แสงไทย เค้าภูไทย
พิษเงินเฟ้อและสงครามยูเครนทำเศรษฐกิจโลกปั่นป่วน ตัวเลขจีดีพีล่าสุดสหรัฐแสดงความชัดเจนว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มตัว ขณะที่จีนตัวเลขโตต่ำผิดคาด ขณะโควิดยังอ้อยอิ่ง ส่งผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกรุนแรงยืดเยื้อ
ตัวเลขอัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ไตรมาส 2 ของสหรัฐต่ำผิดคาดที่ 0.9% เป็นเครื่องแสดงว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) เต็มตัวแล้ว
แม้ตลาดหุ้น ตลาดตราสาร ทองคำ หรือแม้เงินคริปโตจะดีดขึ้นมาช่วงหลังธนาคารกลาง (Fed) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (ดอกเบี้ยนโยบาย)
แต่มันเป็นผลทางจิตวิทยามากกว่าสภาพความเป็นจริง
ทั้งนี้เกิดจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่ำกว่าที่กังวลกันล่วงหน้า คือขึ้นแค่ 0.75% จากที่ห่วงกันว่าจะใช้ยาแรงขึ้นถึง 1.00%
สิ่งที่จะต้องกังวลต่อไปก็คือ ภาวะถดถอยช่วงนี้ยังเป็นภาวะถดถอยธรรมดา
แต่นักวิเคราะห์มองว่า มันจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นถดถอยสุดดิ่ง ( deep recession) โดยเฉพาะช่วงกลางไรมาส 3 นี้ไปจนตลอดไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
นอกจากสหรัฐอันเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว จีนเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 รองจากสหรัฐ ก็ส่ออาการไม่ดี
ไตรมาส 2 GDP ของจีนโตต่ำเป้ากว่าเท่าตัว โดยมี 2 สาเหตุ คือ การล็อคดาวน์เมืองใหญ่ๆที่มีการแพร่ระบาดของโควิดซ้ำ เช่นเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น ทำให้การผลิตในบางมณฑลหยุดชะงัก
นอกจากนี้ จีนยังเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ดังที่เกิดการล้มของ Evergrande Group ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์อันดับสองของจีน อันดับ 122 ของโลก มีการจ้างงานถึง 123,276 คน
เอเวอร์แกรนด์จะต้องส่งแผนปรับโครงหนี้ 3 ล้านหมื่นล้านหยวนหรือราว 3,000 ล้านดอลลาร์ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าผิดนัด
จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยังผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกร่วงเป็นระยะๆ เพราะจีนเป็นชาติที่ใช้น้ำมันเพื่อการผลิตมากที่สุดในโลก
เมื่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเกิดภาวะหดตัว ก็ย่อมจะส่งผลให้เศรษฐกิจชาติอื่นๆที่พึ่งพาตลาดในสองชาตินี้ โดยเฉพาะไทยต้องพลอยชะลอตัวตาม
อัตราเติบโตของจีดีพีของไทยนั้น พึ่งพาเครื่องยนต์ 2 ตัวเป็นสำคัญ คือการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
นักท่องเที่ยวจากจีนมาไทยมากที่สุดในบรรดานักทองเที่ยวต่างประเทศ เมื่อจีนเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่
ทำให้มีการห้ามการเดินทางระหว่างเมืองและระหว่างประเทศในบางมณฑล
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนยังคงกังวลกับการระบาดของไวรัสโควิดในไทยอยู่ เกรงว่าคนของตัวมาเที่ยวไทยแล้ว จะติดเชื้อกลับไป จึงกวดขันกับการเดินทางมาไทยของนักท่องเที่ยวจีนเข้มข้น
แม้จะดำริจะผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากจากมาตรการล็อคดาวน์นี้ แต่ก็ยังเข้มงวดอยู่
จึงคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะมาไทยไม่มากเท่าเดิม
ส่วนการส่งออกไปจีนและสหรัฐอเมริกา ก็จะลดลงไปตามการชะลอตัวของการผลิตด้วย
แม้วันนี้ค่าบาทจะอ่อนเหตุจากดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด ทำให้เงินทุนไหลเข้าตลาดทุนสหรัฐมาก
เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย
แม้ค่าบาทจะยังทรงตัวระดับ 36.00-37.00 บาทดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ แต่จากการที่ฟันด์โฟลว์เงินลงทุนต่างประเทศในตลาดทุน ตลาดตราสาร ตลาดหุ้น ไหลออกมาก
ก็ทำให้กังวลว่า ค่าบาทจะอ่อนลงไปอีก เป็นภาระที่ธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติต้องเข้าแทรกแซง
นับแต่ต้นปี ธปท.ใช้เงินทุนสำรองจากสำรองเงินตราต่างประเทศเข้าแทรกแซงค่าบาทเพื่อให้เกิดเสถียรภาพแล้วกว่า 26,729.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ถึง 14 ก.ค. 65)
แม้ค่าบาทอ่อนจะเป็นผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการนำเข้า
โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน วัตถุดิบในการผลิต เช่น แร่ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี ฯลฯ ซี่งมีมูลค่าถึง 40% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด
แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในระดับที่ยังควบคุมได้ จนอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ้างเล็กน้อยเพื่อพยุงค่าบาท
แต่อัตราเงินเฟ้อและบาทอ่อนค่าก็มีส่วนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น
กำลังซื้อของคนไทยยามนี้อ่อนจนใกล้ขั้นวิกฤต การใช้จ่ายในประเทศ (domestic expenditure ) อันเป็นเครื่องยนต์ตัวที่ 3 ถัดจากการส่งออกและท่องเที่ยว (ตัวที่ 4 investment การลงทุนในประเทศ)ยังต่ำมาก
ทำให้รัฐบาลต้องยัดเงินใส่มือคนไทยใช้จ่ายกันฟรีๆหลายครั้ง โดยครั้งต่อไปเป็นโครงการจ่ายคนละครึ่งเฟส 5 ระยะเวลา 1 ก.ย.-31 ต.ค.65
จึงเป็นโจทย์ที่ไทยจะต้องแก้ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้กับภาวะถดถอยและเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศที่ไทยมีผลได้เสียกับภาวะเศรษฐกิจสองประเทศนี้