ต้นทุนวัสดุก่อสร้างเริ่มนิ่ง “รัสเซีย” เบนเข็มส่งเหล็กเข้าตลาดเอเชีย คาดราคาบ้านใหม่ปรับตัวไม่แรง

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนวโน้มการปรับตัวของต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ส่งสัญญาณให้เห็นตั้งแต่ปี 2564 เช่นราคาเหล็ก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ระมัดระวังเกี่ยวกับการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะหลังช่วงเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาเหล็กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับต้นทุนเชื้อเพลิง รวมไปถึงปัญหาเงินเฟ้อที่ตามมา ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการอสังหา ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการอสังหา ประกาศแผนปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม ความร้อนแรงของการปรับขึ้นราคาต้นทุนเชื้อเพลิง และราคาเหล็กเริ่มคลี่คลายลงและมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลดลง ทำให้หลายคนหวังว่าการปรับลดลงของต้นทุนเชื้อเพลิงและราคาเหล็กจะส่งผลให้วัสดุก่อสร้างตัวอื่นๆ ในปีนี้ปรับตัวลดลงไปด้วย และแน่นอนว่าราคาบ้านที่ปรับขึ้นอาจจะไม่ร้อนแรงตามที่ผู้ประกอบการประกาศไปก่อนหน้านี้

สุรเชษฐ กองชีพ

ล่าสุด นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า การประกาศคำสั่งล็อกดาวน์เมืองใหญ่ๆ ของประเทศจีนช่วงโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-2564 และบางช่วงเวลาปี 2565 ตามนโยบายซีโร่โควิด (Zero Covid) สร้างปัญหาและมีผลกระทบไปเป็นวงกว้างไม่เพียงแต่ในประเทศจีนเท่านั้น เพราะการล็อกดาวน์เมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สร้างผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของบริษัทต่างๆ ในประเทศจีน รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศด้วยช่วงเวลานั้นมีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่จอดลอยลำอยู่ในทะเลเพื่อรอเทียบท่ามากมาย ส่งผลให้การขนส่งสินค้าระบบซัปพลายเชนของโลกมีปัญหาและมีผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องของการขาดแคลนสินค้าหลายๆอย่าง แม้ว่ารัฐบาลจีนจะผ่อนคลายนโยบายซีโร่โควิด (Zero Covid) ซึ่งทำให้ระบบซัปพลายเชนของโลกเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น การขาดแคลนสินค้าหลายอย่างเริ่มมีปัญหาลดลง

ปัญหาเรื่องของความขัดแย้งในยูเครนสร้างผลกระทบตามมาอีกโดยเฉพาะในเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนค่าน้ำมัน แม้ว่าช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการสินค้าต่างๆ จะไม่มากก็ตามแต่ด้วยปัญหาต้นทุนน้ำมันทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น สวนทางกับความต้องการในตลาดที่อาจจะไม่ได้มาก นักช่วง 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ของราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง มีการปรับลดราคาลงมาต่อเนื่องแม้ว่าจะยังไม่เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งก็ตาม แต่ดีกว่าช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นไปสูงสุด



ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่องมีผลต่อราคาสินค้าทุกประเภท ซึ่งเรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาเหล็ก โดยราคา ณ เดือนเมษายน 2565 สูงกว่าเดือนเมษายน 2564 กว่า 20% และมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ประมาณ 38% การที่ราคาเหล็กสูงขึ้นมาตั้งแต่ก่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมีความคิดในการปรับเพิ่มราคาขายบ้าน และคอนโดมิเนียมมากขึ้นเพราะราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับการปรับเพิ่มของราคาน้ำมัน และต้นทุนทางการเงินต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าแรง การขาดแคลนแรงงาน และอื่นๆ

ผู้ประกอบการหลายรายจึงออกมาประสานเสียงกันว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นของราคาบ้านและคอนโดมิเนียมแน่นอนภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แม้ว่าสถานการณ์ของราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วงขาลงแล้วก็ตาม

ราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของราคาไม่มากนัก ทั้งซีเมนต์หรือวัสดุก่อสร้างอื่นๆ แต่เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กเห็นได้ชัดเจนว่าราคาปรับเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง อาจจะลดลงบ้างในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในอัตราสูงอยู่ดี ซึ่งแน่นอนว่ายังคงมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการในการปรับเพิ่มของราคาขายบ้าน และคอนโดมิเนียม หลังจากนี้อาจจะเริ่มมีข่าวดีในเรื่องของเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กมากขึ้น เพราะมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศในซีกโลกตะวันตกทำให้รัสเซียไม่สามารถส่งสินค้าหลายอย่างไปขายได้แบบก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมทั้งเหล็ก

มีความเป็นไปได้ที่เหล็กจากรัสเซียซึ่งมีราคาไม่แพงจะเข้าสู่เอเชียมากขึ้น เพียงแต่จะเข้ามาถึงประเทศไทยหรือไม่ และมากน้อยเท่าใดยังคงต้องรอดูสถานการณ์ต่อไปเนื่องจากหลายประเทศเองต้องการเหล็กมาเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศของตนเองทั้งนั้น รวมทั้งประเทศจีนด้วย



ถ้าเหล็กราคาไม่แพงจากรัสเซียเข้ามาในเอเชียมากขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะกดดันให้ราคาเหล็กลดลง แต่ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไปเนื่องจากประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกเหล็กรายใหญ่ของเอเชียอย่างไต้หวันอาจจะมีการประท้วง รวมไปถึงมีมาตรการบางอย่างออกมาเพื่อกดดันรัสเซียเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ราคาเหล็กในเอเชียจะอยู่ในทิศทางที่ลดลงจากก่อนหน้านี้ ซึ่ง ณ เดือนกรกฎาคมอาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องดูต่อเนื่องอีก 1-2 เดือนจากนี้ ผู้ประกอบการอาจจะไม่มีภาระเรื่องของค่าก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปตามภาระต้นทุนที่ผันผวน เนื่องจากพวกเขาเซ็นสัญญาจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างในการก่อสร้างโครงการ แต่โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างๆ จำเป็นต้องมีการคิดเผื่อหรือพยายามเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างมากกว่าที่ผ่านมาแน่นอน และต้องมีผลต่อเนื่องมายังต้นทุนในการก่อสร้างของผู้ประกอบการที่ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย



แม้ว่าแนวโน้มของราคาน้ำมัน และวัสดุก่อสร้างสำคัญอย่างเหล็กมีทิศทางที่จะปรับตัวลดลงแล้วก็ตาม แต่ดูแล้วผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในประเทศไทยจะยังคงเดินหน้าปรับเพิ่มราคาขายบ้านและคอนโดมิเนียมที่จะเปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 
เนื่องจากว่า ต้นทุนหลายอย่างในฝั่งของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นชัดเจน จากการที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างคิดค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น เพราะมีภาระมากขึ้นทั้งเรื่องของการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างทำให้ต้องมีต้นทุนเรื่องของค่าแรง และการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในด้านของแรงงานมากขึ้นฝั่งของผู้ประกอบการเองมีเรื่องของดอกเบี้ยธนาคารที่ปรับเพิ่มขึ้นแน่นอนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีผลต่อการถือครองที่ดินของผู้ประกอบการทำให้พวกเขามีภาระจากตรงนี้มากขึ้นในภาพรวม นอกจากนี้ การที่จำเป็นต้องเร่งเปิดขายโครงการใหม่เพื่อชดเชยรายได้ที่อาจจะหดหายไปก่อนหน้านี้ และการเร่งการก่อสร้างโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 อาจจะมีผลต่อต้นทุนของพวกเขา

ราคาขายบ้านและคอนโดมิเนียมบนต้นทุนใหม่อาจจะสูงกว่าราคาบ้านก่อนหน้านี้ 5-10% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาในสัดส่วนที่ยังคงยอมรับได้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญอีกทั้งฝั่งของผู้ประกอบการเองคงพยายามคงราคาขาย หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดในภาวะเศรษฐกิจแบบช่วงเวลานี้อาจจะมีการปรับลดในเรื่องของคุณภาพวัสดุก่อสร้าง แบรนด์ของสิ่งต่างๆ ภายในโครงการที่อาจจะถูกลดเกรดลงมาจากโครงการในกลุ่มระดับราคาเดียวกัน เพื่อไม่ให้ราคาขายของโครงการที่จะเปิดขายใหม่สูงกว่าโครงการเดิมในทำเลเดียวกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้ผู้ซื้ออาจจะไม่ทันสังเกต รวมไปถึงการขายแบบไม่มีสำนักงานขาย หรือไม่มีส่วนกลางในโครงการของโครงการราคาไม่แพงของบางผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนในการพัฒนาโครงการเพื่อให้ราคาขายไม่สูงเกินไป

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์รายงานว่า ค่าดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2 ปี 2565 มีค่าดัชนีเท่ากับ 131.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 และเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบที่เพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในหมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง 12.4%

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า หมวดราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมี 5 รายการ ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสุขภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงเพิ่มขึ้นมากถึง 27.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และยังคงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 7.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการขนส่งสินค้าโดยตรงทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าทุกประเภทสูงขึ้นจึงเป็นสาเหตุทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างในรายการต่างๆ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างใหม่ในช่วงเวลานี้มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอนเนื่องจากต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น ส่วนหมวดแรงงานยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ จำแนกต้นทุนของงานก่อสร้างในแต่ละหมวด พบว่า หมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ โดยงานวิศวกรรมโครงสร้างมีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 12.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4.0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีสัดส่วน 29.7% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ ด้านงานสถาปัตยกรรม มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ลดลง -0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีสัดส่วน 63.7% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ ขณะที่งานระบบสุขาภิบาล มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีสัดส่วน 2.9% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบส่วนงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และอัตราค่าตอบแทนไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีสัดส่วน 3.7% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ

สำหรับ ในหมวดวัสดุก่อสร้างกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ราคาเพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาเพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ขณะที่ กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาเพิ่มขึ้น 27.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7.0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 ส่วน กลุ่มกระเบื้อง เป็นวัสดุก่อสร้างกลุ่มเดียวที่มีราคาลดลง -3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 



สำหรับกลุ่มสุขภัณฑ์ ราคาเพิ่มขึ้น 12.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ส่วนกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ขณะที่วัสดุก่อสร้างอื่นๆ ราคาเพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564

นำพล มลิชัย

ด้าน นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และคัมพานา (CAMPANA) กล่าวว่า การปรับตัวของต้นทุนด้านพลังงานทำให้กำไรของบริษัทลดลงบ้าง ขณะที่ด้านยอดขายนั้นยังมีอัตราการเติบโตที่ดี ทั้งนี้ คาดว่าภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างปี 2565 ยังคงขยายตัวได้แม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น และตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง-บนยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยและมีพฤติกรรมการเลือกซื้อเปลี่ยนไป คือ มีความต้องการบ้านแนวราบนอกเมืองที่มีบริเวณมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าประเภทงานโครงการทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่เป็นฐานลูกค้าสำคัญของบริษัทยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจนอกเหนือจากราคาพลังงาน รวมถึงราคาวัตถุดิบต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ยังมีประเด็นท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญในระยะอันใกล้ คือ เรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นซึ่งเป็นแรงกดดันฉุดให้ผู้บริโภคตัดสินใจชะลอแผนซื้อที่อยู่อาศัยแม้ว่าจะยังมีความต้องการซื้อ ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน ทำให้บริษัทต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อวางแผนการผลิตและบริหารพอร์ตสินค้าได้อย่างเหมาะสมเนื่องจากเป็นทั้งผู้นำเข้าสินค้ากระเบื้องเซรามิก และเป็นผู้ผลิตส่งออกลำดับต้นของประเทศ

“อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังมีปัจจัยบวกที่จะเข้ามากระทบกับตลาดวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ มาตรการเปิดประเทศซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวให้ทยอยฟื้นตัวได้ จึงทำให้บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าในครึ่งปีหลังนี้จะยังสามารถเติบโตได้เมื่อเทียบกับปีก่อน”


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน