ครึ่งปีหลัง ศก.เจอปัจจัยลบยกแผง 'อสังหา' กระทุ้งรัฐ ขยายเพดานลดค่า โอนบ้าน-ภาษีที่ดิน

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

ครึ่งปีหลัง ศก.เจอปัจจัยลบยกแผง “อสังหา” กระทุ้งรัฐ ขยายเพดานลดค่า โอนบ้าน-ภาษีที่ดิน

นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ในครึ่งปีหลังยังคงมีสารพัดปัจจัยลบไม่ว่าเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าไฟฟ้า สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้อส่งผลต่อราคาพลังงานและราคาสินค้าสูงขึ้น รวมถึงความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์การเมือง และโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ปัจจุบันคนไม่ค่อยมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นได้อย่างไร แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา แต่ถ้าประเทศต้นทางไม่เข้ามาและจีนยังไม่เปิดประเทศ คงจะยังไม่สามารถทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้นได้ ทั้งนี้ดูแล้วจะมีเพียงการส่งออกที่ดี เพราะได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าและสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้หลายประเทศมาซื้ออาหารจากไทยมากขึ้น

“ตอนนี้ทุกภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน หลังเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว อย่างในไซต์ก่อสร้างมีแรงงานไทยไม่ถึง 20% ส่วนใหญ่เป็นแรงงานมีฝีมือ ที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าว ขณะนี้มีหลายธุรกิจเริ่มแย่งชิงแรงงานกันเอง เช่น โรงแรม ท่องเที่ยว ก่อสร้าง โดยจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น ล่าสุดทราบว่ารัฐขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 4 ชาติ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามเข้ามา ก็ช่วยบรรเทาได้บ้าง ส่วนแรงงานไทยยังไม่กลับเข้ามาหลังกลับภูมิลำเนาไปช่วงโควิด คาดว่าจะกลับมายากเพราะบางคนไปทำอาชีพอื่นหรือธุรกิจส่วนตัวที่มีรายได้ดีกว่า” นายอธิปกล่าว

นายอธิปกล่าวถึงการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที 5 บาทต่อหน่วย งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ว่า ทุกคนได้รับผลกระทบหมดทั้งธุรกิจและประชาชน ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น บั่นทอนกำลังซื้อในสินค้า และกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บ้างเล็กน้อย และจะเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น ใช้โซลาร์รูฟ ในส่วนของประชาชนทั่วไปหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น สำหรับทิศทางราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับสงครามรัสเซียกับยูเครน หากจบเร็วราคาน้ำมันจะกลับมาถูกลง

นายอธิปกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาล อยากให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ โดยขยายอายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01% ที่สิ้นสุดปลายปี 2565 ออกไปอีก และปรับเงื่อนไขใหม่ ขยายเพดานให้ได้ทุกระดับราคา แต่ลดให้เฉพาะ 3 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินให้เสียอัตราปกติ เช่น ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ใน 3 ล้านบาทแรกจะได้ลด 0.01% ส่วน 2 ล้านบาทที่เหลือจะเสีย 2% จะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ไม่ว่าจะซื้อต่ำกว่า 3 ล้านบาท หรือเกิน 3 ล้านบาท รวมถึงขอให้ออกพระราชกำหนดให้ต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยได้ 1 ไร่ ในราคาไม่เกิน 40 ล้านบาท ในทำเลที่ต่างชาตินิยม เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ชลบุรี พัทยา เป็นต้น โดยออกเป็นมาตรการชั่วคราว เหมือนเมื่อปี 2540 ที่เคยออกมาแล้ว

“จะผลักดันต่อในเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เป็นขั้นบันได โดยมีส่วนลดให้ เช่น ปี 2566 ลด 75% ปี 2567 ลด 50% และปี 2568 ลด 25% ตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ของภาคธุรกิจยังไม่กลับมาเป็นปกติหลังเกิดโควิด-19 มา 2 ปี” นายอธิปกล่าว

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากรัฐขยายออกไปอีก 1 ปี จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้อีกมาก เพราะหากไม่ต่อจะทำให้ตลาดยิ่งแย่กว่าเดิม โดยมีข้อเสนอให้รัฐขยายเพดานมาตรการให้เป็นกลุ่มระดับราคาเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไปได้ประโยชน์ด้วย เพราะกลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นกลุ่มเดิมที่ได้รับการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องและในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซัพพลายถูกดูดซับไปมากแล้ว ดังนั้นรัฐควรเพิ่มกลุ่มใหม่และปรับเงื่อนไขว่าให้ทุกระดับราคา แต่ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองให้แค่ 3 ล้านแรก เพราะบนสถานการณ์ที่กลุ่มเดิมอิ่มตัวก็ต้องหากลุ่มใหม่ด้วย เพื่อกระตุ้นการอยากซื้อและอยากโอนของตลาดได้มากยิ่งขึ้น

“นอกจากนี้อยากขอให้รัฐพิจารณาเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคิดว่ายังเป็นเวลาที่ไม่เหมาะสมเพราะโควิดยังหนักและธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวก็ต้องจ่ายภาษีก้าวกระโดดจาก 10% เป็น 100% รัฐควรจะเก็บเป็นขั้นบันได เมื่อเดือนมกราคมสมัยยังเป็นนายกสมาคมอาคารชุดไทยเคยยื่นเสนอให้รัฐพิจารณาแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่ให้เก็บ แต่ต้องดูจังหวะ ท่าทีภาคธุรกิจด้วยว่าเขามีกำลังแค่ไหน ไม่ใช่จู่ๆเก็บเป็น 100% และปีหน้าราคาประเมินใหม่จะปรับขึ้นอีก จะทำให้ภาระผู้เสียภาษีมากขึ้นไปอีก” นางอาภากล่าว

นางอาภากล่าวว่า สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มน่าจะดีขึ้น จากการส่งออก การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา และปลายปีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา น่าจะเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศ จะส่งผลให้กำลังซื้อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้นตามไปด้วย ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามีผลต่อวัสดุก่อสร้างที่ต้องนำเข้า เช่น เหล็กราคาเพิ่มขึ้น กว่า 10% อยู่ที่ 28.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่วัสดุอื่นก็ขึ้นราคาทุกรายการ เช่น สายไฟทองแดง ซีเมนต์ ประกอบกับมีปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้น จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการก็ต้องปรับลดขนาดพื้นที่และขึ้นราคาบ้านให้สอดรับกับต้นทุน โดยบริษัทจะปรับราคาบ้านในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งบ้านเก่าและบ้านใหม่อีก 2% ส่วนผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงต้องหารือกับธนาคารเพื่อคงอัตราดอกเบี้ยคงที่อีกสักระยะหนึ่ง

QR Code LINE @Matichon

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก

Line @Matichon ได้ที่นี่

LINE @Matichon


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน