สนามข่าว 7 สี – เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่น้อย หลังครม.ไฟเขียว ให้ต่างชาติถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ แลกกับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี แต่ในมุมมองของภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังเห็นว่า เป็นมาตรการที่เกาไม่ถูกที่คัน ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่คาดหวัง
ภาคอสังหาริมทรัพย์ ชี้ชาวต่างชาติถือครองที่ดิน 1 ไร่ กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้
ความจริงกติกาที่ให้ต่างชาติถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ แลกกับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ดินตั้งแต่ปี 2542 แต่ผ่านมากว่า 20 ปี มีต่างชาติใช้ช่องทางนี้เข้ามาถือครองที่ดินเพียงแค่ 8 รายเท่านั้น เพราะมีความยุ่งยากในขั้นตอนพิจารณาและอนุมัติ เป็นสาเหตุให้ต้องร่างกฎกระทรวงใหม่ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ลดระยะเวลาการลงทุนจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี กำหนด 4 กลุ่มเป้าหมายคือ ประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานในประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่หลัง ครม.มีมติเรื่องนี้ ก็เริ่มมีเสียงคัดค้านว่าจะกระทบกับการครอบครองที่ดินของคนไทยในอนาคต จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับคนในสังคมด้วย
ก็เป็นคำอธิบายจากคุณนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีส่วนเดินหน้าเรื่องนี้ ขณะที่มุมมองของนักธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังเห็นว่าเป็นมาตรการที่ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ โดยเสนอให้ต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ ที่ดินได้ไม่เกิน 49% ของพื้นที่ที่กำหนด เหมือนกรณีถือครองกรรมสิทธิ์ในคอนโดมิเนียม
นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยกับเราด้วยว่า จะมีการเสนอความเห็นไปยังรัฐบาลเร็ว ๆ นี้ โดยเชื่อว่า หากเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินได้ง่ายขึ้น จะเป็นการเปลี่ยนโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งสำคัญ จากการพึ่งพาต่างประเทศ มาเป็นการพึ่งพิงการบริโภคภายในประเทศ โดยนักท่องเที่ยวที่อยู่อาศัยในระยะยาว
ประเทศใหญ่ไฟเขียวซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่ดินเสรี อาเซียนเน้นให้เช่าระยะยาว
คราวนี้ไปส่องดูหลายประเทศยอดนิยมของคนทั่วโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร จะเน้นไปที่ให้นำเงินไปลงทุน และจัดเก็บภาษีบ้าน ที่ดิน ในอัตราที่สูงลิบ แลกกับการมีบ้านอยู่ถาวร
ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็คล้าย ๆ กันคือต้องมีเงินลงทุนต่อเนื่องแลกสิทธิอยู่ถาวร ขณะที่ญี่ปุ่น บ้าน-ที่ดินแพงสุด ๆ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ส่วนจีน ต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีท้องถิ่นต่อเนื่องและภาษีค่อนข้างสูง ที่สำคัญได้สิทธิแค่เช่า 70 ปี
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ที่ฮอตสุด ๆ อยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งบ้านบนเกาะแพงสุด ๆ และซื้อได้เฉพาะพื้นที่ที่รัฐกำหนดในอัตราอากรที่สูง ส่วนที่ดินเช่าเท่านั้น ขณะที่การมีบ้าน-คอนโดในกัมพูชา สปป.ลาว ต้องบริจาคหรือลงทุนในประเทศของเขา
หรืออย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซื้อคอนโด-อาคารได้ แต่เวียดนาม ได้เฉพาะซื้อสิทธิเช่าคอนโด-อาคารเท่านั้น ส่วนที่ดินประเทศกลุ่มอาเซียน เน้นให้เช่าในระยะยาวเท่านั้น