เดือนกันยายน 2565 ศาลอาญามาเลเซียและศาลอาญาแห่งสหภาพเมียนมาตัดสินจำคุกบุคคลสำคัญๆ ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาคอาเซียน และ การตัดสินคดีบางรายได้สร้างความสั่นสะเทือนไปถึงประเทศตะวันตกและยูเอ็น
วันที่ 1 กันยายน ศาลอาญาประเทศมาเลเซีย ตัดสินจำคุก นางรอสมะห์ มันซูร์ 10 ปี และปรับเป็นเงิน970 ล้านริงกิต (ประมาณ 7.760 ล้านบาท) ในความผิดรับสินบนจากโครงการพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ซึ่งเกี่ยวพันกับเงินกองทุนมาเลเซียดีเวลอปเมนต์เบอร์ฮัด หรือ 1 MDB
นางมันซูร์ ภรรยาของนายนาจิบ ราซัคอดีตสตรีหมายเลข 1 มาเลเซีย ถูกอัยการฟ้องคดีรับสินบน 5 ล้านริงกิต เพื่อให้บริษัทหนึ่งได้รับสัมปทานติดตั้งพลังงานโซลาร์เซลล์
6 วันก่อนหน้า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม อดีตนายกรัฐมนตรี นายนาจิบ ราซัค ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 12 ปี ในคดียักยอกเงินกองทุน 1MDB ข้อหาโอนเงิน 250 ล้านดอลลาร์ ของ 1MDB เข้ามาไว้ในบัญชีธนาคารส่วนตัว นายนาจิบ ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกแล้ว 7 คดีในข้อหายักยอกทรัพย์และคอร์รัปชั่นโครงการ 1MDB กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ศาลฎีกาเพิ่งตัดสินได้เพียงข้อหาเดียว ซึ่งส่งผลให้นายนาจิบถูกส่งเข้าคุกทันที และเขาต้องสู้คดีในขั้นอุทธรณ์อีกคดี 7 ข้อหาซึ่งคาดการณ์กันว่าเขาอาจถูกตัดสินจำคุกกว่า20 ปี เมื่อทุกคดีสิ้นสุดลง
คดีที่เชื่อมโยงการโกง 1MDB อัยการฟ้องว่านางมันซูร์ รับสินบน 5 ล้านริงกิต จากนายอาบังซัมมูดินเพื่อให้ได้สัมปทานติดตั้งพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์369 โรงเรียนบนเกาะบอร์เนียวระหว่างปี 2559-2560
นางมันซูร์ ศาลชั้นต้นเพิ่งตัดสินคดีเพียงคดีเดียวเธอต้องสู้คดีในศาลอีกห้าข้อหา ปัจจุบันเธอได้รับประกันตัวและห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
นายนาจิบ ก่อตั้ง 1MDB ในปี 2542 พนักงานสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ร่วมมือกับอัยการมาเลเซียตรวจพบความผิดปกติการโยกย้ายเงินจาก 1MDB ระหว่างปี 2543-2547 เมื่อสื่อมวลชนตีแผ่เรื่องอื้อฉาวออกมา นายนาจิบ อ้างว่าเงินที่โอนเข้าบัญชีส่วนตัวเป็นเงินบริจาคจากราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย และ
เงินบริจาคจากประเทศอาหรับบางประเทศ
การสอบสวนดำเนินคดีกับนายนาจิบ ผู้ยิ่งใหญ่ในพรรคอัมโน ซึ่งพรรครัฐบาลมายาวนานตั้งแต่ปี 2500 การดำเนินคดีกับนายนาจิบจึงล่าช้าและไม่คืบหน้าไปไหน เมื่อนายนาจิบในฐานะหัวหน้าพรรคอัมโนชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2562 คดีฉ้อโกง 1MDB ดูเหมือนจะเงียบหายไป
แต่พอนายนาจิบแพ้เลือกตั้งให้กับดร.มหาเธร์ในปี 2562 ทันทีที่จัดตั้งรัฐบาลมหาเธร์ออกคำสั่งห้ามนายนาจิบและภรรยาเดินทางออกนอกประเทศ แล้วส่งกำลังตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านและทรัพย์สินของครอบครัวนาจิบและสมุนบริวาร
การตรวจค้นครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ยึดกระเป๋าแบรนด์เนมกว่า 500 ใบ เครื่องประดับเพชรพลอยทองหยอง 12,000 ชิ้น คิดมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์นี้ไม่นับรวมเรือยอชต์ รถหรูบ้านพัก คอนโดมิเนียมหลายสิบแห่งในสหรัฐและประเทศอื่นๆ
นายนาจิบและภรรยา สู้คดีในศาลตั้งแต่ปี 2562 จนถึงวันนี้คดีถึงที่สุดเพียงคดีเดียว ดังนั้นทั้งสามีและภรรยายังต้องสู้คดีฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์อีกนับสิบคดี
คดีของนายนาจิบก็เหมือนๆ กับคดีครอบครัวผู้นำโกงในประเทศไทยและเมียนมา ที่ตราบใดผู้นำพรรครัฐบาลยังอยู่อำนาจคดีฉ้อฉลทุจริตคอร์รัปชั่นก็อาจซุก
ไว้ใต้พรมได้ เพราะกระบวนยุติธรรมต้นน้ำคือตำรวจกับอัยการ ซึ่งเป็นกระบวนการยุติกลางน้ำแช่แข็งคดีเอาไว้ หรือไม่ก็บิดเบือนสำนวน อาจเป็นเพราะเกรงกลัวอิทธิพลของรัฐบาล หรือเพราะผลประโยชน์เกี่ยวพันก็เป็นไปได้
กรณีของนายทักษิณและครอบครัว มีข้อครหามากมายในขณะที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พอถูกยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 คณะผู้รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จึงพบว่า นายทักษิณ ถูกข้อหาปฏิบัติโดยมิชอบและคอร์รัปชั่นยาวเป็นบัญชีหางว่าว
จากวันนั้นถึงวันนี้ นายทักษิณถูกศาลตัดสินจำคุกแล้ว 12 ปี จากความผิดอาญา ม.157 ในคดีเซ็นชื่อรับรอง ให้เมียซื้อที่ดินรัชดา 2 ปี กับคดีแปลงสัมปทานดาวเทียมไทยคม เป็นภาษีสรรพสามิต 5 ปี ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่าหกหมื่นหกพันล้านบาท และคดีอื่นๆ อีกสองคดี สรุปคือ นายทักษิณถูกศาลตัดสินจำคุกแล้วสี่คดีและยังรอศาลตัดสินอีก 6 คดี
ในสหภาพเมียนมาก็ไม่น้อยหน้ามาเลเซีย และประเทศไทยในเรื่องอิทธิพลพรรคการเมือง ที่รัฐบาลกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้วกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำคือตำรวจ ดีเอสไอ อัยการ ตลอดถึงหน่วยงานอิสระไม่กล้าแตะต้องสอบสวนดำเนินคดี
วันที่ 29 ก.ย. ศาลรัฐบาลทหารเมียนมาได้ตัดสินจำคุกนางออง ซาน ซู จี และนายฌอน เทอร์เนลล์ อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนางซู จี เป็นเวลา 3 ปี ในข้อหาละเมิดกฎหมายความลับราชการ
ก่อนหน้านี้เธอถูกตัดสินจำคุกไปแล้วสี่คดีรวมทั้งใช้วิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโควิดสมคบกับรับสินบน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ และทองคำแท่ง11.4 กิโลกรัม ตลอดถึงคอร์รัปชั่นในโครงการของรัฐ
รวมทั้งหมดจนถึงวันนี้เธอถูกตัดสินจำคุกแล้ว 17 ปี และยังต้องสู้คดีในศาลอีกหลายข้อหาโดยเฉพาะข้อหาสมคบกับต่างชาติละเมิดความลับทางการนางซู จี ยังต้องสู้คดีอีกสองกระทง รัฐธรรมนูญเมียนมาบัญญัติไว้เข้มงวดมากในเรื่องคนต่างชาติ เช่น ห้ามไม่ให้บุคคลที่มีคู่สมรสต่างชาติเป็นประธานาธิบดี นางซู จี มีสามีและลูกเป็นชาวอังกฤษเธอจึงเป็นประธานาธิบดีตามกฎหมายไม่ได้ แต่นางซู จี เลี่ยงบาลี ตั้งตัวเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐควบตำแหน่ง รัฐมนตรีต่างประเทศ และทำตัวเป็น ประธานาธิบดี โดยปริยาย
กฎหมายเมียนมาเข้มงวดมากเรื่องคนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตก เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ศาลเมียนมาตัดสินจำคุก นางวิกกี้ โบว์แมน อดีตทูตอังกฤษและสามีชาวเมียนมา นายเถิ่ง ลิน คนละหนึ่งปีอดีตทูตอังกฤษ ถูกศาลเมียนมาตัดสินจำคุกฐานทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง เพราะนางไปอาศัยอยู่ที่อื่นไม่ตรงกับสถานที่ลงทะเบียนที่อยู่สำหรับคนต่างชาติ
วิกกี้ โบว์แมน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเมียนมา ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปี 2549 เธอแต่งงานกับนายเถิ่ง ลิน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในเมียนมา ที่เคยติดคุกคดีการเมืองแปดปี ทั้งคู่ย้ายไปอยู่ลอนดอน และย้ายกลับมาอยู่ประเทศเมียนมาตั้งแต่ปี 2552
โบว์แมน ผันตัวจากนักการทูต มาเป็นเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ส่วนสามี เถิ่ง ลิน ผันตัวเป็นจิตรกรผู้โด่งดังในวงการเมือง ความเคลื่อนไหวของสองผัวเมียอยู่ในสายตา และเป็นที่สงสัยของหน่วยงานมั่นคง แต่ทำอะไรสองคนนี้ไม่ได้ เพราะมีรัฐบาลเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี คอยปกป้องพวกเขาไว้
เมื่อรัฐบาลเอ็นแอลดี ถูกยึดอำนาจ อดีตทูตอังกฤษกับสามี ซึ่งอดีตเคยเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ถูกศาลตัดสินจำคุกคนละหนึ่งปี
สำนักข่าวเอ็นพีสื่อออนไลน์ ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.ย ว่า นางโบว์แมน อาจเจอคดีอื่นๆ ตามมาอีกหลายข้อหา เพราะพฤติกรรมของเธอส่อไปในทางเป็นสปายซึ่งรัฐบาลทหารสงสัยว่าเธอจะเป็นสายลับให้ตะวันตกไม่สหรัฐก็อังกฤษ
สรุปว่ากระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ กลางน้ำ คือ ตำรวจ อัยการ ป.ป.ช.และดีเอสไอ ในมาเลเซีย เมียนมา และประเทศไทย เหมือนกัน ตรงที่ถูกการเมืองครอบงำ ปล่อยให้คนโกงที่อยู่ในอำนาจทำลายความมั่งคงของชาติ ปู้ยีี่ปู้ยำประเทศได้ตามอำเภอใจ และรอจนมีรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลโกงเข้ามาจึงกล้าดำเนินคดี
ส่วนกระบวนการยุติธรรมปลายน้ำ คือ ศาลและตุลาการพิจารณาคดีความไปตามกฎหมายและพยานหลักฐานยังมั่นคง เที่ยงตรง เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ดังนั้น
ที่พึ่งสุดท้ายคนไทยจึงเป็นตุลาการในศาลต่างๆ
สุทิน วรรณบวร