เป็นอีกหนึ่งทายาทนักธุรกิจที่ควรค่าให้รู้จักเธอคนนี้ “เจ-มัณฑิตา พร้อมเพรียงชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี โฮม ดีสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้บริหารสาววัย 28 ปี ทายาทคุณวิชา พร้อมเพรียงชัย ผู้ก่อตั้ง “บัณฑิต กรุ๊ป” หรือ “หอบัณฑิต” ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และอีกหลายมหาวิทยาลัยย่านรังสิต เรียกติดปาก เป็นอพาร์ตเมนต์ที่เปิดให้นักศึกษาเช่าอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย
หลายคนอาจคิดว่าทายาทเจ้าของธุรกิจมีต้นทุนติดตัวตั้งแต่เกิด เพราะพ่อแม่สร้างไว้ให้แล้ว แค่มาต่อยอด หรือรักษาสิ่งที่มีอยู่ เท่านั้น! ดูเป็นชีวิตที่น่าอิจฉา แต่ในความเป็นจริงแล้ว สาววัยใสคนนี้เอ่ยปากเองว่ามีปัญหามาตั้งแต่เด็ก สะสมมาเรื่อยจนวันหนึ่งเธอเป็นโรคซึมเศร้า
เจ ยินยอมให้เปิดเผยเรื่องราวของเธอ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ไม่มากก็น้อย!
ต้นสายปลายเหตุที่มีอาการซึมเศร้า เจตอบไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร แต่ยอมรับว่าชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่ยังเด็ก แต่ ณ ปัจจุบัน พ่อและแม่กลับมาอยู่ด้วยกันเพื่อช่วยกันดูแลลูกๆ ตัวเจเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าอารมณ์ ณ ตอนนั้นคืออะไร แต่อาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 อยู่ๆ ก็ร้องไห้ 2-3 ชั่วโมง โดยไม่มีสาเหตุ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เป็นครั้งแรกที่บอกแม่ ขอไปหาหมอ แต่ทั้งพ่อและแม่ก็ไม่เข้าใจ “เมื่อมาคิดย้อนกลับตอนนี้ ขนาดเรายังไม่เข้าใจอารมณ์เรา แล้วคนอื่นจะเข้าใจได้อย่างไร”
เจเล่าต่อว่า ช่วง 2 ปีแรกของการรักษา หมอให้กินยาอย่างเดียว ไม่ถามไถ่แค่รับฟัง ปล่อยให้เราพูดฝ่ายเดียว กระทั่งช่วงไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวัน (national taiwan university) อาการเป็นหนักขึ้นมากจนทนไม่ไหว เป็นอารมณ์ไม่อยากอยู่ ไม่อยากตื่น รู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่มันทรมาน ตัดสินใจโทรหาแม่บอกว่า ไม่ไหวแล้ว ขอกลับบ้าน จากนั้นก็รักษาโดยกินยาต่อเนื่องตลอด 5 ปี “ช่วงกินยาดีขึ้น แต่ดีเพราะยา อารมณ์จะชาๆ อึนๆ ตลอดเวลา ไม่รู้สึกแย่แต่ก็ไม่รู้สึกดี เลยตัดสินใจหยุดยาเพราะคิดว่าอาการดีขึ้น นั่งดูรายการหนึ่งในยูทูบแล้วก็หัวเราะออกมา ทำให้รู้สึกได้ว่าไม่เคยมีอารมณ์หัวเราะมานานมาก”
เจบอกว่า เป็นความรู้สึกดีที่ได้หัวเราะ เลยตั้งใจว่าจะหยุดยาตลอดไป จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเองเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
ข้อมูลถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ ไม่รู้ แต่สำหรับ เจ คือคำตอบ!
โรคซึมเศร้า ไม่ใช่แค่โรคทางจิต แต่ไปด้วยกันทั้งด้านอารมณ์และร่างกาย เริ่มต้นจาก emotion (อารมณ์) แล้วเป็น habbit (นิสัย) ที่เริ่มทำซ้ำๆ พอปล่อยให้อารมณ์นั้นอยู่นานจะกลายเป็น depress (หดหู่ เศร้าหมอง) เป็น personality (บุคลิกภาพ) จนกลายเป็นตัวเราไปเลย “การปล่อยให้อารมณ์ซึมเศร้าไปนานๆ จนเป็นนิสัยจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ร่างกายจะหลั่งสารตัวไม่ดีออกมาและส่งผลถึงอารมณ์ ดังนั้น การออกกำลังกายได้เคลื่อนไหว ร่างกายจะหลั่งสารตัวดีออกมา อารมณ์ก็จะดีตาม “ทุกวันนี้จะดูแลร่างกายเป็นอย่างดี ออกกำลังกายและนอนให้เพียงพอ และอีกเรื่องที่ทำคือการนั่งสมาธิ ให้รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ถ้าเปรียบทางธรรม ก็คือ มันมาแล้วก็ไป มันเกิดแล้วก็ไป ถามว่าทุกวันนี้ เจ ยังมีอาการอยู่หรือไม่ ยังมีอยู่ เพียงแต่จัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น”
ถามอย่างคนไม่รู้ คนซึมเศร้าต้องการอะไร เจบอกว่า แค่ต้องการให้มีคนอยู่ข้างๆ ไม่ต้องปลอบโยน เพราะสุดท้ายมันอยู่ที่ตัวเรา อย่างเจ มีเพื่อนๆ คอย support อย่างดีในช่วงที่เป็นซึมเศร้า อาการก็ไม่หาย เพราะไม่ได้มีความเข้าใจในตัวเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้น่าจะมีการสอนในโรงเรียน-มหาวิทยาลัยให้เด็กๆ เข้าใจตัวเรา ร่างกายของเรา การตัดสินใจ การตั้งเป้าหมาย ถามถึงข้อห้าม ได้คำตอบว่า สิ่งที่พูดไม่ได้เลยกับคนที่เป็นซึมเศร้า คืออย่าเปรียบเทียบคนซึมเศร้ากับกรณีอื่นใด อย่าพยายามบอกว่าเรื่องของเขาเหล่านั้นมันเล็กนิดเดียวหากไปดูปัญหาของคนอื่นๆ คำพูดนี้จะกลายเป็นยั่วยุให้อารมณ์ down ณ ขณะนั้น ยิ่งแย่หนัก อาจถึงขั้นทำให้คิดฆ่าตัวตายได้
เจเป็นคนซึมเศร้าที่พยายามหาเหตุและผล โดยไม่คิดจะต้องหลุดพ้นหากทำไม่ได้ แต่มุ่งรับมือ อยู่กับมันให้ได้มากกว่า จนเมื่อเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ ภาคอินเตอร์ สาขาวิชาการจัดการสื่อสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมาช่วยพ่อสานต่อธุรกิจ บัณฑิต กรุ๊ป จึงเข้าคอร์สเรียนด้านอสังหาริมทรัพย์ RE-CU จุฬาฯ เพิ่มเติม ก่อนจะเข้ามาร่วมทีมกับพ่อเต็มตัวเมื่อปี 2560 โดยโปรเจ็กต์แรกที่ได้รับมอบหมายคือ โครงการคอนโดมิเนียม โลว์ไรซ์ ที่ศาลายา และแจ้งวัฒนะ ต่อยอดมาจากโครงการ หอบัณฑิต “ธุรกิจแรกเริ่มของป๊าคือร้านขายโทรศัพท์ รายได้หมดไปกับค่าเช่าที่เกือบหมด ป๊าเลยมี vision ว่า ต้องทำโครงการปล่อยให้คนอื่นเช่า ซึ่งเป็นที่มาของ บัณฑิต กรุ๊ป เลือกทำเลเกาะกลุ่มนักศึกษา ด้วยเล็งเห็นว่าพ่อแม่ต้องการให้ลูกอยู่ที่พักที่ดีๆ ซึ่งป๊าไม่ได้ทำแค่โครงการ แต่ดูแลนักศึกษาที่เช่าอยู่ มีรถตู้รับ-ส่งนักศึกษาจากที่พักและมหาวิทยาลัย มีที่จอดรถ สระว่ายน้ำ เครื่องออกกำลัง รวมถึงจัดเตรียมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ครบครันในห้องพัก จากนั้น ป๊าก็มีแนวคิดอยากทำคอนโด ก็พอดี เจเรียนจบมาช่วยทำด้านการตลาดให้”
แต่ที่เป็นโครงการที่เจดำเนินการเองทั้งหมด คือโครงการแนวราบ ที่รังสิต คลองสี่ เป็นที่ดินของพ่อ โครงการทาวน์โฮม จำนวน 44 ยูนิต โดยยึดแนวดำเนินโครงการแบบอย่างพ่อคือ build in ให้ทั้งหลัง และเปิดทางเลือกลูกค้าให้สามารถตกแต่งห้องได้เองด้วย
นอกจากนี้ ยังเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ ภายใต้แบรนด์ “WE HOME” นั่งบริหารเต็มตัวที่บริษัท วี โฮม ดีสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ ซึ่ง เจนิยามธุรกิจใหม่นี้ว่า คือสถานที่รวบรวมโซลูชั่นต่างๆ สำหรับบ้าน ที่คัดสรร เลือกสินค้าและบริการเพื่อสุขภาวะที่ดีให้กับคนในบ้าน ต่อยอด บัณฑิต กรุ๊ป จากผู้สร้างที่อยู่อาศัย ขยายสู่การสร้างคุณภาพชีวิตให้กับลูกบ้านและผู้บริโภค
“เป็นแนวคิดของป๊า อยากขายวัสดุก่อสร้าง เพราะปกติสั่งวัสดุต่างๆ มาจากจีนในโครงการของเราอยู่แล้ว โดยมีที่ 13 ไร่ ที่รังสิตติดถนนหลักใช้เก็บวัสดุภัณฑ์ จึงเกิดไอเดียขึ้น ช่วงแรก เจไม่คิดจะร่วมด้วย ต้องการโฟกัส “วีคอนโด” ที่ได้รับมอบหมาย ทำให้ดีที่สุดก่อน แต่คงเป็นจังหวะชีวิตเพราะหลังร่วมประชุมถึงรู้ว่ายังไม่มีการเตรียมแผนเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ทั้งการทำพีอาร์ ทำการตลาด จึงมาช่วยคิดว่า หากจะทำเหมือนแบรนด์ค้าวัสดุอื่นๆ ในตลาด แล้ว WE HOME จะแตกต่าง จุดขายอยู่ไหน จึงคิดเป็นโซลูชั่นตอบโจทย์ทุกเจนในบ้าน”
สินค้า วีโฮม จัดแบ่งเป็น 6 โซน ตามไลฟ์สไตล์และการใช้งาน จัดทำในรูป exhibition เพื่อ exducate ใช้พื้นที่ 4,600 ตร.ม. จับกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม คือ 1. Active generation อายุ 20-30 ปี กำลังสนใจการปรับปรุงสภาพแวดล้อมตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น 2.กลุ่ม young family ที่มีเด็กอายุ 2-7 ขวบในบ้าน กำลังจะเริ่มสร้างครอบครัว ต้องดูแลสุขอนามัย ดูแลความปลอดภัย 3.กลุ่ม Pet Lovers คนเลี้ยงสัตว์เลี้ยง และกลุ่ม 4-5 คือ People with disability คือกลุ่มที่มีผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ และ กลุ่ม 5 Senior Citizen ผู้เกษียณอายุ หรือคนที่อยู่กับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่คนจะเน้นปรับปรุงบ้าน
ทุกโซนจะมีสินค้านวัตกรรม เทรนด์ของโลก โดยเปิดบริการออนไลน์ www.wehome.center แล้วเมื่อเดือนเมษายนที่่ผ่านมา ส่วนแฟล็กชิพสโตร์จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ ตั้งเป้ายอดขายปีแรก 200 ล้านบาท และขยับเพิ่มขึ้น 15-20% ในปีถัดๆ ไป กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ babyboomer และ Gen x เป็นกลุ่มทรงอิทธิพลของตลาด ณ ปัจจุบันและอนาคต
เจกล่าวถึงแผนธุรกิจบริษัทได้อย่างถูกใจป๊า แต่เธอกล่าวว่าไม่ใช่สิ่งที่เธออยากทำแต่แรก เพราะความตั้งใจจริงตั้งแต่ยังเรียนหนังสือคืออยากทำอาชีพที่ตอบแทนสังคม อย่าง เอ็นจีโอ ด้วยรู้สึกว่าเป็นคนมี previleage (สิทธิพิเศษ) แต่บางคนไม่มี จนโตขึ้นเข้าวัยที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้รู้ว่าการตอบแทนสังคมไม่จำเป็นต้องเป็นเอ็นจีโออย่างเดียว หากต้องทำธุรกิจที่เป็นหน้าที่ในฐานะลูกของพ่อ ก็สามารถตอบแทนสังคมได้ด้วย อย่างน้อยที่สุด การทำธุรกิจให้ดี ก็สามารถดูแลพนักงานให้ดีด้วย พนักงานสามารถเลี้ยงดูครอบครับให้ดีเช่นกัน และอีกสิ่งที่ป๊าทำมาตลอดของชีวิตทำงานคือไม่เอาเปรียบลูกค้า เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า บวกมาร์จิ้นเล็กน้อยเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้…แค่นั้น”
ฟังดูทุกอย่างลงตัว เจทำธุรกิจได้โดยไม่ฝืนตัวตนและแนวคิด แต่ เจยังไม่หยุดสิ่งที่เป็นความฝันของเจ ที่เจ้าตัวกำลังจะไปให้ถึง คือการทำรายการพอดแคสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องครอบครัว เด็ก “เป็นโปรเจ็กต์ที่คิดและอยากทำ เป็นรายการทำร่วมกับหมอ อยากมีแพลตฟอร์มที่เด็กสามารถ interactive ได้ เป็นพื้นที่ให้เด็กๆ สามารถเปิดรับเรื่องความรู้สึกของตัวเอง”
เพราะจุดหมายปลายทางของทายาท บัณฑิต กรุ๊ป เจ้าตัวบอกว่า “ไม่ใช่เรื่องเงิน อยากช่วยคนอื่นได้ โดยไม่ทำให้ตัวเองลำบาก”
เกษมณี นันทรัตนพงศ์