าใจแล้วว่าผู้ว่าฯ มีหน้าที่ให้บริการคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนที่จะมาขายนโยบายระดับชาติที่โก้หรู หรืออุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯก็เป็นคนที่ได้ลงสนามสำรวจกรุงเทพฯ ตรวจทุกซอกทุกมุมมาเป็นเวลาสองปี เป็นคนที่จะมาเป็นผู้ให้บริการประชาชน ยุทธศาสตร์ขายฝันหรือการบลัฟฟ์ประชาชนให้กลัวนั่นห่วงนี่จึงไม่ออกดอกออกผลเป็นคะแนนเสียงแต่อย่างใด ที่เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์มากที่สุดน่าจะเป็นวัฒนธรรมการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ไม่ใช้เงินซื้อเสียง แข่งขันกันด้วยนโยบายและไม่มีการสาดโคลนกัน (อย่างรุนแรง)

แต่วาระของท่านผู้ว่าฯคนใหม่ก็จะมีอายุในเบื้องต้นแค่สี่ปี หากการตัดสินใจเลือกครั้งนี้ของคนกรุงเทพฯ สัมฤทธิผลก็อาจจะได้ต่ออีกสี่ปี ซึ่งนับว่าเป็นเวลาที่ไม่นานนักสำหรับการที่จะแก้ไขปัญหาที่มีใน กทม. ซึ่งนับวันก็จะมากขึ้นทุกที เพราะขนาดของเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้น กทม.เป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเมืองใหญ่ที่สองของประเทศหลายเท่าและสัดส่วนนี้ของกรุงเทพฯ สูงกว่าเมืองใหญ่ๆ ในเอเชีย การศึกษาของแผนงานคนไทย 4.0 ของ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ว่าด้วยอนาคตของคนเมือง กทม.พบว่า กทม.เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงเชิงระบบสูงมากจากการขยายตัวอย่างไม่สมดุล จากปัจจัยภายในและผลกระทบจากปัจจัยระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งมีโอกาสทำให้ กทม.เป็นเมืองหนึ่งในโลกที่จมน้ำ สังคมสูงวัย ครอบครัวที่เล็กลงและครอบครัวที่มีคนอยู่คนเดียวมากขึ้น มีคนแก่ที่อยู่อย่างเดียวดายและชายขอบมากขึ้น ทำให้การเจ็บป่วยและการตายจะเป็นภาระของสาธารณะมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อโลกจริงกับโลกเสมือนทำให้มีความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างสองโลก แม้การอยู่ในเมืองใหญ่จะทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น มนุษย์ กทม.เป็นมนุษย์แพลตฟอร์มมากขึ้น และอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้นก็จริง แต่ก็เสี่ยงต่อการถูกปล้นสะดมและฉ้อฉลทางไซเบอร์มากขึ้นเช่นกัน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคตนี้ต้องการการแก้ไขตั้งแต่ปัจจุบัน หรือต้องการการเตรียมตัวที่จะแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาตั้งแต่ปัจจุบัน

ไตเติลของบทความนี้คือ “การสร้างเมืองให้เป็นบ้าน” ผู้เขียนหยิบยืมมาจากการศึกษา “การอยู่อาศัยในอนาคต” ของอาจารย์ภัณฑิรา จูละยานนท์ และวัชรินทร์ ขวัญไฝ (2565) ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งพบว่าประเด็นน่ากังวลในอนาคตของคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ เกิดจากการพักอาศัยในคอนโดมิเนียมของคนเมืองที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูง เมื่อคอนโดมิเนียมเริ่มเก่าลงและเสื่อมสภาพ ก็จะมีความต้องการเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงสภาพของที่พักอาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนโดมิเนียมราคาประหยัด อีกทั้ง การลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมโดยคนต่างชาติก็ดีหรือผู้มีฐานะก็ดี อาจจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนคอนโดเป็นโรงแรม ทำให้มีคนแปลกหน้าหมุนเวียนเข้ามาอาศัยพักร่วมกับผู้คนมากขึ้น ทำให้ชีวิตในเมืองหลวงในอนาคตมีความเป็นชุมชนค่อนข้างต่ำ นำไปสู่สภาวะการแตกเป็นเสี่ยงๆ ของพื้นที่และสังคมเมือง ทำให้คนเมืองหลวงมีความเปราะบางทางสังคม รวมทั้งตัวของเมืองหลวงเองก็จะมีความเปราะบางเชิงกายภาพมากขึ้น พื้นที่รับน้ำชานเมืองกลายเป็นคอนโดเกิดขึ้นจำนวนมาก ในขณะที่ สาธารณูปโภคและบริการสาธารณะตามไปไม่ทัน ทำให้มีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งทางกายภาพและทางสังคมในอนาคตได้ต่ำลง

นโยบายของผู้ว่าฯคนใหม่ที่จะสร้างเมืองที่มีส่วนร่วมดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะรับมือกับความท้าทายที่ความเป็นชุมชนในเมืองหลวงจะลดลง สำหรับยุทธศาสตร์การสร้างและพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้นอาจารย์ภัณฑิราเสนอแนะยุทธศาสตร์ปลูกเมืองให้เป็นบ้าน คือเติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์ประกอบเมืองเชิงพื้นที่และเชิงสังคม เพื่อสร้างมหานครกรุงเทพให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ในระยะยาวของคนเมือง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารในพื้นที่กลางเมืองที่ยังรกร้าง หรือใช้ไม่เต็มที่ให้สูงขึ้น สนับสนุนทางการเงินให้คนในเมืองเข้าถึงที่อยู่อาศัยมากขึ้น สนับสนุนการอยู่อาศัยแบบร่วมมือที่คนพึ่งพากันได้มากขึ้น ส่งเสริมพื้นที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็กใกล้บ้าน รวมทั้ง การปรับปรุงอุตสาหกรรมในเมือง จากอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีมลพิษไปเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งอยู่บนฐานความรู้และนวัตกรรมซึ่งสร้างมลพิษต่ำ ทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่นด้วย

การศึกษาของ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เสนอยุทธศาสตร์ที่สำคัญสามข้อ ก็คือ หนึ่ง ยุทธศาสตร์การรองรับและส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วม (collective living) การใช้ชีวิตร่วมกันในที่นี้ไม่ได้จำกัดเพียงการอยู่อาศัยร่วมกัน (co-housing) แต่รวมไปถึงการเดินทางร่วมกัน (co-mobility) การทำงานร่วมกัน (co-working) การซื้อของร่วมกัน (co-shopping) และกิจกรรมอื่นๆ ที่คนในเมืองสามารถเลือกทำร่วมกันได้ สอง ยุทธศาสตร์การสร้างปัญญาร่วม (collective wisdom) คือการสร้างระบบสวัสดิการที่เป็นบริการพื้นฐานสำหรับการเสริมสร้างความรู้และทักษะของประชาชนทั่วไป ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของรัฐบาล (open government) การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินของราชการในเมือง พัฒนานโยบายข้อมูลเมือง โดยเฉพาะนโยบายข้อมูลเปิด (open data) ของเมือง ทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านสถาบัน (กฎหมาย มาตรฐาน องค์กร) และสาม ยุทธศาสตร์การปรับสมดุลอำนาจในการต่อรองบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (collective bargaining) โดยการสร้างแพลตฟอร์มแบบสหกรณ์ (cooperative platforms) ที่แรงงานมีหุ้นส่วนอยู่โดยตรง โดยสนับสนุนด้านการเงินและด้านกฎหมายต่างๆ อยู่มาก รวมถึงการปรับปรุงและการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดที่ตามทันกับเทคโนโลยีและรูปแบบการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อเลือกผู้ว่าฯคนใหม่เข้ามาแล้วก็ต้องช่วยกันเข็นอนาคตของ กทม.ขึ้นภูเขาให้ได้ด้วยค่ะ

ดาวน์โหลดเอกสารฟรีที่ www.khonthai4-0.net

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code LINE @Matichon

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก

Line @Matichon ได้ที่นี่

LINE @Matichon


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน