คลัง แจง 'ภาษีที่ดิน' บังคับใช้แล้ว แก้ไขยาก แนะปรับตัว จ่อรื้อใหญ่หลังครบ 5 ปี

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

“คลัง” แจง ภาษีที่ดิน บังคับใช้แล้ว แก้ไขยาก แนะปรับตัว จ่อรื้อใหญ่หลังครบ 5 ปี

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ได้จัดเสวนาเรื่อง ”ปุจฉา-วิสัชนา นานาปัญหาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการ” โดย น.ส.เอม เจริญทองตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาโครงสร้างระบบภาษี เศรษฐกรเชี่ยวชาญ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง และนายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคม การค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

คลังแนะต้องปรับตัวรับภาษีที่ดิน

น.ส.เอมกล่าวว่า ปัจจุบันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ประกอบการหรือเจ้าของทรัพย์สินก็ต้องตื่นตัว ปรับตัว ปรับแผนการบริหารจัดการเรื่องของภาษีในการดำเนินธุรกิจ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ต้องเสียภาษี เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้จัดเก็บภาษีที่ดินนำรายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นทุนให้ท้องถิ่นไปบำรุงพื้นที่ ก่อสร้างถนน ติดตั้งไฟฟ้า ทำระบบป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น

“อยากให้คิดว่าภาษีที่ดินนี้ใช้แล้ว ก็ต้องยึดหลักการสากลในเรื่องฐานของภาษีที่ยึดตามฐานทุนทรัพย์ ซึ่งภาษีที่ดินถือเป็นต้นทุนในการประกอบธุรกิจ ก็ต้องคิดว่าจะบริหารจัดการอย่างไรโดยเฉพาะบริษัทอสังหาที่มีสต๊อกเหลือ ต้องบริหารจัดการให้ดี ให้เหมาะกับไทม์มิ่งที่ช่วงนี้อาจจะชะลอการลงทุนไป อาจจะนิยมไปทำเกษตร เช่น ปลูกกล้วย ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายดูแล อาจจะไม่เหมาะสมนัก ซึ่งการจะทำเกษตรกับปศุสัตว์บนที่ดินนั้นต้องดูวัตถุประสงค์ด้วย ไม่ใช่ปลูกแล้วทิ้งร้างไว้ “ น.ส.เอมกล่าว

รอเคาะเก็บภาษีปลูกกล้วยโซนสีแดง

น.ส.เอมกล่าวว่า กรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำเรื่องหารือถึงการปรับอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินประเภทที่ดินเกษตรกรรมตามโซนผังเมือง เช่น เจ้าของที่ดินทำเกษตรกรรม ปลูกกล้วยบนที่ดินในเมืองสีแดงพาณิชยกรรม โดยจะจัดเก็บในอัตรา 0.15%นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ จะมีการเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาในเร็วๆ นี้

“อยากให้ท้องถิ่นที่มีไอเดียหรือมีประเด็นให้รีบเสนอข้อหารือเข้ามา เพราะทุก 5 ปี จะต้องมีการประเมินผลกฎหมายที่ประกาศใช้ไปแล้ว เพื่อทำการประชาพิจารณ์ และปรับปรุงทำให้เกิดประสิทธิภาพและทำได้จริงต่อไป ซึ่งตอนนี้ภาษีบังคับใช้แล้ว 3 ปี จะครบ 5 ปีในปี 2567 ” น.ส.เอมกล่าว

จ่อยกเว้น “ภาษีที่ดิน” โซนน้ำท่วม

น.ส.เอมกล่าวว่า จากที่มีข้อซักถามว่าหากที่ดินหรือบ้านอยู่ในพื้นที่อุทกภัยเกิดน้ำท่วมจะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินหรือไม่ ในเบื้องต้นต้องแจ้งไปยังหน่วยงานท้องถิ่นพื้นที่นั้นๆ ส่วนการจะประกาศให้ยกเว้นทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายหรือไม่อย่างไร ก็เป็นไปตามความเห็นชอบของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยจะเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ ผู้บริหารท้องถิ่นที่จะพิจารณา ทั้งนี้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย การลดหย่อนหรือยกเว้นจะจัดให้ในปีถัดไปตามสัดส่วนของความเสียหาย เนื่องจากปี 2565 ได้มีการจัดเก็บไปแล้ว

แนะลดขนาดพัฒนาโครงการ

ด้านนายอิสระกล่าวว่าภาษีที่ดินเป็นเรื่องใหม่คนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการต้องเสียภาษี และไม่คุ้นเคยกับการเสียภาษีในเมือง ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการก็คงต้องปรับตัว บริหารจัดการด้านภาษีที่ดินให้เกิดประโยชน์ เช่น ที่ดินที่จะถือเป็นแลนด์แบงก์ระยะยาว อาจจะนำมาให้เกษตรกรเช่าระยะยาวหรือลดขนาดการพัฒนาโครงการ ไม่ให้มีขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้มีสต๊อกเหลือ ต้องกำหนดระยะเวลาการพัฒนาให้เหมาะสมกับระยะเวลาลดหย่อนภาษีที่โครงการจัดสรร เพื่ออยู่อาศัย เพื่ออุตสาหกรรม ลดหย่อน 3 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตจัดสรรร โครงการอาคารชุดลดหย่อน 3 ปี นับแต่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เป็นต้น

ยื่นขอแก้ไขอัตราที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่

นายอิสระกล่าวว่า ทั้งนี้ สมาคม เตรียมทำหนังสือถึงสภาหอฯให้ยื่นต่อกระทรวงการคลังต่อไป เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จของโครงการว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและอาคารชุด ที่ยังไม่ได้ขาย ที่มีการจัดเก็บภาษีเป็นประเภทอื่นๆ โดยขอให้พิจารณาอัตราภาษีเป็นประเภทที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย มิได้มีไว้เพื่อประกอบกิจการ

รัฐวิสาหกิจยึดตามกม.ต้องจ่ายภาษี

น.ส.เอมยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐวิสาหกิจขอยกเว้นภาษีที่ดินว่า เท่าที่ทราบมียื่นมาหลายแห่งผ่านหลายช่องทาง เช่น สศค.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นต้น ส่วนการพิจารณานั้นไม่สามารถบอกได้ แต่ว่า วันนี้ข้อกฎหมายเป็นอย่างไรก็ต้องตีความไปตามนั้น ส่วนที่ภาคเอกชนหรือส่วนต่างๆ ที่จะมีข้อเสนอเกินจากกรอบกฎหมายต้องไปดูรอบของกฎหมายว่าควรจะต้องปรับแก้หรือไม่อย่างไร

“กรณีของรัฐวิสาหกิจจะได้รับการยกเว้นต่อเมื่อเป็นที่ดินยังไม่ถูกใช้ประโยชน์ จะไม่ถูกตีว่าเป็นที่ดินรกร้าง จะถูกตีว่ายังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ต้องเสีย แต่ก็ต้องดูข้อเท็จจริงของแต่ละท้องที่ด้วย ซึ่งกฎหมายจะเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว อย่างเช่นกรณีของรถไฟยกเว้นให้ตรงไหนก็ต้องไปดู อะไรที่ยังไม่ได้เขียนเอาไว้ก็คือไม่ได้ ซึ่งรถไฟถือว่าเป็นรัฐพาณิชย์ตามหลักต้องเสียภาษี จะไม่เสียก็ต่อเมื่อเป็นที่ดินยังไม่หยิบใช้ประโยชน์ “ น.ส.เอมกล่าว

ปล่อยที่ดินร้างเกิน 3 ปีเก็บเพิ่ม 0.3%

น.ส.เอมกล่าวว่า ส่วนที่ดินเปล่าที่ไม่นำมาใช้ประโยชน์ใน 3 ปี จะต้องเสียภาษีเพิ่มในอัตรา 0.3% จะเริ่มเก็บตั้งแต่ปี 2566 เนื่องจากหากจะมีการปรับแก้อะไรในส่วนนี้ต้องไปแก้ไขในกฎหมายแม่ คือ พ.ร.บ.ภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 จะไม่ง่ายเหมือนกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีที่ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับที่ดินเปล่าหากไม่ใช้ประโยชน์ที่ดินในเวลาที่กำหนด 3 ปี ในปี 2566 ต้องเสียภาษีเพิ่มเท่าตัว เช่น จาก 0.3% เป็น 0.6% ของฐานภาษีที่ประเมินได้ หรือจากล้านละ 3,000 บาท เป็นล้านละ 6,000 บาท ส่วนผู้ที่ถือครองไม่ครบ 3 ปี จะยังจ่ายภาษีตามอัตราเดิม


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน