กทม.เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวย่านใจกลางเมือง ให้คนกรุงเข้าถึงพื้นที่สาธารณะคุณภาพ

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

กทม.เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวย่านใจกลางเมือง ให้คนกรุงเข้าถึงพื้นที่สาธารณะคุณภาพ

วันนี้ (22 เมษายน 2565) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวประเภทสวนสาธารณะและสวนหย่อมรวม 8,917 แห่ง พื้นที่ 25,893 ไร่ 61.05 ตารางวา คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 7.49 ตารางเมตรต่อคน (ตร.ม./คน) ซึ่งหากแบ่งตามกลุ่มเขตจะพบว่า กลุ่มกรุงเทพตะวันออก มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรมากที่สุด อยู่ที่ 8.70 ตร.ม./คน รองลงมาคือกลุ่มกรุงธนใต้ 8.26 ตร.ม./คน กลุ่มกรุงเทพเหนือ 7.31 ตร.ม./คน กลุ่มกรุงธนเหนือ 6.68 ตร.ม./คน กลุ่มกรุงเทพกลาง 6.47 ตร.ม./คน และกลุ่มกรุงเทพใต้ 6.36 ตร.ม./คน จึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะและพัฒนาศักยภาพสวนสาธารณะที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

นายชาตรี กล่าวว่า กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ตระหนักถึงความสำคัญของสวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ กลางใจเมือง และตั้งอยู่ในกลุ่มเขตกรุงเทพใต้ซึ่งที่มีพื้นที่สีเขียวประเภทสวนสาธารณะและสวนหย่อมต่อประชากรน้อยที่สุดในกลุ่มเขตทั้งหมด 6 กลุ่มเขต ประกอบกับในปี 2568 สวนลุมพินีจะมีวาระครบรอบ 100 ปี จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการปรับปรุงและพัฒนาสวนลุมพินีเพื่อยกระดับสวนลุมพินีให้เป็นสวนสาธารณะระดับมหานครแห่งอนาคต ส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่ให้สามารถตอบสนองกับการพัฒนาของเมืองและวิถีชีวิตในโลกยุคใหม่ ซึ่งในแผนงานก่อสร้างและปรับปรุงนั้น จะแบ่งการดำเนินการออกเป็นหลายระยะ เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการประชาชน

“สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2468 มีขนาดพื้นที่ 360 ไร่ ตั้งอยู่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD: Central Business District) ของกรุงเทพฯ ล้อมรอบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม และสถานที่สำคัญต่างๆ แต่ละวันมีประชาชนเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการสำรวจสภาพปัจจุบันของสวนลุมพินี พบว่า อาคาร สถานที่และองค์ประกอบต่างๆ ภายในสวน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา การจัดพื้นที่ใช้สอยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่สามารถตอบสนองกับการใช้งานตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้อย่างเต็มที่” นายชาตรี กล่าว

รองปลัด กทม. กล่าวว่า ประกอบกับ แนวความคิดในการออกแบบสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวสาธารณะของเมืองต่างๆ ทั่วโลกนั้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่เพื่อการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจตลอดจนทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนแล้ว สวนสาธารณะยังทำหน้าที่ช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเมืองอีกด้วย อาทิ การใช้สวนสาธารณะเป็นพื้นที่สำหรับหน่วงน้ำหรือชะลอน้ำฝนก่อนปล่อยออกสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะของเมืองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม การเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ (Construct wetland) เพื่อสร้างระบบนิเวศเมืองให้มีความสมบูรณ์ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ระบบหมุนเวียนน้ำในสวนโดยใช้ระบบชีววิศวกรรม (Bioengineering) มาบำบัดน้ำเสียเพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ได้อีกครั้งทำให้ช่วยลดการใช้น้ำประปา

นอกจากนี้ นายชาตรี กล่าวว่า ต้นไม้ใหญ่และพืชพรรณต่างๆ ที่อยู่ในสวนสาธารณะยังช่วยลดอุณหภูมิของเมือง ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศและดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ภายหลังการปรับปรุงสวนลุมพินีแล้วเสร็จ คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อชาวกรุงเทพฯ ทั้งการเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งกิจกรรมอย่างครบวงจร เป็นปอดขนาดใหญ่ใจกลางเมือง และยังสามารถแก้ปัญหาของเมืองกรุงได้อย่างรอบด้านอีกด้วย

QR Code LINE @Matichon

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก

Line @Matichon ได้ที่นี่

LINE @Matichon


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน