“แรมโบ้” ฟาดเดือด! “เพื่อไทย-อดีตรมต.คลัง” ความจำเสื่อม

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

สยามรัฐออนไลน์ 30 ตุลาคม 2565 17:52 น. การเมือง

วันที่ 30 ต.ค.65 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านมติ ครม.เพื่อค้านกฎกระทรวงฯ ต่างด้าวซื้อที่ดินตามมติ ครม.รัฐบาลนี้ โดยระบุว่า กฎกระทรวงฯ ปี 45 ทำตามเงื่อนไข IMF เงื่อนไขเข้มงวดจนได้ไปไม่กี่ราย แต่กฏกระทรวงฯใหม่ ลดเงื่อนไขทั้งเวลาลงทุนจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี เพิ่มประเภทการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่แท้จริง ไม่สร้างงานสร้างรายได้ให้คนไทย เปิดโอกาสหาประโยชน์ระยะสั้น ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า “เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” หมายความว่า ต้องอยู่ภายใต้สนธิสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้เกิดเสียสิทธิสภาพอาณาเขต อาทิ สนธิสัญญาเบาริ่ง ในอดีตที่เสียสิทธิทางศาล เพราะในอดีตต่างชาติมาค้าขายขาดความเชื่อมั่น ในกฎหมายตราสามดวงและการลงโทษจารีตนครบาล ส่วนกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ.2545 สมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ไม่เกี่ยวกับการออกตามเงื่อนไขใน IMF คนละเรื่อง หลักเกณฑ์ร่างกฎกระทรวงใหม่ แม้ลดเงื่อนไขเวลา แต่ความเข้มข้นมากกว่าเดิม ไม่ใช่คลายกฎ เพียงแต่กระทรวงมหาดไทยนำของเก่ามาปัดฝุ่นใหม่ หากไทยจะเสียดินแดน สิทธิสภาพอาณาเขต หรือเข้าข่ายกฎหมายขายชาติ ในปี 2545 จะออกกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่ออะไร

และในช่วง นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี 2551 ทำไมไม่ยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว หากว่าไม่เป็นประโยชน์ ที่ว่าการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่แท้จริง ไม่สร้างงานสร้างรายได้ให้คนไทย เปิดโอกาสหาประโยชน์ระยะสั้น ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายนี้ออกในรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร แต่อาศัยกระแสคัดค้าน ถามว่าทำไมไม่ยกเลิก หากไม่ได้ประโยชน์ในการลงทุนในระยะสั้น ในขณะเป็นรัฐบาลทั้งรัฐบาลทักษินช่วงเวลา 2545-2549 และรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย 2551-2552 และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2554-2557

นายเสกสกล กล่าวว่า หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกกฎกระทรวงครั้งแรก แล้วมาคัดค้าน ตรงนี้ยอมรับได้ แต่กฎกระทรวงให้ต่างชาติถือครองที่ดินมาสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย ในปี 2545 รัฐบาลเพียงนำมาปัดฝุ่น กระตุ้นเศรษฐกิจ หลักเกณฑ์ไม่ต่างกัน เพียงลดเงื่อนไขเวลาการลงทุนจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี นำเงินไปลงทุนในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (เพิ่มขึ้นใหม่จากกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2545) หากถอนการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลาการดำรงทุน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน โดยได้เพิ่มเติมหลักการในส่วนประเภทการลงทุน และระยะเวลาการดำรงการลงทุนอันแตกต่างไปจากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ.2545 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แม้ลดเวลาการลงทุน รัฐบาลไม่ได้คลายกฎ มีความเข้มข้นในการอนุญาต จูงใจให้ลงทุนมากขึ้น ไม่มีผลกระทบต่อคนไทย

ขอให้พรรคเพื่อไทย และ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้อนกลับไปถึงนโยบายบ้านเอื้ออาทร ที่มีแนวคิดช่วยเหลือคนไร้บ้าน เท่าที่เห็นผลงาน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายืน จำคุก นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเวลา 99 ปี พร้อมสั่งริบเงิน 89 ล้านบาท ในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร หรืออีกผลงานหนึ่งประจักษ์ชัด โครงการจำนำข้าว ที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เผ่นหนีเอาตัวรอดไปต่างประเทศ แต่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ถูกจำคุก 48 ปี นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ จำคุก 36 ปี วันนี้ยังไม่ได้ออก เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ในเรื่องที่อยู่อาศัยและปัญหาปากท้องพี่น้องชาวนา สันหลังของชาติ อยากบอกให้ประชาชนทราบ ให้ฟังข้อมูลรอบด้านเพราะมีข้อกฎหมายกำกับไว้

“ยืนยันว่า ไม่เสียสิทธิสภาพอาณาเขต ไม่เสียดินแดน หรือไม่ขายชาติ แน่นอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ศึกษาเศรษฐกิจรอบด้าน และฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว เท่าที่เห็นมีนักกฎหมายชื่อดัง ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฎฐ์ ปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ ท่านออกมาให้ความเห็นทางกฎหมายที่เป็นกลาง และเทียบเคียงให้เห็น ตรงนี้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งชัดเจน ทำให้ประชาชนตาสว่างขึ้น อย่าไปสับสนข้อมูลฝ่ายเดียว อย่าไปตื่นตระหนกตกใจตามกระแส เพราะรัฐบาลมุ่งถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก หลักความคุ้มค่า ยืนยันว่า รัฐบาลนี้ฟังเสียงประชาชนรอบด้านก่อนจะตรากฎหมายหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงออกมาบังคับใช้ โดยรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน”นายเสกสกล กล่าว


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน