ปคบ.-อย. แถลงผลทลายเครือข่าย บ.หลอกขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ตะลึงรายได้ 250ล้าน
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลจับกุม นายศุภกร (สงวนนามสกุล) อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 606/2565 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ข้อหา “ร่วมกันโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ, ร่วมกันโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันโฆษณาเครื่องสำอางโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จ, ร่วมกันหลอกลวง บิดเบือน นำเข้าข้อมูลเท็จ สู่ระบบคอมพิวเตอร์” พร้อมของกลาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 23 รายการ มูลค่า 80 ล้านบาท หลังจับกุมตัวได้ที่ คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านถนนสุรศักดิ์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ
พล.ต.ต.อนันต์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่ามีกลุ่มเครือข่ายหาผลประโยชน์โดยสร้างเว็บไซต์ที่มีบทความเนื้อหาบรรยายสรรพคุณเกินจริง เพื่อโฆษณาขายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ จนมีประชาชนหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมาก แต่เมื่อได้ใช้แล้วก็ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสืบสวนจนทราบว่า บริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้โฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าว จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอหมายจับ นายศุภกร กรรมการบริษัทฯ จนกระทั่งวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจำนวน 4 แห่ง จนสามารถจับกุมตัวนายศุภกรได้ดังกล่าว พร้อมตรวจยึด คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการกระทําความผิด จํานวน 3 เครื่อง และเอกสารที่เกี่ยวข้องจํานวนมาก
พล.ต.ต.อนันต์ เผยอีกว่า จากการตรวจสอบ พบว่าบริษัทดังกล่าวเปิดเว็บไซต์เพื่อโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีบทความเนื้อหาที่เป็นเท็จและบรรยายสรรพคุณเกินจริง ถึง 20 เว็บไซต์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์บางรายการที่ยกเลิกเลข อย. ไปแล้ว โดยในปี 2564 บริษัทดังกล่าวมีรายได้จากเปิดเว็บไซต์ที่มีข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ ประมาณ 250 ล้านบาท
นอกจากนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้เคยประกาศผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บางรายการของบริษัทดังกล่าว แสดงข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นเท็จ ไม่สามารถรักษาโรคกล่าวอ้างได้ผู้บริโภคอาจเสียโอกาสในการรักษาตัวเอง
จากการสอบสวน นายศุภกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ให้การเพิ่มเติมว่า บริษัทดังกล่าวมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศโปแลนด์ ได้ว่าจ้างให้ตนเป็นกรรมการสาขาประเทศไทย ได้รับเงินเดือน เดือนละ 350,000 บาท ทำหน้าที่ควบคุมดูแลบริษัทซึ่งรับผิดชอบในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมถึงเชื้อเชิญ ดูแลลูกค้า ส่วนการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหาเกินจริงนั้น ได้ว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศรัสเซียดำเนินการ โดยตนเองไม่ทราบรายละเอียดและวิธีในการดำเนินการ
หลังสอบสวนจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป