ข้อมูลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ หรือโทษของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ควรจะพิจารณาจากแหล่งข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก ซึ่งองค์การที่มีความน่าเชื่อถือจากหลักฐานการวิจัยที่พิจารณาข้อมูลจากทั่วโลกมีอยู่ 2-3 องค์กร แหล่งข้อมูลหนึ่งคือ National Academies of Science, Engineering, and Medicine (NASEM) ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกแหล่งหนึ่งคือ Public Health England (PHE) ประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งทั้งสององค์การได้เผยแพร่รายงานการประเมินทางสาธารณสุขของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน และล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2565 มีรายงานจาก Australia National University (ANU) ที่เผยแพร่แนวทางการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์จากผลกระทบต่อสุขภาพ (Health impacts of electronic cigarettes, 2022)
การวิเคราะห์รายงานการประเมินจากทั้งสามองค์การ มีข้อสรุปที่แตกต่างกันสำหรับนโยบายสาธารณสุข โดย PHE สนับสนุนว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน ถึง 95% (BMJ 2015;351:h4863) ในขณะที่ ทั้งสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ระมัดระวังเป็นอย่างมากที่จะสนับสนุนว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ได้
คำอธิบายอยู่ที่การวางกรอบว่าจะใช้ข้อมูลอะไรเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ สำหรับ NASEM กรอบแนวคิดคือจะทำอย่างไรที่จะปกป้องผู้ไม่สูบบุหรี่จากอันตรายของการได้รับนิโคติน และสารปนเปื้อนอื่นๆ หรือความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ที่ทำให้ดูเป็นสิ่งปกติในสังคม (renormalization) มาตรฐานของการป้องกันและระมัดระวัง (precautionary) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างน่าตกใจ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
ในขณะที่ PHE มีรายงานที่สนับสนุนนโยบายระดับชาติให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นทางเลือกจากการสูบบุหรี่มวน ด้วยการรณรงค์ในปี พ.ศ. 2560 ว่า ‘เลิกสูบบุหรี่ด้วยบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์’ และต้องพิจารณาด้วยว่า อังกฤษเป็นกรณีที่แตกต่างอย่างสุดโต่งระดับโลกในกรณีของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากตั้งแต่ต้นหน่วยงานด้านสุขภาพของอังกฤษได้รับทุนสนับสนุนจากอุตสาหกรรมยาสูบ (Elias J, Ling PM, 2018; Russel M, 1976)
ANU มีจุดยืนว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นอันตรายต่อผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และเยาวชน (E-cigarettes health outcomes review summary brief) จากการทบทวนอย่างเป็นระบบ ผู้เลิกสูบบุหรี่สำเร็จส่วนใหญ่ไม่ต้องมีสิ่งใดช่วย นอกจากนี้ 53% ของผู้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้ที่สูบบุหรี่มวนด้วย (dual users) สำหรับสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ประเด็นหลักสำคัญคือ จะปกป้องเด็ก เยาวชน และผู้ไม่สูบบุหรี่อย่างไร โดยเฉพาะรายงานของ ANU ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากกว่า บ่งชี้ว่าหลักฐานด้านประสิทธิผลมีน้อยมากของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในการช่วยเลิกสูบบุหรี่มวน เพราะผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ที่ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ช่วยเลิกสูบบุหรี่ ยังเป็นผู้ที่สูบบุหรี่มวนอยู่
กลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่
ประเด็นต่อมาคือ คำถามว่าความเสี่ยงเกี่ยวกับ “ความปลอดภัยกว่า” แต่ “ไม่ปลอดภัย” ของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ มีอย่างไรต่อผู้ไม่สูบบุหรี่? ความสำคัญในการปกป้องผู้ไม่สูบบุหรี่เป็นนโยบายควบคุมยาสูบที่สำคัญสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา วงการสาธารณสุขมีนโยบายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ซี่งความมุ่งมั่นต่อนโยบายนี้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับนโยบายควบคุมยาสูบอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาตลอดมา ในปี พ.ศ. 2558 วงการสาธารณสุขได้กระตุ้นให้ Department of Housing and Urban Development (HUD) ออกกฎหมายห้ามทั้งบุหรี่สูบและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในอาคารสาธารณะ รวมทั้งอพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม ฯลฯ ด้วยเหตุผลว่าเป็นความเสี่ยงต่อผู้ไม่สูบบุหรี่ ในจดหมายที่ส่งไปถึงรัฐมนตรีกระทรวง HUD องค์การสาธารณสุขในประเทศสหรัฐอเมริกาเกือบ 40 องค์การ ให้ข้อมูลว่า “ไอระเหยจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสารนิโคติน และซึมซับเข้าไปในร่างกายของทั้งผู้สูบและไม่สูบ จึงไม่ปลอดภัยเท่ากับอากาศบริสุทธิ์ที่ไม่มีสารปนเปื้อน”
สมาคมสาธารณสุขแห่งรัฐนิวยอร์คสนับสนุนนโยบายห้ามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มที่ด้วยเหตุผลว่า “งานวิจัยบ่งชี้ถึงสารเคมีอันตราย และสารก่อมะเร็งที่มีอยู่ในไอระเหยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์” ในเวลาเดียวกัน รายงานจากสำนักแพทย์ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General) ปี พ.ศ. 2559 รายงานว่า “เป็นความสำคัญอย่างมากที่ต้องปกป้องสาธารณชนจากทั้งควันบุหรี่มือสองและไอระเหยมือสอง เพื่อป้องกันการได้รับสารนิโคตินและสารปนเปื้อนอื่นๆ ที่มีอยู่ในไอระเหยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์”
จากข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ NASEM สรุปว่า เนื่องจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มี และปล่อยสารพิษ ซึ่งจะทำให้ผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับสารนิโคตินและสารอื่นๆ ในขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (US-CDC) เผยแพร่รายงานต่อมาว่า “ไอระเหยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่ปลอดภัย เพราะมีสารนิโคติน สารโลหะหนัก เช่น ตะกั่วและสารก่อมะเร็งอื่นๆ” ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือสารนิโคติน ซึ่งในอดีตไม่ได้มีการศึกษาอย่างละเอียดถึงอันตรายที่คุกคามต่อสุขภาพ แต่ในปัจจุบันเป็นที่สนใจในการวิจัยทางชีวภาพการแพทย์ และเชิงนโยบาย
ในขณะที่รายงานของ ANU บ่งชี้ว่า หลักฐานเชิงประจักษ์จากทั่วโลกพบว่าการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อผู้ไม่สูบบุหรี่และกลุ่มเยาวชน เพราะในไอระเหยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีสารพิษมากกว่า 100 ชนิด นอกจากนี้ มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นถึงอันตรายของสาร นิโคติน ที่มีผลต่อสมองโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง เพราะมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่มาใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์
กลุ่มเด็กและเยาวชน
รายงานของ NASEM สรุปว่า ”มีหลักฐานหนักแน่นว่าการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเยาวชนเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้บุหรี่มวน” เด็กและเยาวชนที่เริ่มใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นผู้สูบบุหรี่มวน ดังนั้น สำหรับผู้จัดทำนโยบายจำเป็นจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการช่วยให้ผู้ใหญ่เลิกสูบบุหรี่มวน กับการเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กและเยาวชนกลายเป็นนักสูบในอนาคต ในขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลจากประชากรกลุ่มใหญ่พบว่า กลยุทธ์การใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือในการช่วยเลิกสูบบุหรี่ จะคุ้มค่าในการต้องแลกกับการทำให้เยาวชนรุ่นใหม่กลายเป็นนักสูบหรือไม่
ในขณะที่รายงานจาก ANU ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากกว่าทั้งของ NASEM และ PHE บ่งชี้ว่า หลักฐานเชิงประจักษ์จากทั่วโลกเน้นถึงอันตรายจากการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากสาร นิโคติน มีผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง นอกจากนี้ ผลกระทบของการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ต่อสุขภาพในระยะยาว ยังไม่มีหลักฐานของความปลอดภัย
ในทางตรงกันข้ามรายงานของ PHE ไม่เห็นว่ามีหลักฐานที่เพียงพอว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นประตูนำทางเยาวชนไปสู่การสูบบุหรี่มวนได้ แต่ในปัจจุบัน วงการสาธารณสุขของอังกฤษเริ่มเห็นความหายนะที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนอังกฤษที่มีการแพร่ระบาดของการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การเมืองเรื่องการลดอันตราย
รายงานของ ANU คือบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมายในออสเตรเลียเมื่อมีใบสั่งจากแพทย์เพื่อใช้ในการเลิกสูบบุหรี่เท่านั้น แต่จากสถิติ ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่มวนส่วนใหญ่สามารถเลิกได้โดยไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องมือในการช่วยเลิกสูบบุหรี่ ทั้งนี้ มีอันตรายจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพนับร้อยชนิดในไอระเหยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน เนื่องจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทให้ความร้อน มีความเข้มข้นของนิโคตินสูง จึงถูกบ่งชี้โดยสำนักแพทย์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General) และกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา (Health Canada) ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความชุกของการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน
รายงานของ ANU เน้นว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เป็นอันตรายต่อกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ กลุ่มเด็กและเยาวชน สำหรับกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เป็นสิ่งที่ช่วยในการเลิกสูบบุหรี่นั้น เมื่อชั่งน้ำหนักของความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะได้รับ ยังไม่มีความชัดเจน
ข้อสรุป
นับตั้งแต่ PHE แถลงจุดยืนว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน 95% ทำให้ความน่าเชื่อถือจากนักวิชาการ นักวิจัย นักสาธารณสุข และการแพทย์ ทั้งในและนอกสหราชอาณาจักรลดลงไป มีการเปิดโปงถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษและเครือข่ายบริวารของอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่องค์กร PHE ถูกยุบลงในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2020
และเป็นที่น่าสังเกตว่า รายงานของกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ที่พิจารณาศึกษายาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ไม่มีส่วนใดเลยที่เสนอให้ยกเลิกการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งรัฐสภา จึงต้องสนับสนุนนโยบายในการปกป้องเด็กและเยาวชนไทย เพื่อไม่ให้เกิดหายนะทางสาธารณสุข เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา