หุ้น CPN ฟื้นรับเปิดประเทศ

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

เส้นทางนักลงทุน

บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN นับเป็นหนึ่งในหุ้น “กลุ่มเปิดเมือง” ที่บรรดานักวิเคราะห์หลาย ๆ ค่ายเลือกเฟ้นให้เป็นหุ้นเด่นรับประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในส่วนของการขยายเวลาให้ศูนย์การค้า-ร้านอาหาร-ร้านสะดวกซื้อ สามารถเปิดให้บริการได้มากขึ้น ตลอดจนการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยไม่ต้องทำ RT-PCR

CPN ทำธุรกิจผู้พัฒนาและให้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และประกอบธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการประกอบธุรกิจศูนย์การค้า เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์อาหาร รวมทั้งการลงทุนในกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (CPNCG) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (CPNREIT) และเป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมฯ ตลอดจนกองทรัสต์ฯ

หากย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น CPN ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เคยอยู่ในระดับสูงสุดแตะ 81.25 บาท แต่เมื่อวิกฤตโควิดแพร่ระบาดรุนแรงไปทั่วโลกในปี 2563 ราคาหุ้น CPN ปักหัวลงทันทีมาที่ 33.25 บาท อันเป็นผลมาจากคำสั่งล็อกดาวน์เมือง ล็อกดาวน์ประเทศ ในช่วงต้นปี 2563 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ซึ่งรวมถึงศูนย์การค้าในกลุ่ม CPN ด้วย โดยในปีนี้ราคาหุ้น CPN ทรุดตัวลงมา 46.58% จาก 62.25 บาท ณ สิ้นปี 2562 ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุด 33.25 บาท

ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการแพร่ระบาดของโควิด ราคาหุ้น CPN ยังคงเคลื่อนไหวผันผวน สามารถปรับตัวสูงขึ้นยืนในระดับ 60 บาทได้ แต่ก็จะถูกแรงเทขายเมื่อทางการออกมาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวด กดให้ราคาหุ้นดิ่งลงไปแถว ๆ 45.25 บาท อย่างไรก็ตาม มาตรการทยอยเปิดเมืองของทางการก็สามารถพยุงให้ราคาหุ้น CPN ไม่ถึงกับดิ่งเหวลงไปเหมือนในปีก่อน

จนกระทั่งปัจจุบันประเทศไทยอาจเรียกได้ว่ามีการเปิดเมือง เปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ราคาหุ้น CPN สามารถปรับตัวขึ้นไปยืนในระดับเหนือ 60 บาทได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนว่า “การเปิดเมือง” เป็นปัจจัยบวกสนับสนุนให้หุ้น CPN ฟื้นตัว

“วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในฐานะซีอีโอหญิงคนแรกในรอบ 40 ปีของอาณาจักร ที่มีเป้าหมายนำทัพCPN สู่ทศวรรษใหม่” ด้วยการผนึกกำลังทุกองค์ประกอบของ CPN ทั้งศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม โดยให้ “ศูนย์การค้า” เป็นธุรกิจหลัก (Retail-Led Mixed-use development) และในอีก 5 ปี จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ของ CPN อยู่ในกว่า 30 จังหวัด (รวมโครงการปัจจุบันและอนาคต)  หรือโดยเฉลี่ย 1ปี CPN จะเปิดโครงการใหม่ 2–3 โครงการ รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Major Change และ Minor Change

โดยล่าสุดในการเปิดกลยุทธ์การเป็นผู้นำ Retail-Led Mixed-Use Development “วัลยา จิราธิวัฒน์” ระบุว่า ราคาหุ้น CPN ที่ฟื้นตัว เกิดจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากบริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตโควิดก็ตาม

ทั้งนี้ตามแผนงานของ CPN ในระยะ 5 ปี (2565-2570) จะทุ่มงบประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท หรือปีละ 20,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการใหม่ ทั้งศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม โดยวางเป้าหมายในธุรกิจศูนย์การค้าในอีก 5 ปีจะมี 50 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ จากปัจจุบันมีอยู่ 36 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะปรับโฉมศูนย์การค้าต่าง ๆ อีกกว่า 10 โครงการ อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล พระราม 2, รามอินทรา, พัทยาบีช, แจ้งวัฒนะ, เวสต์เกต, เชียงใหม่ แอร์พอร์ต, และ ขอนแก่น เป็นต้น

สำหรับภายใน 2 ปีนี้ บริษัทจะมีโครงการใหม่และจะยกระดับโครงการที่มีอยู่แล้ว โดยโครงการใหม่ล่าสุด คือ เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ มูลค่ารวมกว่า 6,200 ล้านบาท เจาะทำเลใหม่ย่านราชพฤกษ์เชื่อมตรงสู่ใจกลางกรุงเทพฯ บนที่ดิน 40 ไร่ ซึ่งจะเป็นการยกระดับฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ และถือเป็นโครงการที่ต่อยอดจากเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ซึ่งจะเปิดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566

เฉพาะปี 2565 นี้ CPN ตั้งเป้าหมายรายได้จะเติบโตมาที่ 3.6 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับ 90% ของรายได้ในปี 2562 จากการเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่คือ เซ็นทรัล จันทบุรี ที่เปิดในเดือน พ.ค. ปีนี้ และปัจจุบันยอดผู้เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าหรือยอดทราฟฟิคทุกศูนย์เฉลี่ยสูงถึง 75% แล้ว และในครึ่งหลังปีนี้น่าจะดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามามากขึ้น รวมทั้งอัตราการเช่าพื้นที่ก็เพิ่มขึ้นมาที่ 90% ด้วย

จากข้อมูล IAA Consensus ระบุว่า มีนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ 7 ค่าย ให้คำแนะนำให้ “ซื้อ” หุ้น CPN  ขณะที่ 3 ค่าย แนะนำให้ “ถือ” โดยให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 63.25 บาท โดยมีระดับราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 69 บาท และต่ำสุดที่ 54 บาท มีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อความสามารถในการสร้างกำไร หรือค่า P/E เฉลี่ยในปีนี้ที่ 29.3 เท่า และอัตราส่วน ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี หรือ P/BV เฉลี่ยที่ 3.2 เท่า

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตในอัตราชะลอตัวลง โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์เติบโตลงเหลือ 3.2% จาก 3.4% และ “ธนาคารโลก” หรือ เวิลด์แบงก์ ได้ปรับลดลงเหลือ 2.9% จากเดิม 3.9% เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคเอกชนและเพิ่มภาระให้กับภาคประชาชน

ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจจึงเป็นประเด็นความเสี่ยงต่อ CPN ให้ต้องติดตาม  เพราะจะกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ซึ่งอาจทำให้รายได้ค่าเช่าจากผู้เช่าในรูปแบบส่วนแบ่งรายได้ชะลอตัวลง รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราค่าเช่า อาจจะทำได้น้อยกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน