มาเยี่ยมมาเยือนห้างฯ สปป.ลาว หลังยุคโควิดคลี่คลาย

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ผู้เขียนไม่ได้ไปเยือน สปป.ลาว มานานเกือบ 3 ปี เนื่องจากทั้งไทยและ สปป.ลาวต่างปิดด่าน ปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ กระทั่งสถานการณ์คลี่คลาย จึงได้เริ่มเปิดประเทศ

นับตั้งแต่ทางการ สปป.ลาว เปิดด่านสากลทั่วประเทศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามีคนไทยเดินทางข้ามแดนไปยัง สปป.ลาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างหลวงพระบาง และวังเวียง

ผลจากโครงการรถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นมา ก็ทำให้การเดินทางสู่เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมใช้เวลาสั้นลง และมีคนไทยจำนวนไม่น้อย อยากจะสัมผัสความทันสมัยของรถไฟที่นั่น

ช่วงวันหยุดยาว เนื่องในวันแม่แห่งชาติที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางมาเยือน สปป.ลาวอีกครั้ง แต่คราวนี้มาเยือนแค่นครหลวงเวียงจันทน์ เนื่องจากไม่มีเวลาช่วงชิงตั๋วรถไฟลาว-จีน ที่ตอนนี้มีคนต่อคิวจองตั๋วจำนวนมาก

เที่ยวนี้ เราหวังที่จะได้เห็นนครหลวงเวียงจันทน์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ ซึ่งการเดินห้างฯ ประเทศเพื่อนบ้าน แม้อาจจะไม่ได้ซื้อของก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการเปิดโลกอย่างหนึ่งว่า บ้านเขามีอะไรขาย

ก่อนหน้านี้ เคยมีโอกาสไปเดินห้างสรรพสินค้าในนครหลวงเวียงจันทน์อย่างน้อย 3-4 แห่ง ตั้งแต่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างเวียงจันทน์เซ็นเตอร์ ห้างพาร์คสัน ห้างโฮมไอเดียล และที่ห่างจากใจกลางเมืองออกไป อย่างลาวไอเต็ก

แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง



ตลาดค้าปลีกในนครหลวงเวียงจันทน์ช่วงที่ผ่านมา ถือได้ว่าคึกคัก เพราะมีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนกับท้องถิ่น อย่างเช่น M Point Mart ที่เปลี่ยนเป็น มินิบิ๊กซี (Mini Big C) มาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีอยู่ 56 สาขาใน สปป.ลาว

หรือจะเป็น โชคชัยมาร์ท (SOKXAY Mart) ร้านสะดวกซื้อของกลุ่มบริษัทโชคชัย ที่มีหลากหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจก่อสร้าง ตัวแทนจำหน่ายหวย ร้านอาหาร สินเชื่อ ประกันภัย โลจิสติกส์ ฯลฯ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 15 สาขา

ส่วนกลุ่ม ปตท. ที่เข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว ได้เปิดร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ (JIFFY) ปัจจุบันมีอยู่ 13 สาขา ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ปั๊มน้ำมัน PTT และมีบางสาขาตั้งนอกปั๊มน้ำมัน

ไม่นับรวม เซเว่นอีเลฟเว่น ที่กลุ่มซีพีออลล์ของไทย เป็นผู้ถือมาสเตอร์แฟรนไชส์ ใน สปป.ลาว ด้วยสัญญา 30 ปี ที่ผ่านมาได้เปิดรับสมัครงานผู้จัดการร้าน ผู้ช่วยผู้จัดการร้าน และพนักงานร้านไปแล้ว ซึ่งต้องไปเรียนรู้งานที่ประเทศไทย

ขณะที่ห้างสรรพสินค้า พบว่ามีตั้งแต่ห้างฯ ขนาดย่อม ไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ตทันสมัยในศูนย์การค้า ส่วนตลาดค้าปลีกดั้งเดิม อย่างตลาดและร้านชำที่เรียกว่า ร้านแคมทาง ยังคงมีอยู่พบเห็นได้ทั่วไป



หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมๆ ที่ชื่อว่า โฮมไอเดียล (Homeideal) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตสีหอม ที่นั่นจะแบ่งออกเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่น กระเป๋าต่างๆ

ความคลาสสิกของห้างแห่งนี้ก็คือ เป็นห้างที่ไม่มีบันไดเลื่อน เวลาจะขึ้นไปชั้น 2 ก็ต้องเดินขึ้นบันไดไป อารมณ์คล้ายๆ กับห้างตั้งฮั่วเส็ง บางลำพู (แต่ตั้งฮั่วเส็งมีบันไดเลื่อน) หรือศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ราชดำเนินสมัยก่อน

เมื่อ 2 ปีกว่าที่แล้ว ผู้เขียนยังเคยซื้อของกินของใช้ ซื้อของฝาก และกาแฟดาวกลับเมืองไทยที่ห้างนี้ พอมาคราวนี้รู้สึกเศร้าเล็กน้อย เพราะปรากฏว่าเปิดเฉพาะแผนกห้างสรรพสินค้า ส่วนแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นป้ายว่า “ปิดปรับปรุง”



ย้อนกลับมาทางตลาดเช้า เยือน ศูนย์การค้าเวียงจันทน์ เซ็นเตอร์ (Vientiane Center) อีกครั้ง แม้จะเหมือนเดิมแต่เพิ่มเติมตรงที่ด้านข้างกำลังจะมีคอนโดมิเนียมที่ชื่อว่า เวียงจันทน์ ไลฟ์ เซ็นเตอร์ (Vientiane Life Center) สูง 22 ชั้น รวม 712 ยูนิต

เวียงจันทน์ เซ็นเตอร์ เป็นอาคารศูนย์การค้าสูง 4 ชั้น มีพื้นที่รวม 36,823 ตารางเมตร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2558 แบ่งออกเป็นห้างสรรพสินค้าและร้านค้าเช่า ชั้นบนมีโรงภาพยนตร์เมเจอร์ แพลทินัม สาขาแรกใน สปป.ลาว

ร้านค้าหลักในเวียงจันทน์เซ็นเตอร์ ประกอบด้วย เดอะ พิชช่า คัมพานี, ร้านมี่สโตร์ (Mi Store), ร้านมินิโซ (Miniso), ธนาคารร่วมพัฒนา (JDB) ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China)



เดิมเวียงจันทน์ เซ็นเตอร์ มี PINKOM Supermarket จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าแปรรูป แต่ได้ปิดกิจการไปแล้ว ปัจจุบันได้ดึงบริษัทรถไฟลาว-จีน ให้เป็น จุดขายตั๋วรถไฟลาว-จีน เปิดตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงครึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เวียงจันทน์ เซ็นเตอร์ ได้เซ็นสัญญากับ บริษัท โชคทวี เจ้าของ ห้างโชคทวี ซูเปอร์มาร์เก็ต (XOKTHAVY Supermarket) ที่มีอยู่ 8 สาขา เพื่อเปิดสาขาที่ 9 ในนครหลวงเวียงจันทน์

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับบริษัท ป๊อบแอนด์พลอย ช้อป เป็นตัวแทนจำหน่ายแฟชั่นแบรนด์ Jaspal และ Lyn Around รวมทั้งตัวแทนจำหน่ายแฟชั่นแบรนด์ Calvin Klein, Kate Spade และ Suit 21st จะมาเปิดร้านที่นี่เร็วๆ นี้



ถัดจากนั้นจะเป็นอาคารศูนย์การค้ามีป้าย “พากสัน PARKSON” เดิมเข้าใจว่าเป็นศูนย์การค้าพาร์คสัน แบรนด์ห้างสรรพสินค้าดังที่มีสาขาทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

แต่ความจริงอาคารนี้ เรียกว่า นากา มอลล์ (NAGA Mall) เป็นอาคารศูนย์การค้าสูง 6 ชั้น บนพื้นที่โครงการที่มีชื่อว่า เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ (World Trade Center) โครงการมิกซ์ยูสบนพื้นที่รวมกว่า 115,465 ตารางเมตร

เจ้าของโครงการคือ บริษัท ลาว อินเตอร์เนชันแนล ดีเวลอปเมนต์ ประกอบด้วยที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก (นากา มอลล์) ศูนย์การแพทย์ ศูนย์ประชุม และโรงแรมระดับ 5 ดาวของกลุ่มอินเตอร์คอนติเนนตัล (IHG)

ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 อาคาร ได้แก่ นากา มอลล์ และ นากา อพาร์ทเมนต์ (NAGA Apartment) ที่พักอาศัยสูง 24 ชั้น รวม 277 ยูนิต พร้อมสระว่ายน้ำและสถานออกกำลังกายระดับวีไอพี



ส่วน ห้างสรรพสินค้าพาร์คสัน ลาว ปัจจุบันเปิดเฉพาะ พาร์คสัน ซูเปอร์มาร์เก็ต (Parkson Supermarket) และศูนย์อาหาร บริเวณชั้นใต้ดิน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ส่วนพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 2 ถึงชั้น 6 ยังไม่เปิดให้บริการ

แม้ว่าห้างพาร์คสันจะมีต้นกำเนิดจากมาเลเซีย และเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจของ ไลอ้อน กรุ๊ป (LION GROUP) แต่ก็อยู่ภายใต้บริษัทแม่ที่ชื่อว่า พาร์คสัน รีเทล กรุ๊ป สาธารณรัฐประชาชนจีน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

ส่วนห้างพาร์คสัน มาเลเซีย อยู่ภายใต้บริษัท พาร์คสัน รีเทล เอเชีย จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เดิมบริหาร 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา ปัจจุบันเหลือแค่มาเลเซีย 38 แห่ง และเวียดนาม 1 แห่ง

สินค้าที่จำหน่ายในพาร์คสัน ซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากจะมีสินค้าอาหารสด สินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งจากผู้ผลิตรายใหญ่ใน สปป.ลาว เช่น เบียร์ลาว กลุ่มบริษัทดาวเฮืองแล้ว ยังมีสินค้านำเข้าจากไทย จีน และประเทศอื่นๆ

การตกแต่งและสินค้าของพาร์คสัน ซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้นึกถึงกรูเมต์ มาร์เก็ต ในไทย แม้สินค้าจะคนละอย่างกันก็ตาม ที่น่าตื่นตาตื่นใจคงจะเป็นกาแฟกระป๋องและกาแฟขวดสตาร์บัคส์ มีขายที่นี่ สนนราคาเริ่มต้นที่ 30,000 กีบ



สำหรับร้านค้าในศูนย์การค้านากา มอลล์ ที่เปิดให้บริการเฉพาะชั้น B และชั้น G พบว่ามีร้านฟาสฟู้ดส์อันดับ 1 ในเกาหลีใต้อย่าง ลอตเตอเรีย (LOTTERIA) ก็เปิดสาขาบริเวณประตูใหญ่ ชั้น 1

ผู้บริหารร้านลอตเตอเรียใน สปป.ลาว ก็คือกลุ่มบริษัทโชคชัย (SOKXAY GROUP) มี 4 สาขาในนครหลวงเวียงจันทน์ ได้แก่ ดงโดก สีบุญเรือง สีหอม และพาร์คสัน และล่าสุดกำลังจะเปิดสาขาที่ 5 ที่เมืองหลวงพระบาง

อีกฝั่งหนึ่ง คือร้านกาแฟและเบเกอรีสไตล์ตะวันตก “โจมา” (JOMA) ที่มีจุดเด่นคือ ขนมอบ และกาแฟอาราบิกาที่ปลูกใน สปป.ลาว ปัจจุบันมี 5 สาขาในนครหลวงเวียงจันทน์ และ 2 สาขาในเมืองหลวงพระบาง

ส่วนร้านที่กำลังจะเปิดในเร็วๆ นี้ คือร้านกาแฟ สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ สาขาแรกใน สปป.ลาว บริเวณชั้น 1 ของห้างพาร์คสัน โดยมีบริษัท คอฟฟี่ คอนเซปต์ (ลาว) จำกัด ในเครือแม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ ลิมิเตด จากฮ่องกง เป็นผู้บริหาร



มาถึงศูนย์การค้าที่อยู่ชายขอบนครหลวงเวียงจันทน์ อย่าง ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าลาวไอเต็ก (LAOS ITECC) และ ไอเต็ก มอลล์ (ITECC MALL) ซึ่งมีแมกเนตหลักอย่าง สกาย ซูเปอร์มาร์เก็ต บริเวณชั้นใต้ดิน

การเดินทางไปลาวไอเต็กช่วงนี้จะลำบากหน่อย เพราะรถเมล์สาย 10 ตลาดเช้า-ลาวไอเต็ก ยังไม่เปิดให้บริการ ต้องใช้บริการรถสามล้อ ขาไป 50,000 กีบ ขากลับ 100,000 กีบ แถมยังต้องฝ่ารถติดผ่านสี่แยกบึงธาตุหลวง

ระหว่างทางสังเกตได้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง อาคารสูง คอนโดมิเนียม เริ่มมีให้เห็น รวมทั้งมีโรงแรมระดับห้าดาว เดอะคิวบ์ โฮเทล แอนด์ สวีท (The QUBE Hotel & Suite) เปิดให้บริการเมื่อปี 2562

แม้ว่าร้านค้าในไอเต็กจะเปิดแบบไม่เต็มร้อย แต่ที่นี่ก็เป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์ต่างๆ มีผู้คนเดินทางเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย แต่ละคนล้วนแล้วแต่นำรถส่วนตัวมาทั้งนั้น ใกล้กันจะมีสวนน้ำที่ชื่อว่า โอเชี่ยนพาร์ค เวียงจันทน์

อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ของไทย กำลังจะมีโครงการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ที่ย่านไอเต็ก โดยได้ เปิดให้จองพื้นที่ศูนย์อาหารล่วงหน้า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

ภาพ : Latsavong plaza

มองออกไปนอกหน้าต่าง จะเห็นอาคารสูงที่อยู่ไกลสุดลูกหูลูกตา ตรงนั้นเรียกว่า โครงการราชวงศ์พลาซา (Latsavong Plaza) ตั้งอยู่บนถนนไกสอนพมวิหาน ใกล้กับหอประชุมแห่งชาตินครหลวงเวียงจันทน์

โครงการราชวงศ์ พลาซา เป็นการร่วมทุนระหว่างลาวกับจีน ประกอบด้วยโรงแรม สูง 33 ชั้น ความสูง 138 เมตร ซึ่งจะสูงที่สุดในนครหลวงเวียงจันทน์ อาคารที่พักอาศัยสูง 20 ชั้น อาคารสำนักงานสูง 20 ชั้น และช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ 6 ชั้น

เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2557 แม้ว่าโครงสร้างจะแล้วเสร็จ กำลังตกแต่งภายในและภายนอก แต่ได้หยุดการก่อสร้างไปเมื่อปี 2561 กระทั่งเริ่มกลับมาก่อสร้างอีกครั้งในปี 2564 ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล สปป.ลาว

โดยมีแผนที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 เพื่อรองรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ที่ สปป.ลาวจะเป็นเจ้าภาพต่อจากอินโดนีเซียในปี 2567 หรืออีก 2 ปีข้างหน้านี้เอง



สปป.ลาว ยังมีห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ มีทั้งกลุ่มทุนจากจีน ไทย และเวียดนาม เข้ามาร่วมลงทุน แม้ว่าสินค้าที่ผลิตใน สปป. ลาวจะมีเพียงเล็กน้อย กว่าครึ่งของสินค้าอุปโภคบริโภค มาจากการนำเข้าก็ตาม

เมื่อมองมายังประเทศไทย แม้จะมีห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อมากกว่า แต่เมื่อผู้ผลิตสินค้าในไทย ผูกขาดเฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ความหลากหลายของสินค้าจึงไม่ค่อยได้พบเห็น

แต่สำหรับ สปป.ลาว เมื่อสินค้าไทย จีน และเวียดนาม รวมตัวในห้างร้านเดียวกัน จึงเป็นชุมทางของสินค้าที่หลากหลาย โดยเฉพาะสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาด เช่น นมกระป๋องแดงหวังจือ น้ำสมุนไพรหวังเล่าจี๋ หรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป

ขณะที่สินค้าไทยที่จำหน่ายใน สปป.ลาว พบว่าราคาสูงกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง จึงได้เห็นชาวลาวนิยมข้ามฝั่งมาซื้อสินค้าจากไทย ก่อนจะมีมาตรการเรียกเก็บภาษี 10% สำหรับคนที่หิ้วสินค้าเกิน 1,500 บาทไทยเข้ามา



แต่สำหรับสินค้าที่ผลิตใน สปป.ลาว ราคาไม่สูงนัก ถ้าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งลดแลกแจกแถม ซึ่งประเทศไทยทำไม่ได้ แต่ถ้าจะซื้อกลับไทยไม่แนะนำ เพราะกรมศุลกากรของไทย จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าประเทศไม่เกิน 1 ลิตร

แนะนำว่าเวลาไปซื้อของที่ สปป.ลาว ให้ใช้เงินกีบแทนเงินบาท เพราะจะถูกกว่าชำระด้วยเงินไทย ส่วนการใช้บัตรเครดิตตามซูเปอร์มาร์เก็ต ควรสอบถามแคชเชียร์ก่อน เนื่องจากบางแห่งจะบวกค่าบริการเพิ่มอีก 3% และมีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5%

การเข้าไปเที่ยวชมห้างฯ ใน สปป.ลาวนานๆ ครั้ง นอกจากจะได้เห็นการลงทุนของกลุ่มทุนต่างๆ แล้ว ยังได้รู้ว่าสินค้าไทยตัวไหนได้รับความนิยม ถึงขั้นวางขายใน สปป.ลาว และสินค้านำเข้ามาใน สปป.ลาว ที่อาจไม่ได้พบเห็นในไทย

อย่างน้อยได้มาเห็นความเปลี่ยนแปลงและการเติบโต ของเมืองหลวงแห่งนี้ ที่จะก้าวสู่วิถีชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน