สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) แห่งกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขจีดีพี “ล่วงหน้า” ประจำไตรมาสที่ 2/2022 ติดลบ 0.9% ขณะจีดีพีในไตรมาสก่อนหน้าติดลบ 1.6%
ตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้น เมื่อจีดีพีติดลบต่อเนื่องสองไตรมาสจะถือเป็นการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession)
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยตกอยู่ในสภาวะเดียวกันช่วง ไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2020
ตัวเลขล่าสุดที่ประกาศออกมานั้นเป็นการประเมินจากแหล่งข้อมูลที่ยังต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติม และจะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีอีกครั้งจากข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้นในวันที่ 25 ส.ค.ที่จะถึงนี้
ปัจจัยสำคัญที่ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาจากการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนด้านที่อยู่อาศัย และการใช้งบประมาณภาครัฐที่หดตัว อย่างไรก็ดีภาคการส่งออกทั้งสินค้าและบริการปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลที่ปรับตัวดีขึ้น
รายงานระบุว่า รายได้ส่วนบุคคลอ้างอิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 353,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่สอง เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นในระดับ 247,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสแรก โดยสาเหตุสำคัญมาจากอัตราค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ระดับเงินออมรวมในไตรมาสที่สองนี้ลดลงมาเหลือ 968,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากไตรมาสแรกที่ 1.02 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขึ้นดอกเบี้ย
เมื่อ 27 ก.ค. ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ หรือเฟด ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ ปรับขึ้นอีก 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระหว่าง 2.25% ถึง 2.5%
เฟดได้ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มี.ค. เพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ หลังราคาสินค้าสำคัญ เช่น ราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ
รายงานหลายฉบับในช่วงไม่กี่เดือนมานี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้บริโภคที่ลดลง รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว อัตราว่างงานพุ่งสูง และเศรษฐกิจหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
ผู้สังเกตการณ์หลายคนคาดการณ์ว่า ตัวเลขในสัปดาห์นี้จะแสดงให้เห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวลงอีกต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2
เจโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แถลงข่าวยอมรับว่า เศรษฐกิจบางส่วนกำลังชะลอตัวลง และส่งสัญญาณว่าเฟดมีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้ เพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี
“เศรษฐกิจจะไปต่อไม่ได้ ถ้าราคาสินค้าไม่มีเสถียรภาพ” พาวเวลล์ กล่าว
“เราจำเป็นต้องกดเงินเฟ้อให้ต่ำลง…นี่จึงเป็นมาตรการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
เงินเฟ้อสหรัฐฯ หนักแค่ไหน
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งสูงถึง 9.1% เมื่อเดือนที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่สูงขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเพดาน 2% ที่เฟดกำหนดไว้ และถือเป็นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเร็วสุดนับแต่ปี 1981
ในช่วงปี 1981 เฟดต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 15% ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยยาวนานกว่า 1 ปี
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 แล้ว นับแต่เดือน มี.ค. ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงและถี่ จากที่แทบไม่ค่อยขึ้นมากเกิน 2% นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008
ขึ้นดอกเบี้ย ลดเงินเฟ้อได้อย่างไร
อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นช่วยควบคุมเงินเฟ้อด้วยการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมเงิน ผลักดันให้ประชาชนและภาคธุรกิจกู้เงินน้อยลงและใช้จ่ายน้อยลง
ตามทฤษฎีแล้ว นั่นหมายความว่าอุปสงค์ก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นช้าลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ลดลง
แต่การควบคุมเงินเฟ้อ “ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เราไม่ต้องทำถึงขั้นนั้น” พาวเวลล์ เสริม
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เตือนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย บริษัทด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง ที่เคยได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่ต่ำในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้ประกาศลดพนักงาน หรือชะลอการจัดซื้อจัดจ้าง
ปิแอร์-โอลิวิเอร์ เการินชาส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของไอเอ็มเอฟ ยอมรับว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ และของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกเสียจากขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ช่วงเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งยุโรป หรืออีซีบี ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 11 ปี ส่วนธนาคารกลางแห่งอังกฤษได้ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับอีกหลายสิบประเทศทั่วโลก
ไทยขึ้นดอกเบี้ย 10 ส.ค. นี้ ?
ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับสูงถึง 7.66% และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นอีก ไทยนั้นถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมาก และปรับอัตราดอกเบี้ยช้าที่สุด โดยยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเลยในปีนี้ โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. กำหนดให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด บอกบีบีซีไทยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของไทย น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.50% ในการประชุมวันที่ 10 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เนื่องจำนวนการประชุมมีระยะห่าง “เวลาทำอะไรต้องมีนัยสำคัญ”
ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.25% มาตั้งแต่ 20 พ.ค. 2020 โดยในปีนั้น กนง. มีมติลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ๆ ละ 0.25% เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และเพื่อให้สอดรับกับมาตรการด้านการคลัง การเงินและสินเชื่อของรัฐบาลที่ออกไปก่อนหน้านี้
ถัดจากการแถลงผลประชุมในวันที่ 10 ส.ค. นี้ กนง.จะมีประชุมและแถลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ คือ 28 ก.ย. และ 30 พ.ย.
ดร.จิติพล อธิบายถึงสาเหตุสำคัญของการต้องขึ้นดอกเบี้ยว่า ปัญหาเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นจากราคาพลังงานเป็นหลัก ยิ่งเมื่อไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันและราคาสูงขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จึงไม่แปลกที่ราคาสินค้าและบริการจะปรับตัวสูงขึ้นด้วย
เขาอธิบายว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนเช่นนี้ ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติช่วยอะไรมากไม่ได้ เพราะ “ขึ้นไปน้ำมันก็ไม่ลง”
แต่สาเหตุที่แบงก์ชาติจำเป็นต้องขึ้นเพราะหากปล่อยให้ไปโดยไม่ทำอะไรเลย “ก็จะเกิดวิกฤตศรัทธาต่อแบงก์ชาติอีก”