สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 9-15 ก.ค. 2565

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

นายกฯ พอใจไทยได้โควตาส่งแรงงานทำงานรัฐอิสราเอลเพิ่มขึ้นจากมาตรการรับมือโควิด-19 ของรัฐบาล ทักษะและความรับผิดชอบของแรงงานไทย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อความก้าวหน้าในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคเกษตรของรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) ซึ่งในปี 2565 ไทยได้จัดส่งแรงงานแล้วทั้งสิ้น 3,759 คน โดยนายกรัฐมนตรีให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและอำนวยความสะดวก พร้อมหาแนวทางขยายตลาด เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานไทยในตลาดโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 ประเทศไทยได้รับโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคเกษตรของรัฐอิสราเอล จำนวน 6,800 คน เพิ่มขึ้น 1,800 คน จากปีงบประมาณ 2564 ที่ได้โควตาทั้งหมด 5,000 คน ทั้งนี้ เนื่องจากชื่อเสียงไทยมีมาตรการบริหารจัดการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดี รวมถึงแรงงานไทยมีทักษะและความรับผิดชอบ เป็นที่ต้องการของนายจ้างในรัฐอิสราเอล ทำให้มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แรงงานไทยจะได้รับการอบรมคนหางานก่อนการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ และจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกล หรือประมาณ 54,852 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ซึ่งหากทำงานจนครบสัญญาจ้างงานสูงสุด 5 ปี 3 เดือน จะมีรายได้มากกว่า 3 ล้านบาทต่อคน

“นายกฯ ย้ำความสำคัญของภาคแรงงานซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และนำรายได้จากต่างประเทศเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทย โดยชื่นชมทุกหน่วยงานที่ได้ดำเนินตามแนวนโยบาย ที่รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยในทุกมิติ เพื่อสร้างความพร้อมต่อการทำงานในศตวรรษที่ 21 และเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้แรงงานไทยที่ไปทำงานยังรัฐอิสราเอลทำงานด้วยความตั้งใจ ขยันขันแข็ง ปฏิบัติตามสัญญาจ้างและกฎหมายของรัฐอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาพัฒนาประเทศ และตนเองต่อไป” นายธนกร กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/7/2565

ม.มหิดล ตีแผ่ปัญหาแรงงานย้ายถิ่นระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตคนข้างหลัง แนะใช้พลังเสริมจากครอบครัวขยายช่วยเยียวยา

ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำให้สังคมไทยมีพัฒนาการที่ซับซ้อนหลากหลาย ซึ่งดำเนินไปถึงครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวข้ามรุ่น

รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 เด็ก 0-17 ปี ร้อยละ 23 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่เนื่องจากพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ซึ่งพบว่าทำให้ลูกต้องเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งนับเป็นปัญหาระดับโลก โดยสถาบันฯ ได้ให้ความสำคัญและสนใจประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อการหาแนวทางในการแก้ไขโจทย์ทางสังคมระดับโลกดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมา

เมื่อศึกษาลึกลงไปพบอีกว่า กรณีที่แม่ไม่อยู่กับครอบครัว ส่งผลกระทบมากกว่าพ่อไม่อยู่ นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยใช้ระเบียบวิธี “วิจัยแบบผสมผสาน” ที่เน้นทั้งปริมาณและคุณภาพ

ซึ่งจากการศึกษาวิจัยโดย ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ดุษฎีบัณฑิตของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ข้อมูลที่มีกลุ่มตัวอย่าง 1,000 ครัวเรือน พร้อมลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูล “แม่แรงงานย้ายถิ่น” ในต่างแดนด้วยตัวเอง ทำให้ได้มุมมองซึ่งสามารถผลักดันสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายที่เป็นธรรมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานย้ายถิ่น และครอบครัวแรงงานย้ายถิ่นได้ต่อไป

จุดที่น่าสนใจ คือ แม้จะใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยคอยเติมเต็มความสัมพันธ์ที่ห่างไกล แต่ก็ไม่เทียบเท่าการได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง “ครอบครัวขยาย” ที่มีปู่-ย่า-ตา-ยายอยู่ด้วย จะเป็นที่พึ่งในภาวะดังกล่าวได้ดีที่สุด

การศึกษาของ ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ยังพบอีกว่า ในภาวะที่พ่อหรือแม่ต้องไปทำงานในต่างประเทศ เด็กผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพจิตและพฤติกรรมมากกว่าเด็กผู้หญิง เช่น ภาวะสมาธิสั้น และพฤติกรรมเกเร เนื่องจากขาดrole model หรือต้นแบบในการดำเนินชีวิต โดยเด็กผู้ชายส่วนใหญ่มักเกรงใจพ่อและเรียนรู้ตัวแบบที่ดีจากพ่อ และแม้ลูกจะได้อยู่กับปู่-ย่า-ตา-ยาย เมื่อพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานไกลบ้าน แต่ในยามที่ครอบครัวขยายต้องประสบปัญหา ก็ไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับการที่เป็นพ่อแม่ดูแลลูกด้วยตัวเอง

ด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสัญญาจ้างงานแรงงานย้ายถิ่นจะเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัวในประเทศต้นทาง ซึ่งการใช้ความเห็นอกเห็นใจในการปรับเปลี่ยนข้อตกลงสัญญาว่าจ้าง ที่ส่งเสริมสวัสดิการ และเอื้อให้ครอบครัวแรงงานย้ายถิ่นได้กลับไปพบหน้ากันมากขึ้น จะทำให้แรงงานย้ายถิ่นมีกำลังใจ ทั้งในการปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิต ในขณะเดียวกันนายจ้างยังคงสามารถรักษาแรงงานย้ายถิ่นที่ดีมีคุณภาพเอาไว้ได้เช่นเดิม ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้มวลรวมของทั้งประเทศต้นทางและปลายทางต่อไปได้อีกด้วย

ทำให้การวิจัยซึ่งใช้ชื่อว่า “ผลกระทบจากการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของแรงงานไทยต่อสุขภาพจิตของครอบครัวและประเทศต้นทาง : สถานการณ์การสูญเสียการดูแลและการส่งต่อภาระการดูแลของครัวเรือนที่มีการย้ายถิ่นในประเทศไทย” ผลงานโดย ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ2564 รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาสังคมวิทยา จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ไปครองได้ในที่สุด

แม้อ้อมอกของพ่อแม่จะอยู่แสนไกล และปู่-ย่า-ตา-ยายจะไม่สามารถแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็อุ่นใจกว่าการที่เด็กต้องโตขึ้นมาเพียงลำพังในช่วงวัยที่ต้องการใครสักคน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมทำหน้าที่เชื่อมต่อ โดยหวังให้เกิดผลกระทบที่เป็นประโยชน์ซึ่งสอดคล้องต้องกันในประชากรทุกกลุ่ม เพื่อการบังเกิดผลสู่ความยั่งยืนได้ต่อไปในที่สุด

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 14/7/2565

สมัครงานอิสราเอล 2565 อาชีพเกษตร หางานต่างประเทศ ก.แรงงาน ถูกกฎหมาย เงินเดือน 54,852 บาท ทำงานครบ 5 ปี รายได้มากกว่า 3 ล้าน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2565 กระทรวงแรงงานจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรรัฐอิสราเอล ทั้งสิ้น 3,759 คน โดยมีแรงงานไทย จำนวน 266 คนเดินทางไปทำงานภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) แบ่งเป็นเพศชาย 265 คน และเพศหญิง 1 คน ด้วยเครื่องบินโดยสารเที่ยวบินที่ LY 084 ของสายการบินแอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ จำนวน 148 คน และ เที่ยวบินที่ EY407 เพื่อต่อเครื่องเที่ยวบิน EY598 ของสายการบิน เอทิฮัด แอร์เวย์ จำนวน 118 คน

ในเดือน ก.ค. 2565 นี้ กรมการจัดหางาน ยังมีแผนการจัดส่งรวมตลอดเดือน ประมาณ 370 คน แรงงานไทยจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกล หรือประมาณ 54,852 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 ก.ค. 2565) ซึ่งหากทำงานจนครบสัญญาจ้างงานสูงสุด 5 ปี 3 เดือน จะมีรายได้มากกว่า 3 ล้านบาทต่อคน แรงงานไทย จำนวน 266 คน ต้องเข้ารับการอบรมก่อนเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล

สำหรับผู้สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่ เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: TNN, 14/7/2565

เร่งนำเข้าแรงงานรับ เศรษฐกิจฟื้น หอการค้าชี้อุตสาหกรรมขาดอีก 5 แสน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น 5 แสนคน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อไทยมาตั้งแต่ปี 2562

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศ ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน 15 ฉบับ

ซึ่งจากนี้สมาชิกหอการค้าไทย สมาคมการค้า และผู้ประกอบกิจการทั่วประเทศ ควรนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้มีแรงงานที่เพียงพอต่ออุตสาหกรรม ทั้งนี้ มติ ครม.เป็นไปตามข้อเสนอ 6 ด้าน ต่อการแก้ไขปัญหาการขาดแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ที่คณะกรรมการเสนอต่อกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติที่ ครม.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ยังมีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประสงค์จะทำงานอย่างถูกต้อง ให้สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2566

หากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2568 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้สำรวจข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการ พบว่ายังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน

2.เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566 แล้ว และประสงค์ทำงานต่อไป ประมาณ 1,690,000 คน สามารถอยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2568 ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มมติ ครม. 29 ธ.ค. 2563, กลุ่มมติ ครม. 13 ก.ค. 2564 และกลุ่มมติ ครม. 28 ก.ย. 2564 โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 กลุ่ม

คือ กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ภายในวันที่ 1 ส.ค. 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 โดย ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการตรวจลงตรา ที่เดิมสิ้นสุดวันที่ 1 ส.ค. 2565 ไปจนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566

และกลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ภายหลังวันที่ 1 ส.ค. 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการ ตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 ทั้งนี้ การดำเนินการของคนทั้ง 2 กลุ่มจะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังจากประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว

“ตอนนี้มีผู้ประกอบการยื่นขอนำเข้าแรงงาน รวม 277,000 คน ผ่านด่านชายแดน 5 แห่ง ปัจจุบันนำเข้าได้ 20,000 คน ที่ช้าเพราะติดเรื่องโควิด แต่หลังจากเปิดประเทศผ่อนคลายมาตรการโควิด จะช่วยให้การนำเข้าแรงงานสะดวกขึ้น โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาคาดว่าจะมีการนำเข้า 1 แสนคน ภายในสิ้นปีนี้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/7/2565

ครม.รับทราบมติที่ประชุมบอร์ดสับปะรดแห่งชาติ จ้างแรงงานข้ามชาติระยะสั้น 1 ปี แก้ปัญหาขาดแรงงานในอุตสาหกรรมสับปะรด

12 ก.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กล่าวคือ สถานการณ์สับปะรดโรงงาน ปี 2565 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 1.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 2.68 โดยยอดการส่งออกปี 2565 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2565 จำนวน 140,019 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 8.05

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการสับปะรด ปี 2565 ขับเคลื่อนโดยกลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด และคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด บริหารจัดการ Demand และ Supply ภายในจังหวัด ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมสับปะรดนั้น กำหนดให้มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวระยะสั้น (เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) คราวละไม่เกิน 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในหลายด้าน อาทิ 1)จัดหาแหล่งเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกสับปะรดกับกรมส่งเสริมการเกษตรและทำข้อตกลงซื้อขายกับโรงงาน 2)สนับสนุนการร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสับปะรดล้นตลาด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 12/7/2565

ก.แรงงาน-เอกชน ร่วมสนับสนุนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติรองรับฟื้นฟูประเทศ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นวงกว้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทรัพยากรแรงงาน ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ภาคการส่งออก ภาคการผลิต การแปรรูปสินค้าวัตถุดิบในประเทศ และภาคท่องเที่ยวและบริการ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมมากกว่า 5 แสนคน เพื่อรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น

ดังนั้น หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงแรงงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ไปเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 65 โดยมีประเด็นข้อเสนอ ดังนี้

1. เร่งรัดให้มีการนำทรัพยากรแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในประเทศ มาขึ้นทะเบียนแรงงานใหม่ในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเข้มข้น และเพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน

2. กำหนดแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ลงนามบันทึกความตกลง (MOU) สัญชาติเมียนมาชุดใหม่จากประเทศต้นทางอย่างเร่งด่วน

3. กำหนดหลักเกณฑ์การเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานต่างด้าวแต่ละกลุ่ม ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันผลกระทบของนายจ้างรายเดิม

4. จัดทำระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าว MOU เพื่อให้สามารถตรวจสอบและควบคุมแรงงานต่างด้าว

5. ประสานงานประเทศต้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาและขยายระยะเวลาการต่ออายุ Passport & Visa ของแรงงานต่างด้าว MOU ที่ทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยการนำบัตรสีชมพูของแรงงานต่างด้าว มาเป็นหลักฐานใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนแทน Passport & Visa ของแรงงานต่างด้าว MOU

6. ประสานงานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อให้ระบบออนไลน์การรับแจ้งอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วันให้สามารถใช้ได้จริงครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัด พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สตม. (Hot Line) เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของผู้ประกอบการ ที่ไม่สามารถใช้ระบบออนไลน์แจ้งรายงานตัว 90 วัน

นายพจน์ กล่าวว่า หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมหารือและขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 ครม. ได้เห็นชอบเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศ ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน จำนวน 15 ฉบับ แล้ว

“ในนามหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, รมว.แรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมาตรการเชิงรุกต่างๆ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาการแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน” นายพจน์ กล่าว

พร้อมประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และสมาคมการค้า และผู้ประกอบกิจการทั่วประเทศ นำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนตามระบบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน โทร 1694

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้วางแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ยังมีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประสงค์จะทำงานอย่างถูกต้อง ให้สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66 โดยหากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 68 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้สำรวจข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการพบว่า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน

2. เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แล้วและประสงค์ทำงานต่อไป ประมาณ 1,690,000 คน สามารถอยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 68 ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มมติ ครม. 29 ธ.ค. 63, กลุ่มมติ ครม. 13 ก.ค. 64 และกลุ่มมติ ครม. 28 ก.ย. 64 โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 กลุ่ม คือ

– กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายในวันที่ 1 ส.ค. 65 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 68 โดยครม. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการตรวจลงตรา ที่เดิมสิ้นสุดวันที่ 1 ส.ค. 65 ไปจนถึงวันที่ 13 ก.พ. 66

– กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายหลังวันที่ 1 ส.ค. 65 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการ ตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 ก.พ. 68

อย่างไรก็ดี การดำเนินการของคนทั้ง 2 กลุ่ม จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ หลังจากประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 12/7/2565

ผู้ว่าฯ กทม. สัญจรเขตบางบอน ระบุมีปัญหาการจราจรแยกบางบอน 5 รวมถึงปัญหาน้ำท่วม ย้ำพนักงานกวาดช่วยแจ้งเหตุต้องชมเชย

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาเขตบางบอน ซึ่งเป็นการลงผู้ว่าสัญจร ครั้งที่ 4 พบปัญหาการจราจรบริเวณแยกบางบอน 5 เป็นพื้นที่ที่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ใช้ถนนเอกชัยบางบอนเป็นหลัก เมื่อไปถึงถนนวงแหวน-บางบอนเป็นจุดคอขวด ซึ่งไม่มีทางเข้าออกถนนที่สะดวก และมีถนนบางบอน 3 กับถนนบางบอน 5 ที่การจราจรติดขัดตลอดเส้นทาง

เบื้องต้น กทม.ได้จัดสรรงบประมาณมาขยายสะพานเพื่อปัญหาคอขวดจากถนน 2 เลนให้เป็น 4 เลนทั้งสองจุด เพื่อให้รถสามารถระบายไปที่หนองแขมได้ดีขึ้น และจะหารือกับกรมทางหลวงอีกครั้งเพื่อหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากการจราจรเป็นปัญหาสำคัญ

ส่วนปัญหาน้ำท่วม พื้นที่เขตบางบอนมีคลองจำนวนมากกว่า 30 คลอง ภายในพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้องทำการลอกคลอง ที่ผ่านมามีบางคลองที่นานๆ จะลอกคลองสักครั้ง รวมถึงการลอกท่อระบายน้ำ โดยมีบางหมู่บ้านที่เป็นปัญหาน้ำท่วมขังนาน

นอกจากนี้ เขตบางบอนมีชุมชนที่จัดตั้งตามระเบียบเพียง 12 ชุมชน และมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถจัดตั้งได้ เนื่องจากยังไม่ตรงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทำให้ความช่วยเหลือต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือตรงตามกฏหมาย โดยจากนี้จะพิจารณามาตรการว่าจะสามารถเพิ่มชุมชนเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบได้อย่างไร ส่วนเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ ฝ่ายบริหารจะรับปัญหาไปเพื่อหาทางดำเนินการแก้ไข

ส่วนการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ในพื้นที่บางบอน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเส้นเลือดฝอย เช่น ถนนไม่เรียบร้อย ปัญหาท่อระบายน้ำและการลอกคูคลอง ซึ่งต้องบริหารจัดการให้มีความสมดุลระหว่างโครงการขนาดใหญ่และเส้นเลือดฝอย เช่น อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำต้องสมดุลกับการระบายน้ำของท่อระบายน้ำในชุมชน

ผู้ว่าฯ กทม. ระบุอีกว่า ส่วนเรื่องพนักงานกวาดที่แจ้งเหตุถือว่าทำความดี ไม่ควรไปเอาผิดกับผู้แจ้ง เพราะเป็นการนำความเดือดร้อนของชาวบ้านมาบอก ซึ่งพนักงานฝ่ายรักษาฯ ที่มีจำนวนกว่า 10,000 คนจะช่วยดูแลปัญหา เช่น เมื่อพบเห็นจุดไหนที่มีปัญหาน้ำท่วมก็แจ้งเข้ามา ทั้งเรื่องท่อระบายน้ำ ความปลอดภัย ไฟฟ้าส่องสว่าง และทางม้าลาย เป็นปัญหาจุดย่อย ๆ ที่บางทีเข้าไม่ถึง

“ต้องขอบคุณที่เค้าช่วยแจ้ง มีคนกังวลว่าคนที่มาแจ้งจะได้รับผลกระทบ จริงๆ แล้วต้องชมเชยและให้รางวัลเขาที่นำข้อเท็จจริงมาบอกเราโดยสุจริตใจ”

ที่มา: Thai PBS, 11/7/2565

รมว.แรงงาน ห่วงใยลูกจ้าง JSL กำชับ กสร. เร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา เตรียมหลักฐานยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ ครบกำหนดเงื่อนเวลาอนุมัติจ่ายทันที

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า เคส JSL เลิกจ้างลูกจ้างนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ส่งความห่วงใยผ่านมายังผม โดยฝากให้เร่งรัดการดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว พร้อมทั้งหาทางช่วยเหลือเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างกลุ่มนี้ ในเบื้องต้น ตนจึงได้กำชับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เร่งดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว นายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด หรือเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ รวมทั้งนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ให้ลูกจ้าง JSL ยื่นเอกสารคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ทันที เพื่อเป็นการทำงานคู่ขนานกันไป โดยในวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม 2565 นี้ กสร. ให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 (สรพ.4) เปิดทำการอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้าง JSL กรอกข้อมูลยื่นเอกสารแบบคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเอกสารประกอบการดำเนินการต่อไป

ด้านนายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวต่อไปว่า กสร. ได้ให้ สรพ. 4 เปิดบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้าง JSL ที่มายื่นเอกสารแบบคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยพนักงานตรวจแรงงานชี้แจงให้ทราบขั้นตอนการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ฯ ว่าจะมีผลเมื่อใด และมีเอกสารใดประกอบบ้าง เพื่อเป็นการทำงานคู่ขนานตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวไว้ ซึ่งหากพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว ให้ สรพ.4 เร่งดำเนินการรวบรวมเสนอ กสร. ให้ความเห็นชอบอนุมัติจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์แก่ลูกจ้างทันที

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 10/7/2565

หนุนแรงงานราชทัณฑ์ ให้มีงานทำไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ในนิคมอุตสาหกรรม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการฯ กนอ. กล่าวว่า กนอ.ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอพื้นที่ เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 มีบริษัท ศิวาชัย ยื่นความประสงค์ขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ในจ.สมุทรสาคร ซึ่งบริษัท มีแนวคิดพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ตามแนวทางความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. ที่รับทราบผลการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ มีจุดมุ่งหมายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้พ้นโทษ สร้างอาชีพในอนาคต

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตนยินดีที่ได้เห็นโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งตามแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อส่งเสริมแรงงานราชทัณฑ์ที่พัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ให้กลับสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ มีงานทำ โดยจัดเป็นลักษณะนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน กับ กนอ. ซึ่งจะเป็นการสร้างเมืองใหม่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมาก และทำให้แรงงานราชทัณฑ์มีงานทำไม่ต่ำกว่า 30,000 คน นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก

“เห็นกรมราชทัณฑ์ในการให้ความรู้ ฝึกอบรมผู้ต้องขัง พยายามหางานให้กับผู้ใกล้พ้นโทษ แต่สิ่งที่ตามมา คือ การปรับสภาพของผู้จ้างที่ยังเกรงกลัวผู้ต้องขัง ซึ่งถ้าเราจะจัดหางานให้ผู้ต้องขังคงไม่ทัน แต่หากเราตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ จะทำให้เขามีงานทำอย่างยั่งยืน หากสำเร็จจะเป็นแบบอย่างให้ต่างประเทศ การเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญ เราหวังว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กนอ.และบริษัท เป็นผู้นำร่อง ไม่ทำให้โครงการเป็นหมัน ตรงนี้จะเป็นต้นแบบและแนวทางให้โอกาสผู้ต้องหา คดีร้ายแรงต่างๆจะได้ลดลง ไม่ให้คนกลับมาทำผิดซ้ำ ผมมั่นใจจะแก้ไขปัญหาได้มากมาย” นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท ศิวาชัย อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกอบการจัดตั้งนิคมฯ เช่นเอกสารด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน การออกแบบระบบสาธารณูปโภคโครงการการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงิน แนวคิด รูปแบบการพัฒนาโครงการในรายละเอียด เป็นต้น เพื่อจัดส่งให้ กนอ. พิจารณาเสนอขออนุมัติในหลักการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม

สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร เป็นโครงการที่มีศักยภาพ และเอื้อต่อการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติก ที่สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ มีขนาดพื้นที่กว่า 4,132 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนพระราม 2 ห่างจาก ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฝั่งตะวันตก เพียง 30 นาที และห่างจากตัวเมืองสมุทรสาคร เพียง 15 นาที โครงการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร มุ่งเชื่อมโยงประโยชน์ สร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ ด้วยศักยภาพพื้นที่บริการที่มีประสิทธิภาพ สิทธิประโยชน์ในระยะยาวและแผนการพัฒนาที่รองรับการเติบโตในระดับภูมิภาคให้มีศักยภาพ การแข่งขันในตลาดโลก โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตและดิจิตัล กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์อัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป

ที่มา: PPTV, 9/7/2565

วิกฤตแรงงานขาด 1 ล้านคน ธุรกิจเปิดศึกช่วงชิงข้ามอุตสาหกรรม ‘อสังหา’ อัดฉีด ‘ค่าแรง-โอที’ จูงใจ

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงทุกภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนในหลายอุตสาหกรรม คาดว่าจะถึง 1 ล้านคน เป็นปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ในช่วงนั้นเศรษฐกิจยังซบเซา ประกอบกับประเทศไทยจะใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลักทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เพราะคนไทยไม่ทำงานหนัก ดังนั้น เมื่อแรงงานต่างด้าวกลับประเทศในช่วงโควิด ถึงขณะนี้ยังไม่กลับเข้ามาในระบบมากนัก แม้รัฐบาลจะมีการผ่อนปรนเป็นระยะก็ตาม ทำให้ปัจจุบันเกิดการช่วงชิงแรงงานข้ามอุตสาหกรรม

“ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้างก็ขาดแคลนแรงงานเยอะร่วม 3-4 แสนคน เพราะคนไทยไม่ชอบทำงานหนัก จึงต้องใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามอุตสาหกรรมกันมาก เช่น เคยทำงานก่อสร้าง จะไปทำงานโรงงานเพราะสบายและได้เงินดีกว่า หรือเคยทำงานประมงจะย้ายมาทำงานก่อสร้างแทน ทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มอีก 20-30% หรือจ่ายเพิ่ม 50-100 บาท/คน/วัน หรือจ่ายโอทีเพิ่มเพื่อให้สร้างเสร็จทันเวลา และโครงการมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น 5-7% นอกจากราคาวัสดุก่อสร้างแล้ว” นายอิสระกล่าว

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนอย่างหนัก ทำให้ขณะนี้การก่อสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมล่าช้าไป 3.6-4.6 เดือน และเริ่มมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของลูกค้าที่ซื้อคอนโดมิเนียมแล้ว มี 2 แบบ คือ ถ้าซื้อต่อจะขอให้บริษัทจ่ายค่าปรับ และถ้าไม่ซื้อแล้วจะขอเงินคืน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการเจออยู่ในขณะนี้

“แรงงานก่อสร้างวิกฤตมาก เราปรับค่าแรงให้แล้วก็ยังหาแรงงานไม่ได้ ฉะนั้น การที่รัฐบอกว่าส่งแรงงานมีฝีมือไปประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นข่าวร้ายมาซ้ำเติมภาคออสังหา เพราะช่วงโควิดก็ขาดแคลนอยู่แล้ว เพราะแรงงานต่างด้าวกลับประเทศไปยังกลับเข้ามาไม่ได้ เมื่อแรงงานขาด เราก็ต้องขึ้นค่าแรงให้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ปรับขึ้นให้งานละเฉลี่ย 6-8% เช่น ช่างปูกระเบื้องเพิ่มขึ้นอีกตารางเมตรละ 15 บาท ก็ยังหาช่างไม่ได้เลย เพราะถึงแม้เราจะใช้ระบบพรีคาสท์มาก่อสร้าง แต่ก็ยังต้องการช่างฝีมือขั้นสูงมาเก็บงาน เช่น ช่างทาสี ปูกระเบื้อง เดินสายไฟฟ้า ท่อน้ำประปา ติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์” นางอาภากล่าว

นางอาภากล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ทั้งค่าแรงและวัสดุก่อสร้าง ซึ่งส่งให้ราคาบ้านปรับขึ้นตาม โดยในเดือนสิงหาคมนี้บริษัทจะปรับราคาบ้านและคอนโดมิเนียมทั้งโครงการสร้างเสร็จแล้ว และโครงการสร้างใหม่อีก 2% และหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกในเดือนสิงหาคมนี้ รวมถึงรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกภายในปลายปีนี้ จะกระทบต่อต้นทุนและราคาบ้านเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันต้นทุนปรับขึ้นแล้ว 5-10%

น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนทำให้หลายโครงการก่อสร้างล่าช้าก็ต้องง้อผู้รับเหมาให้เร่งงานก่อสร้าง ซึ่งปัญหาแรงงานขาด เป็นผลพวงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปิดแคมป์ช่วงโควิด-19 ระบาด ที่แรงงานกลับบ้านต่างจังหวัดและแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ จนถึงขณะนี้ยังกลับมาในระบบไม่ได้เต็มที่ ทำให้เป็นความยากลำบากของธุรกิจในขณะนี้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 9/7/2565


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน