บอร์ดบีโอไอเคาะปรับสิทธิประโยชน์สถานีชาร์จอีวีใหม่เอื้อสตาร์ทอัพลงทุนเพิ่ม

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ดบีโอไอไฟเขียวปรับปรุงประเภทกิจการสถานีชาร์จอีวี 4 ประเด็นเปิดทางสตาร์ทอัพ นักลงทุนรายเล็กลงทุนเพิ่มหวังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ “อีวี” ตามเป้าหมายรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว



น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันนี้ (7 เม.ย.) ว่า บอร์ดบีโอไอได้อนุมัติปรับปรุงสิทธิประโยชน์การให้ส่งเสริมลงทุนกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) ใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1. เดิมกำหนดให้มีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย โดยเป็นประเภท QUICK CHARGE ไม่น้อยกว่า 25% ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี เพื่อเปิดทางให้กับผู้ลงทุนที่เป็นสตาร์ทอัพใหม่ๆ จึงได้เพิ่มเงื่อนไขว่าหากไม่ทำได้ต่ำกว่า 40 หัวจ่ายจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินนิติบุคคล 3 ปี

2. ยกเลิกเงื่อนไขห้ามรับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานราชการอื่นๆ เนื่องจากการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต้องอาศัยมาตรการหลายประการควบคู่กันไปเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาสถานีชาร์จได้เร็วและให้เป็นไปตามแผนงานมากยิ่งขึ้น

3. เดิมกำหนดเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาสถานีชาร์จฯ ต้องได้รับรองมาตรฐาน ISO 18000 โดยเห็นว่าการติดตั้งสถานีชาร์จหลายส่วนไปอยู่ในพื้นที่อื่นๆ เช่น คอนโดมิเนียม ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ การดำเนินการจึงเป็นเรื่องยากจึงยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวและปรับเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

4. กำหนดให้มีการเสนอแผน EV Charging System โดยพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเองโดยเพิ่มทางเลือกให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มบูรณาการหรือแพลตฟอร์มส่วนกลางสำหรับบริหารจัดการเครือข่ายระบบอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะรับหน้าที่ไปพัฒนาแพลตฟอร์มกลางดังกล่าวในระยะต่อไป



“การปรับปรุงสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือธุรกิจ STARTUP สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอได้ง่ายขึ้นและสร้างระบบนิเวศรองรับการบริหารจัดการธุรกิจบริการอัดประจุไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตที่ยอมรับว่าขณะนี้เป้าหมายที่วางไว้จะมีสถานีชาร์จ 1.2 หมื่นแห่งในปี 2030 นั้นขณะนี้ยังคงค่อนข้างห่างไกลจึงต้องเร่งดำเนินการ” นางสาวดวงใจกล่าว


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน