‘นักธุรกิจ-นักเก็งกำไร’ ต้านภาษีลาภลอย บิ๊กมหาดไทยเชื่อไม่เกิดหวั่น ‘บิ๊กตู่-พปชร.’ อ่วม

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน



บิ๊กมหาดไทย ระบุ ภาษีลาภลอย คงไม่เกิดในรัฐบาลบิ๊กตู่ เชื่อ ‘โอกาส-เวลา’ ไม่เหมาะสมทั้งในด้านเศรษฐกิจ-การเมือง แม้ว่า ‘คลัง’ จำเป็นต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นก็ตาม หวั่นหากนำมาใช้ ‘บิ๊กตู่-พปชร.’ ถูกถล่มแน่ กระทบเลือกตั้งครั้งหน้า ด้าน ‘โสภณ พรโชคชัย’ ประธาน AREA แจง เป็นแค่การโยนหินถามทาง เนื่องเพราะหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บไม่ชัดเจน ขณะที่บริษัทอสังหา ค้านหัวชนฝา ไม่สมเหตุสมผล แถมโครงการบ้าน-คอนโดสร้างเสร็จ ขายไม่ออกกว่า 6 แสนยูนิต แต่ยอมรับสาธารณูปโภครัฐ ผุดที่ไหนราคาที่ดินเพิ่มสูง เช่นเส้นทางบีทีเอส-ใต้ดินย่านสยามสแควร์จาก ตร.ว.ละ 4 แสน เพิ่มเป็น 3.5 ล้านบาท รัชดาภิเษก-ห้วยขวางจาก ตร.ว.ละ 2 แสน เป็น 1 ล้านบาท !

จากกรณีที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่ปัดฝุ่นนำกฎหมายภาษีลาภลอย หรือ Windfall Tax มาใช้ หลังจากที่มีการริเริ่มในสมัยที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อปลายปี 2560 จนกระทั่งได้มีการยกร่างขึ้นมา และคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติร่างกฎหมายไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการสานต่อ ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาและพิจารณาใหม่อีกครั้ง



รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า โอกาสที่จะนำภาษีลาภลอย มาบังคับใช้ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่น่าจะเกิดขึ้นแม้ว่ารัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องเร่งจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้ในการบริหารประเทศก็ตาม แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมและความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักและภาคเอกชนก็ต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้ามองย้อนไปดูจะพบว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่เข้าเงื่อนไขได้ผลประโยชน์จากการเกิดขึ้นของระบบสาธารณูปโภคของรัฐตัดผ่านจะต้องเสียภาษีลาภลอย วันนี้ธุรกิจเหล่านี้ก็ต้องประสบปัญหาเช่นกันและคอนโดมิเนียมหลายแห่ง ขายไม่ออกมีสภาพร้างเกิดขึ้น

“ถ้ามองในมุมการเมือง รัฐบาลบิ๊กตู่ ยังไม่นำมาใช้แน่ ถ้าใช้ตอนนี้บิ๊กตู่และพรรคพลังประชารัฐถูกถล่มแน่ แล้วใครจะมาเลือกพรรคนี้ คนกำลังทุกข์ยาก กำลังเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจยังจะมาซ้ำเติมกันอีก

ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายตัวนี้ต้องยอมรับว่าเป็นกฎหมายที่ดีที่จะใช้ในการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐซึ่งพิจารณาจากฐานมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้น จากการที่รัฐลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่นสนามบิน รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ไฮเวย์ และเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ส่งผลให้ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณรัศมีโครงการสาธารณูปโภคปรับราคาสูงขึ้นตามมา โดยกำหนดเพดานภาษีไว้ไม่เกิน 5% ของมูลค่าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น เบื้องต้นมีการกำหนดรัศมีของผู้ที่มีที่ดินหรืออสังหา ในรัศมี 5 กิโลเมตร

“ต้องไปดูรายละเอียดของกฎหมายอีกที่ สศค.จะมีการปรับอะไรบ้าง เพราะในรัศมี 5 กม.ที่ว่าได้ประโยชน์นั้น เป็นการลงทุนสร้างสนามบิน ถ้าเป็นสาธารณูปโภคอย่างอื่น เช่นรถไฟฟ้าจะขีดรัศมีที่ 2.5 กิโลที่เข้าข่ายเสียภาษีลาภลอย จริง ๆ กฎหมายตัวนี้ต่างประเทศเขาใช้กันเพราะเป็นกฎหมายที่มองไปในอนาคต เมื่อคุณได้ประโยชน์จากรัฐ ก็ควรแบ่งผลประโยชน์ให้กับรัฐด้วย ซึ่งประเทศไทยมีการคิด ร่างเป็นกฎหมายมาหลายปี แต่ยังไม่มีการนำมาใช้”



แหล่งข่าว บอกอีกว่า ก่อนหน้านี้คนนิยมไปซื้อที่ดิน บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมไว้เก็งกำไร แต่ถ้ากฎหมายตัวนี้มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ การซื้อขายเพื่อเก็งกำไร จะซบเซาลงไปทันที เรียกว่าทุกฝ่ายได้รับผลกระทบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการอสังหา นักเก็งกำไร และผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยแท้จริงหากต้องการขายออกไปได้ส่วนต่างก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เราไปซื้อคอนโดมิเนียมในรัศมีที่ถูกกำหนดไว้ยูนิตละ 3 ล้านบาท แต่ถ้าเราไปขายได้ในราคา 4 ล้านบาท รัฐก็จะไปจัดเก็บ 5% ในส่วน 1 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้น

“ถ้าจะถามว่ารัฐใช้ฐานข้อมูลในการจัดเก็บส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือภาษีลาภลอยมาจากไหน ก็ต้องบอกว่าข้อมูลทั้งหมด กรมที่ดินมีพร้อม จากทะเบียนที่ดิน ก็ดูจากสัญญาซื้อขาย สัญญา ที่ดิน ก็มี ซื้อเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่”

อย่างไรก็ดี หากภาษีลาภลอยถูกนำมาใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ นักเก็งกำไรต่าง ๆ จะหายไปและข้อมูลที่สำนักงานที่ดินจะจัดเก็บต่อไปจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องจากการซื้อ-ขายที่เกิดขึ้น เพราะคนเก็งกำไร จะพูดความจริงหรือ ก็เลือกที่จะแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุด เช่นซื้อคอนโดมายูนิตละ 3 ล้าน ปล่อยขายไปที่ 4 ล้านบาท ก็จะแจ้งว่าปล่อยขายไป 3.1 ล้านบาท ซึ่งเขาก็จะเสียภาษีลาภลอยในส่วนของ 1 แสนบาทที่เพิ่มขึ้นมาเท่านั้น

“ในเรื่องของรัศมีที่รัฐขีดไว้ว่าจะได้อานิสงส์จากโครงการ ต้องพิจารณากันให้ดี ถ้าขีดวงกว้างเกินไปคนก็จะเดือดร้อน ซึ่งมีคำถามตามมาว่าในรัศมี 1 กิโลเป็นไปได้ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการแต่ที่ลึกไปถึง 4- 5 กิโลนั้นเขาได้ผลประโยชน์อะไรกับสิ่งที่รัฐลงทุน เรื่องนี้ก็ต้องอธิบายกันให้ชัดเจน”



ด้าน นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) บอกว่าการมีโครงการสาธารณูปโภคของรัฐเกิดขึ้นทำให้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจริง ตัวอย่างเช่นการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลมและสายสุขุมวิท บวกกับการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าใต้ดินในปี 2547 ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้

จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2537 ที่มีการริเริ่มโครงการของบีทีเอส กระทั่งมีการเปิดใช้ จนถึงปัจจุบันนี้พบว่า ที่ดินย่านเยาวราช จากราคา ตร.ว.ละ 700,000 คาดว่าสิ้นปี 2565 จะขยับขึ้นเป็น 1,750,000 บาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 3.3% ขณะที่สยามสแควร์ จาก ตร.ว.ละ400,000 บาท ขยับขึ้นเป็น 3,500,000 บาท เพิ่มขึ้นปีละ 8.1% , สีลม จาก ตร.ว.ละ 450,000 บาท ขึ้นเป็น 2,500,000 บาท เพิ่มขึ้นปีละ 6.3%



สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินพาดผ่านถนนรัชดา-ห้วยขวาง จากเดิม ตร.ว.ละ 200,000 บาท คาดสิ้นปี 2565 ขยับขึ้นเป็น 1,000,000 บาท เพิ่มขึ้นปีละ 5.9% ขณะที่ พระราม 9-ห้วยขวาง จากราคา ตร.ว.ละ 165,000 ขยับขึ้นเป็น 550,000 บาท เพิ่มขึ้นปีละ 4.4%

ที่น่าสนใจเส้นสุขุมวิท-เอกมัยที่รถไฟฟ้า BTS เปิดใช้ จากเดิม ตร.ว.ละ 220,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 1,790,000 บาท เพิ่มขึ้นปีละ 7.8% (ดูตารางการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดิน ประกอบ)



ส่วนกระแสข่าวที่ว่ากระทรวงการคลัง จะจัดเก็บภาษีลาภลอยนั้น นายโสภณ ย้ำว่า ประเด็นนี้เป็นแค่การโยนหินถามทางเท่านั้น เนื่องเพราะภาษีตัวนี้ ดูไม่สมเหตุสมผล แม้ว่าหลักการนั้นจะดี ที่ใครได้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นก็ควรที่จะเสียภาษี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมิน จะอ้างอิงราคาอะไรประเมิน หรือราคาซื้อขายจริง



“คือราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นนั้น เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ได้มีการประเมินหรือเปล่า คือต้องมีฐานราคาที่เป็นธรรมก่อน เช่น ปัจจุบันราคาซื้อขายในตลาดอยู่ที่ตารางวาละ 3.5 ล้านบาท แต่ราคาประเมินของหน่วยงานรัฐได้ล้านเดียว ตอนนี้ผู้ประกอบการเขาก็งง ว่าคิดจากฐานอะไรกันแน่ในการจัดเก็บ ไม่ใช่ประเมินส่งเดช”

ประธานศูนย์ข้อมูล AREA บอกอีกว่า การเก็บภาษีลาภลอยนั้น เท่าที่มีการพูดคุยกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้งในตลาดและนอกตลาดฯ ต่างก็ค้านหัวชนฝา เพราะปัจจุบันบริษัทอสังหา ก็ประสบปัญหาในการขาย สร้างเสร็จแล้วขายไม่ออกจำนวนมาก บ้านร้าง อาคารร้าง เยอะมาก ยังจะมาคิดเรียกเก็บภาษีกันอีก แบบนี้ลูกค้าก็หายกันไปหมด

“รัฐต้องกำหนดกฎเกณฑ์และต้องมีราคาอ้างอิงชัดเจนค่อยมาจัดเก็บภาษีลาภลอย เพราะเวลานี้บ้าน คอนโดสร้างเสร็จแล้วตามเส้นทางการพัฒนา แต่ไม่มีคนอยู่ ขายไม่ออก 620,000 ยูนิต ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นคอนโดมิเนียม”

ดังนั้นหากรัฐมีการบังคับใช้ภาษีลาภลอย ในเวลานี้คาดว่ากระแสต่อต้านรัฐบาลบิ๊กตู่ และพรรคพลังประชารัฐน่าจะรุนแรง ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน!

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook : https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH

Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link

Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jvNjo/



ส่งหน้านี้ให้เพื่อน