แพทย์แนะตรวจสอบ 8 ข้อ ก่อนทำงานในพื้นที่อับอากาศ

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงแนวทางการทำงานในพื้นที่เสี่ยง ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขภาพ และสุขอนามัยเป็นสำคัญ โดยในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงที่เป็นพื้นที่อับอากาศ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตอย่างมาก จากกรณีข่าวการเสียชีวิตของช่างรับเหมาประจำคอนโดมิเนียม ลงไปปฏิบัติงานในบ่อพักน้ำเสีย โดยยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดว่าเกิดจากการถูกไฟฟ้าช็อต หรือขาดอากาศหายใจ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติงานต้องระมัดระวังตนเองด้วยการปฏิบัติตามข้อแนะนำสำคัญ 8 ประการ ดังนี้

1) วางแผนการทำงานและการป้องกันอันตราย ควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติงาน การป้องกันอันตรายในพื้นที่เสี่ยง          

2) ประเมินสุขภาพของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อับอากาศก่อน หากพบอาการป่วย บาดเจ็บ หรืออ่อนเพลีย ควรหลีกเลี่ยง

3) ขณะปฏิบัติงานให้จัดทำป้าย “พื้นที่ที่อับอากาศ พื้นที่เสี่ยง พื้นที่อันตราย ห้ามเข้า” ติดไว้หน้าทางเข้า – ออก และต้องขออนุญาตก่อนเข้าทำงาน

4) ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ ให้ใช้งานได้ปกติ ไม่มีสายไฟขาดหรือชำรุด และควรมีระบบตัดไฟอัตโนมัติหากไฟฟ้ารั่ว

5) ตรวจวัดก๊าซพิษ ก๊าซติดไฟและปริมาณก๊าซออกซิเจนต้องอยู่ระหว่าง 19.5 – 23.5 เปอร์เซ็นต์ และต้องกำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานต่อคนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหรือหมดสติในขณะปฏิบัติงาน

6) ต้องมีระบบหรือกลไกการแจ้งขอความช่วยเหลือ ต้องมีผู้ควบคุม และมีผู้ช่วยเหลืออยู่ประจำบริเวณทางเข้า – ทางออก โดยต้องมีความรู้ในการป้องกันตนเอง ขณะลงไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ

7) จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล Personal Protective Equipment (PPE) อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสม

8) ผู้ที่จะต้องเข้าไปทำงานในที่อับอากาศมีลักษณะงานที่เสี่ยงต่อการได้รับหรือสัมผัสอันตรายจะต้องผ่านการอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน