เขาคือผู้ก่อตั้ง HAUS 51 Studio รับออกแบบและจัดสวนทุกประเภท ในกรณีที่ลูกค้าต้องการต่อเติมส่วนใดของบ้าน เขาก็สามารถทำให้บรรลุความปรารถนาได้อย่างไม่ยากเย็น ใช่เพียงเท่านั้น ระยะเวลาเพียงไม่นานปี นับแต่ก่อตั้งบริษัท เขาออกแบบและจัดสวนไปแล้วไม่น้อยกว่า 50 งาน
ชีวิตของชายหนุ่มคนนี้จึงนับว่ามีจังหวะก้าวที่น่าสนใจยิ่ง ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย
คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เรียนวิชาเลือกเป็นนักออกแบบภูมิทัศน์โดยตรง เมื่อจบการศึกษาแล้วเข้าทำงานบริษัทประมาณ 10 ปี
ได้เรียนรู้ขอบข่ายหน้าที่การงานหลายแขนง เป็นต้นทุนสำคัญยิ่ง ด้วยเมื่อมีปัจจัยสำคัญในชีวิตทำให้ต้องเปลี่ยนเข็มทิศการทำงานในบริษัทคนอื่น เป็นแรงผลักในการก่อตั้งบริษัทของตนเองขึ้น ด้วยจำนวนงานเกินกว่ากึ่งร้อย ที่เขารับผิดชอบ เป็นหัวเรือใหญ่ตามลำพัง และใช้วิธีประสานสิบทิศกับช่างแขนงต่างๆ และทุกๆ งาน ลูกค้าจึงล้วนชื่นชอบและชื่นชม กลับมาใช้บริการงานจัดสวนของเขาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ภาสกร เอกจิโรภาส’ ผู้ก่อตั้ง HAUS 51 Studio นักออกแบบและนักจัดสวนถึงมุมมองแหลมคมเกี่ยวกับ ‘เทรนด์’ ของการจัดสวนว่ารูปแบบไหนที่ลูกค้านิยมชมชอบ วิเคราะห์ตลาดต้นไม้ และกระแสความนิยมของผู้คนในสังคมเมืองที่โหยหาธรรมชาติในยุควิกฤติโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยและมูลเหตุแห่งความนิยมที่ผู้คนมีต่อการจัดสวน
ไม่เพียงเท่านั้น ภาสกรยังเปิดเผยด้วยว่า HAUS 51 Studio ที่เขาก่อตั้งขึ้นนั้น มีเขาเพียงคนเดียว ทว่า เมื่อรับงานมา เขาก็จะหาทีมงานที่พร้อมสร้างสรรค์งานไปด้วยกันอย่างรู้ใจ เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทุกคนต่อเนื่องเสมอมา และในอนาคต เขายังวางเป้าหมายไว้ด้วยว่า สนใจงาน Developer หรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
หากวันนั้นมาถึง เชื่อเหลือเกินว่า แวดวงอสังหาริมทรัพย์ ย่อมคึกคักไม่น้อย ด้วยไม่เพียงวิเคราะห์ คาดการณ์ตลาดได้ แต่เขายังออกแบบและจัดสวนตรงตามที่ลูกค้าต้องการได้อย่างไม่มีตกหล่น
และนับจากนี้ คือเรื่องราวของชายหนุ่มนักออกแบบผู้มากด้วยฝีไม้ลายมือในงานออกแบบสร้างสรรค์ หากยังสามารถวิเคราะห์ตลาดต้นไม้ เทรนด์การจัดสวนและคาดการณ์ยุคสมัยข้างหน้าได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
บ้านคือ ‘HAUS 51 Studio’
ถามว่ามีตำแหน่ง อะไรใน HAUS 51 Studio
ภาสกรตอบว่า เป็นทั้งเจ้าของและผู้ก่อตั้ง
ถามว่าสาเหตุที่เลือกใช้คำว่า HAUS 51 Studio มีที่มาอย่างไรและมีความหมายอย่างไร เนื่องจากพ้องเสียงกับคำว่า House ที่แปลว่าบ้าน ‘บ้าน’ แต่ชื่อบริษัทของภาสกรมีการสะกดคำที่แตกต่างออกไป และเป็นตัว A
ภาสกรอธิบายว่า “ เลข 51 เป็นบ้านเลขที่ผมครับ จึงนำเลขดังกล่าวมาใช้ เป็นที่มาของชื่อ HAUS 51 Studio
แล้วนำคำว่าบ้าน มาเปลี่ยนเป็น HAUS ซึ่งคำว่า HAUS ที่ผมใช้นี้ ผมอยากให้มีความโมเดิร์นขึ้นมานิดนึง เป็นแนว Nordic ก็ไปเห็น HAUS ของสวีเดน ซึ่งใช้ตัว A เป็นตัวสะกด จึงนำเอามาใช้ครับ
บริษัทเริ่มก่อตั้งขึ้น เมื่อผมลาอออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน ประมาณปี พ.ศ.2560- พ.ศ. 2561 ครับ เพราะฉะนั้น ปีนี้ นับว่ากำลังจะเข้าสู่ปีที่ 5 ครับ” ภาสกรระบุ
ถามว่า เมื่อก่อตั้ง HAUS 51 Studio ขึ้นมา เรียกตัวเองว่าอย่างไร นักออกแบบหรือว่านักจัดสวน
ภาสกรตอบว่า
“ณ ช่วงแรกเริ่ม ผมเป็นนักออกแบบก่อนครับ ก่อนที่จะออกมาเปิดบริษัทเอง ผมทำงานจัดสวนอยู่ประมาณ 2 ปี แล้วในบริษัทที่ทำอยู่ก็มีบริษัทในเครือที่เป็น Developer (หมายเหตุ : ในที่นี้ หมายถึงการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ )
เขาเห็นความสามารถของผม ในเรื่องของแบบ เรื่องของดีไซน์ได้ เขาก็ดึงผมไปเป็นสถาปนิก เป็น Senior ก็เลยได้ไปเรียนรู้งานก่อสร้างคอนโดกับเจ้านายเก่า ก็อยู่กับพวกเขาอีกประมาณ 8 ปีครับ”
ถามว่า งานที่บริษัทแรก มีตำแหน่งหน้าที่อะไร เป็นนักออกแบบหรือนักจัดสวน
ภาสกรตอบว่า “ใช่ครับ มีทั้งเป็นงานออกแบบ ไปคุมหน้างานและงานจัดสวนด้วย
รวมถึงบริษัททั้งสองแห่งที่ทำอยู่ 8 ปีนั้น คือรวมทั้งงานออกแบบและงานจัดสวน
มีทั้งงานดีไซน์ ทำโปรดักชั่นงานจัดสวน ส่วนงานบริษัทที่สอง ที่ผมไปเป็นนักออกแบบนั้น ผมทำงานที่นี่ได้ประมาณ 1 ปี 2 เดือน ผมก็โดนดึงไปส่วนของ Developer หรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เลย ซึ่งงานจัดสวนก็มีให้ทำบ้างครับ ในแง่ของการออกแบบภูมิทัศน์เมื่อเราทำให้คอนโด เช่น คอนโดมีทั้งสิ้น 7 อาคาร และมีบริเวณที่เป็นสวนส่วนกลาง ผมก็ได้ร่วมออกแบบ แล้วก็ได้ร่วมจัดสวน ร่วมออกแบบด้วย” ภาสกรระบุ
พร้อมโบยบินสู่โลกกว้าง
ถามว่าเมื่อถึงจังหวะชีวิตที่ต้องไปเปิดบริษัทของตัวเองแล้ว คุณรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อมาถึงปีนั้น คุณพร้อมจะบินด้วยตัวเองแล้ว
ภาสกรกล่าวว่า “ต้องเท้าความครับ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมเรียนอยู่คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมทั้งเลือกวิชาเลือกเป็นนักออกแบบภูมิทัศน์โดยตรงครับ ผมทำงานอยู่ที่ภูเก็ตประมาณ 10 ปี คือเมื่อครั้งที่ผมเป็นนุษย์เงินเดือน ผมทำงานอยู่บริษัทแรกประมาณ 2 ปีครับ และอีกบริษัท ทำงานอยู่ที่นั่นประมาณ 8 ปี รวมเป็น 10 ครับ
แล้วผมก็ตัดสินใจออกมาเปิดบริษัท ด้วยความที่มีลูกครับ เพราะผมทำงานอยู่ที่ภูเก็ตแต่บ้านแฟนผมอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ฝ่าฟันชีวิตมาครับ ดังนั้น ถ้าจะให้พูดจริงๆ แล้ว ผมตอนนั้นผมยังไม่พร้อมหรอกครับ แต่ก็อย่างที่บอกครับ ลูกสาวก็เพิ่งจะคลอดแล้วเราจะทำยังไงดีกับชีวิต ซึ่งผมยังไม่มีญาติผู้ใหญ่ที่จะมาช่วยในการเลี้ยงดูลูกให้ ก็เลยตัดสินใจ ‘งั้นลาออกแล้วกัน!’ จากนั้นก็เริ่มต้นเปิดบริษัทเลยครับ แต่ก็คิดอยู่ว่าจะทำอะไรดี แล้วก็คิดว่าเราเรียนจบมาทางด้านงานจัดสวนอยู่แล้ว แม้เราจะทำได้ไม่ต่อเนื่อง แต่เราก็กลับมารื้อฟื้นตำราใหม่ได้ ก็เริ่มต้นกับงานจัดสวนใหม่ ส่วนในการทำงานเราก็เป็นนักออกแบบได้อยู่แล้ว” ภาสกรระบุ และอธิบายเพิ่มเติมถึงการโบยบินสู่โลกกว้างด้วยการเปิดบริษัทของตัวเอง ว่า HAUS 51 Studio ก่อตั้งประมาณช่วงปลายปี พ.ศ.2560 ส่วนลูกสาวคลอดในปี พ.ศ. 2561 ดังนั้น ลูกสาวจึงมีอายุเป็นน้องบริษัท ประมาณ 1 ปี
เมื่อขอให้เล่าย้อนกลับไปเมื่อครั้งเรียนคณะเทคโนโลยีการเกษตร ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเรียนวิชาเลือก การออกแบบภูมิทัศน์ ว่าเป็นอย่างไร
ภาสกรตอบว่า ในหลักสูตรที่เรียน เมื่ออยู่ปีที่ 3 จะมีวิชาเลือก 2 แขนง คือการเลี้ยงเพาะพันธุ์เนื้อเยื่อเพื่อจบไปเป็นนักวิทยาศาศตร์ และอีกทางเลือกหนึ่งคือเป็นนักจัดการภูมิทัศน์
“ผมก็ตัดสินใจเรียนทางด้านการจัดการภูมิทัศน์เพราะผมชอบศิลปะ ชอบธรรมชาติ ชอบต้นไม้
หากถามว่า รู้จักตัวเองดี รู้จักตัวเองชัดเจนไหมก็ต้องตอบว่าใช่ครับ
ในการเรียนช่วงปีที่ 3 จริงๆ แล้วก็เริ่มที่จะต้องเลือกแล้วครับ เพราะว่าที่บ้านก็ไม่ได้มีทรัพย์สินให้เรามากพอถึงขนาดเปลี่ยนสายการเรียนได้ เช่น ‘ถ้าไม่อยากเรียนทางนี้ ไปเรียนคณะสถาปัตย์ฯ ได้นะ’ ทำแบบนั้นไม่ได้ครับ
จุดนี้นับว่าเป็น Point ในชีวิตเหมือนกันว่าเราก็ต้องเรียนให้จบ ก็มีคิดเหมือนกันนะครับ
เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าถามว่าผมชอบอะไรในการเรียนปริญญาตรี ผมชอบในงานศิลปะ ชอบในงานออกแบบมากกว่า
แต่ด้วยความที่บ้านไม่ได้รวยและช่วยเราได้ขนาดนั้น เราก็ต้องทนเรียนต่อไปจนจบ ผมก็ต้องเรียนทางด้านที่อิงอยู่กับงานศิลปะ อิงอยู่กับธรรมชาติ ก็เลยเลือกการจัดการภูมิทัศน์ เพราะเราก็มีความสุขที่ได้ทำงานเหล่านี้ โดยที่เราไม่ต้องเสียประโยชน์อะไรเลย ก็เดินหน้าต่อครับ” ภาสกรระบุ
หัวใจของการจัดสวนและออกแบบภูมิทัศน์
ถามว่าหัวใจของการจัดสวนหรือการออกแบบภูมิทัศน์คืออะไร
นักออกแบบและนักจัดสวนผู้นี้ตอบว่า
“หัวใจสำคัญของการออกแบบภูมิทัศน์
อันดับแรก ต้องบอกว่ามันขึ้นอยู่กับสถานที่นั้นๆ ที่ต้องการปรับภูมิทัศน์น่ะครับ ว่าพื้นที่ในละแวกนั้น พื้นที่โดยรอบ หรือพื้นที่ที่อยู่รายรอบแล้วก็แวดล้อมอยู่นั้น มีสิ่งไหนที่ไม่สวยงามบ้าง ถ้าสิ่งไหนที่สวยงามอยู่แล้วเราก็เก็บไว้
แล้วก็ต้องให้ความสำคัญกับทั้งแดด แสง เงา รวมทั้งไม้ร่ม ไม้แดด เราก็ต้องดูทิศทาง ดูลมด้วยครับ
โดยรวมแล้วมีความเป็นศาสต์ศิลปะแขนงหนึ่งเลยครับ สำหรับงานงานจัดสวน
ถือว่าผมได้ทำงานในสิ่งที่รัก ที่เรียนมาครับ” ภาสกรระบุ
ประสบการณ์ประทับใจ ออกแบบทุกอย่างด้วยตนเอง
เมื่อขอให้เล่าถึงประสบการณ์ที่น่าสนใจในการจัดสวน
ภาสกรตอบว่า เมื่อออกมาตั้งบริษัทเอง ก็ต้องเป็นทั้งนักออกแบบ เป็นคนทำราคา เสนอราคาลูกค้าบ้าง รวมทั้งหาคนมาช่วยทำงานให้ เพื่อให้งานนั้นๆ จบลงอย่างสมบูรณ์
ส่วนอุปสรรคมีบ้าง อาทิ ในช่วงแรก ต้องหาช่างมาทำงานให้ ซึ่งก็มีกรณีที่เบิกค่าแรง ในรูปแบบเบิกเงินล่วงหน้าแล้วหายไปเลย
“ส่วนใหญ่จะเจออย่างนั้นครับ ช่วง 2-3 ปีแรก โดยเฉพาะ 2 ปีแรก
เจอแบบ โอ้โห! เคยท้อนะครับ เคยถามตัวเองเหมือนกัน แต่เราสู้มาแล้วครับ ทำยังไงได้ ก็ต้องเดินหน้าต่อ”
ถามว่าที่บริษัทมีนักออกแบบ หรือนักจัดสวนทั้งหมดกี่คนภาสกรหัวเราะอย่างอารมณ์ดีว่า “มีผมคนเดียวนี่แหละครับ
ทำคนเดียวทุกหน้าที่ครับ
เมื่อก่อตั้งบริษัทและทำงานจัดสวนไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีงานต่อเติมเข้ามา มีลูกค้าบอกว่า อยากได้อันนั้น อันนี้เพิ่ม เช่น ‘อยากได้กันสาดเพิ่มเติม อยากได้ครัวหลังบ้านเพิ่ม ทำได้ไหม’ ผมก็ ‘ได้ครับ ผมก็ออกแบบ ทำแบบ ส่งแบบให้ลูกค้าดู เมื่อลูกค้า Approved เราก็เสนอราคา
งานที่เข้ามาในช่วงแรกๆ จึงมีทั้งงานจัดสวนและงานออกแบบต่อเติมมาด้วย ผมก็เลยได้ทำทั้งงานออกแบบและจัดสวนควบคู่กันอย่างนี้มาเรื่อยๆ” ภาสกรระบุ
ทั้งยอมรับว่าการเป็นทั้งนักออกแบบและสามารถจัดสวนได้ในคนๆ เดียว นับเป็นจุดแข็งที่น่าสนใจ
ลายเซ็นเฉพาะตัว
ถามว่ากล่าวกันว่านักจัดสวนมักจะมีลายเซ็นเฉพาะ
แล้วลายเซ็นของคุณเป็นแบบไหน และถนัดการจัดสวนสไตล์ไหนเป็นพิเศษ
ภาสกรตอบว่า “ผมก็ตอบตัวเองไม่ได้ เพราะสิ่งที่ผมทำทุกวันนี้ มันยังไม่มีงานไหนที่เป็นลายเซ็นของผมโดยตรง 100% น่ะครับ เพราะว่าส่วนใหญ่ ผมต้องจัดสวนให้กับลูกค้าโดยเฉพาะ ดังนั้น ผมจะทำงานร่วมกันกับลูกค้า ถามไถ่เขาว่าชอบไหม อยากปรับเปลี่ยนอะไรเป็นพิเศษไหม
แต่ถ้าจะมองว่า ลายเซ็นต์ของเราคืออะไร จริงๆ แล้วถ้าเป็นงานจัดสวน ลายเซ็นต์ของผมก็น่าจะมาจากงานสไตล์โมเดิร์นครับ เพราะว่าอิงอยู่กับงานก่อสร้าง งานต่อเติมด้วย เรียกง่ายๆ ว่าเป็นแนวโมเดิร์นทรอปิคัล (MODERN TROPICAL)” ภาสกรระบุ
ถามว่าเหตุใดถึงถนัดงานออกแบบและจัดสวนแนวนี้
ภาสกรตอบว่า “เสน่ห์ของสวนแนวนี้คือความเรียบง่ายครับ แล้วก็น่าจะเหมาะกับสังคมในยุคนี้ ในยุคที่กำลังจะเป็นคือยุคนิวนอร์มอล (New Normal) ซึ่งเราอยู่ในยุคที่มีพื้นที่จำกัดมากๆ แล้ว”
ถามว่านับแต่ก่อตั้ง HAUS 51 Studio ผ่านงานจัดสวนมามากแค่ไหนแล้ว
ภาสกรตอบว่า หากรวมการออกแบบและจัดสวนทุกชนิดไม่ว่าสวนขนาดเล็กหรือสวนที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ งานที่ผ่านมาโดยรวมแล้วก็ถือว่าเกิน 50 งาน
“คือ เริ่มจากงานเล็กๆ น่ะครับ แต่ถ้านับเฉพาะงานขาดใหญ่ ก็อยู่ที่ประมาณ 10 งานครับ” ภาสกรระบุ
มองตลาดต้นไม้ ยุควิกฤติโควิด-19
เมื่อขอให้วิเคราะห์วงการนักจัดสวนหรืองานจัดสวนในไทยว่าเป็นอย่างไร
รวมถึงต้นไม้แต่ละพันธุ์ การที่จะได้รับความนิยม ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง
ภาสกรตอบว่า “เรื่องต้นไม้ ผมมองว่าอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมา คนอยู่บ้านกันเยอะ work from home กันมากขึ้น
ในยุคนี้ คนโหยหาธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อได้อยู่บ้านมากขึ้นและมีพื้นที่ในการอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น เขาก็อาจจะอยากเห็น Movement ว่าอะไรที่เหมาะกับเขา เขาก็เลยไปหาซื้อต้นไม้กระถางมาตกแต่ง
เช่น ในเรื่องของกระแสไม้ด่างที่เข้ามาก็มีดารามาปลูกด้วย ราคาก็พุ่ง ก็ส่งผลกระทบอยู่ช่วงหนึ่งครับ เพราะราคาของต้นไม้แพงขึ้นแบบต้องอุทานออกมา ‘ฮะ! อะไรนะพี่ (หัวเราะ ) แล้วจะทำยังไงละเนี่ย’ ก็ต้องทำงานงานต่อให้จบครับ
ผมมองว่าราคาต้นไม้ เหมือนเป็นยุคของการปรับฐานราคา เพราะว่าผมมองไปถึงวัสดุก่อสร้างหลายๆ รายการ ก็ขึ้นราคาหมดเลยครับ ไม่ว่าเหล็ก ปูน อันนี้ผมอ้างอิงราคาจากทุกแวดวงเลยนะครับ เพราะว่าผมใช้ในงานด้วย น้ำมันก็ขึ้นราคา ค่าไฟก็กำลังจะขึ้น แต่ถ้าคนหันมาใช้รถไฟฟ้า ราคาค่าไฟก็จะขึ้นๆๆๆ แล้วน้ำมันก็ลง ก็จะเจอปัญหาอีก ดังนั้น ผมมองภาพรวม ณ ตอนนี้ครับ ว่าน่าจะเป็นช่วงของการปรับฐานราคาที่ให้เรายอมรับสภาพ ให้เราปรับฐานกันใหม่
ถามว่า สรุปแล้ว งานจัดสวนของคุณได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ไหม
ภาสกรตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “ไม่เลยครับ
มีงานเข้ามาตลอดครับ ไม่ได้หยุดเลย ต่างจากคลัสเตอร์ที่เกิดกับวงการอื่น อาจเพราะเขาใช้คนค่อนข้างเยอะ ก็เข้าใจได้ แต่สำหรับงานจัดสวน ใช้คนแค่ 7-8 คน ไปเป็นกลุ่มๆ ซึ่งทำงานได้ทุกบ้านเลยครับ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า วิกฤติโควิด-19 ไม่มีผลกระทบต่องานจัดสวนเลยครับ” ภาสกรระบุ
งานไหนที่คุณประทับใจที่สุด และงานไหนที่คุณมองว่ายากที่สุด อยากให้แบ่งปันประสบการณ์ให้ฟัง
เป็นอีกครั้งที่ผู้ก่อตั้ง HAUS studio 51 ตอบพร้อมเสียงหัวเราะ
“ส่วนใหญ่ผมประทับใจทุกงานครับ เพราะลูกค้าผมมักจะแฮบปี้ทุกงาน เพราะผมทำงานร่วมกับลูกค้าทุกงาน ผมจะถามอยู่เสมอเขาว่าชอบไหม อยากให้ปรับเปลี่ยนหรือต่อเติมตรงไหนหรือไม่ โดยส่วนใหญ่ผมจึงประทับใจทุกงาน ด้วยทีมงาน ด้วยลูกค้าที่น่ารักที่ผมได้เจอทุกๆ งานที่ผมเจอครับ เพราะผมยึดมั่นในการทำงานว่า ผมทำงานด้วยความจริงใจตั้งแต่แรก มีอะไรก็พูดคุยกับลูกค้าโดยตรงมาตลอด
เหมือนกับว่า ถ้าเขาอยากได้งานแบบนี้ แต่ทำไม่ได้ ก็จะคุยกันก่อน เพื่อจะได้เดินงานต่อได้ครับ” ภาสกรระบุ
เทรนด์การจัดสวน ซึ่งเป็นที่นิยม
ถามว่าปัจจุบันนี้ เทรนด์การจัดสวนแบบไหน กำลังเป็นที่นิยม
ภาสกรตอบว่า “ผมมองว่าไม่พ้นสวนน้ำตก สวนป่า แต่จะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบของป่าทึบเป็นป่าโปร่ง ผมว่าเทรนด์น่าจะปรับเปลี่ยน เช่นในยุคที่ผ่านมาก็จะมีสวนที่มักใช้ไม้ใบ เป็นส่วนแนว ‘Tropical’ ที่เมื่อผ่านเวลาไปมักจะรก เราก็มาปรับเปลี่ยนเป็นสวนป่าที่เป็นป่าโปร่ง และใช้ไม้ที่เตี้ยมากๆ มาคุม
มีความโมเดิร์น มากขึ้น มีความ ‘น้อยลง’ ของตัววัสดุ ที่จะทำให้สวนดูรก”
ภาสกรบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ
ผมก็ให้คำจำกัดความเขาไม่ถูกครับ แต่น่าจะไม่พ้นสวนแนวทรอปิคอลอยู่แล้วครับ เพราะเมืองไทย เป็นเมืองร้อน
โดยภาพรวม ลูกค้าก็สนใจสวนน้ำตกอยู่ สวนน้ำตกก็ยังมีอยู่แน่นอนครับ นอกจากนี้ ผมมองว่ารูปแบบสวนที่กำลังจะเป็นที่นิยม มีอีก 2 เทรนด์ คือ
‘สวนญี่ปุ่น’ แล้วก็ ‘สวนอังกฤษ’ แล้วทั้ง 2 สวน ก็มีน้ำตกในสวนได้เหมือนกัน แต่เขาก็จะมีหลักการ มีสไตล์ที่ชัดเจน มีความแตกต่างอย่างชัดเจนน่ะครับ” ภาสกรบอกเล่าก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า
“สวนญี่ปุ่น ถ้านำมาจัดสวนในเมืองไทย ค่อนข้างยาก เพราะว่าสวนญี่ปุ่นจะแฝงไว้ด้วยหลักการคิด แฝงธรรมะให้เราคิดในสวน หรืออาจเรียกว่าแนว ‘วาบิ ซาบิ’ น่ะครับ และมีความเป็นเซนด้วย ซึ่งถ้าให้ตอบลึกๆ ผมก็ไม่ได้เรียนรู้มาโดยตรง แต่ถ้าให้มองภาพรวมของสวนเซนหรือสวนญี่ปุ่น เมื่อนำมาอยู่ในเมืองไทย
เราอาจจะต้องมิกซ์กับความเป็นโมเดิร์น
งานที่เป็นสวนอยู่ปุ่นก็มักจะมีตะเกียงหิน มีหินรูปทรงต่างๆ ประดับสวน มีมอส มีไม้ไผ่ อะไรอย่างนี้ครับ เพื่อดึงผู้ชมสวนเข้ามาในสวนนั้นๆ อย่างที่ลูกค้าต้องการ
สำหรับสวนอังกฤษผม เป็นรูปแบบสวนที่ผมยังไม่เคยทำครับ ยังไม่เคยได้งานที่เป็นสวนอังกฤษเลย แต่สวนอังกฤษก็นับเป็นสวนรูปแบบหนึ่งที่มีสีสัน สร้างมูฟเมนท์ได้ตลอดเวลา ไม้ดอกต่างๆ ในสวนไม่ว่าออกฤดูไหน แต่เมื่อไม้ดอกจากไป สวนจะมีการเปลี่ยนสี มีความน่าสนใจครับ” ภาสกรระบุ
ถามว่า เปรียบเสมือนมีฤดูกาลที่แปรเปลี่ยนอยู่ในสวน ใช่หรือไม่
ภาสกรตอบว่า “ใช่ครับ”
ถามว่า นอกจากสวนทรอปิคอล ที่คุณมองว่าเป็นสวนรูปแบบหลักๆ ของเมืองไทย รวมทั้งสวนญี่ปุ่น สวนอังกฤษ
และสวนทรอปิคอลที่มักจะอยู่เคียงคู่สวนน้ำตก ยังมีสวนในรูปแบบใดอีกไหม ในอนาคต
ภาสกรตอบว่า “ในอนาคต ผมว่าอาจจะมีสวน Exoic ขึ้นมาก็ได้มั้งครับ
ไม่แน่ใจนะครับ เช่นอาจจะมีไลท์ติ้งเยอะๆ เล่นแสงสี ในยุคสมัยหน้า อีกสัก 1 ปี 2 ปี หรือ 5 ปีข้างหน้าจะเป็นยุค Metaverse น่ะครับ อะไรก็เกิดขึ้นได้
จะมีเรื่องของนวัตรกรรม เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอีกเยอะ
แต่ไม่ว่ายังไง ต้นไม้ก็ยังต้องอยู่กับมนุษย์แหละครับ เพราะมนุษย์ ไม่ว่ายังไงก็โหยหาธรรมชาติ แน่ๆ เพราะ ‘ธรรมชาติก็คือชีวิต ชีวิตคือธรรมชาติ’
คือตลอดระยะเวลาในการทำงานที่ผ่านมา ผมพยายามทำทุกๆ อย่าง ไม่ใช่แค่เพื่อ Point ไม่ใช่แค่เพื่อการจัดสวน แต่ความฝันที่ผมอยากจะตั้งเป้าไว้ คือผมอยากเป็น Developer เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์น่ะครับ
ก็ตั้งเป้าไว้ก่อนครับ ยังไม่รู้จะเดินไปอย่างไร ตั้งเป้าไว้ก่อนเลย”
ถามว่าต้องการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ออกแบบได้ด้วยและจัดสวนได้ด้วย ในคนๆ เดียว
ภาสกรตอบว่า “ใช่ครับ (หัวเราะ) พยายามครับ ก็อย่างที่ผมบอกไว้ตอนแรกว่าผมเขินนะครับ ( หัวเราะ )
ถามว่าถ้าคนรุ่นน้องคุณ คนรุ่นใหม่ๆ เขาอยากเป็นนักจัดสวนบ้าง คุณจะมีคำอธิบายอะไรให้กับเขา
ภาสกรตอบว่า “ทุกวันนี้เทคโนโลยี ค่อนข้างเร็วครับ เราสามารถไปศึกษาหาความรู้ หรือเข้าไปอบรมในกลุ่มที่เขามีจัดสัมมนา ผมว่าก็เป็นโอกาสที่ดีนะ ผมเองยังอยากไปลงสัมมนาดูบ้าง เพราะว่าสิ่งที่เราทำมันอาจไม่ถูก 100% เราก็ไปเปิดหูเปิดตาดูสักหน่อย ว่าคนอื่นเขาทำงานกันยังไง ระดับอาจารย์ เขาทำงานกันยังไง ผมมองว่าก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ ก็หาความรู้ใส่ตัว
ส่วนเรื่องการจะมาจัดสวน ก็แต่ละคนย่อมมีสไตล์เป็นของตัวเองอยู่แล้วครับ ไม่ยากเกินไปครับที่จะลงมือทำ” ภาสกรระบุ
ถ้ามีคนรุ่นใหม่ๆ หรือรุ่นน้อง บอกว่า อยากเป็นอย่างคุณมากเลย คุณจะแนะนำอย่างไร
ภาสกรตอบว่า “ความจริงใจเลยครับ มีความจริงใจเป็นอันดับแรกครับ แล้วก็รักในงานที่ตัวเองทำ ตราบใดที่ไม่รักงานที่ตัวเองทำ มันก็ล้มเหลวตั้งแต่แรกครับ
และถ้าคุณไม่มีความจริงใจกับลูกค้า คุณจะจบงานกับลูกค้ายังไง”
ภาสกรให้แง่คิดที่น่าสนใจ
ถามว่า ในอนาคต มีแนวคิดว่าจะเปิดรับสมัครนักออกแบบ และนักจัดสวนบ้างไหม
ชายหนุ่มนักสวนคนนี้ตอบว่า จริงๆ อยากจะเปิดรับสมัครนะครับ แต่ยังไม่พร้อมในเรื่องของการเปิดออฟฟิศ และเป็นช่วงโควิด-19 ด้วย ซึ่ง ณ วันนี้ ผมยังใช้บ้านตัวเองอยู่เป็นเฮาส์ออฟฟิศ เป็นโฮมออฟฟิศ ซึ่งไม่มีพื้นที่ที่จะให้พนักงานมาอยู่ แต่ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้น ผมมีพื้นที่ มีออฟฟิศแล้วก็ยินดีครับ มันต้องมีทีม มีน้องๆ สมาชิกใหม่เข้ามาอยู่แน่นอนครับ” ภาสกรระบุ
เมื่อขอให้เล่าถึงกระบวนการทำงาน ว่าทำงานร่วมกับทีมงานอย่างไร และคนเหล่านั้นมีใครบ้าง
ภาสกรตอบว่า ทีมงานเหล่านั้นก็จะเป็นทีมงานที่เราร่วมทำกันมาตั้งแต่แรกๆ อยู่แล้วครับ ผมแบ่งทีมงานออกเป็นสี่ทีม มีทีมงานสวน ทีมงานระบบ แล้วก็ทีมงานต่อเติม แล้วก็ทีมงานช่างไฟ
ซึ่งสี่ทีมนี้จะรับงานในส่วนของผมเวียนกันไปอยู่แล้ว
ผมบอกเขาว่า เช่นผมรับงานต่อเติม ก็บอกทีมงานต่อเติมเข้าไป จากนั้นช่างไฟเข้า ต่อด้วยงานช่าง งานระบบ และงานสวน แล้วก็จบงาน” ภาสกรระบุ
เมื่อกล่าวชื่นชมความสามารถในการประสานงานที่ครอบคลุมทุกระบบงานนี้ ว่าประสบการณ์ส่วนหนึ่งได้มาจากงานการทำงานที่ภูเก็ตนานถึง 10 ปี ใช่หรือไม่
ภาสกรยอมรับและตอบว่า “การเรียนรู้งานทุกระบบนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผมทำงานอยู่ จังหวัดภูเก็ต กระทั่งผมออกเลยครับ
คือ 8 ปีในการทำงานที่นั่น ผมทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารเลยครับ ได้เห็นการทำงานจากทั้งหมด ไม่ว่าวิธีการสอน
ระบบงานของเขา ประสบการณ์ของเขา ซึ่งเขาก็สอนเป็นบทสนทนากันทั้งในตอนกินข้าวเช้า กินข้าวกลางวันด้วยกัน
และที่สำคัญคือ เจ้านายเก่าผมเขาให้โอกาสครับ เขาให้ผมทำหลายหน้าที่ ทั้งงบประมาณก่อสร้างของโครงการ ต้นทุนของโครงการว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ และสามารถคุมงบประมาณได้เท่าไหร่ รวมถึงการวางแผนในการทำงานที่มีส่วนของ Architect ด้วย ต่อมาก็ในเรื่องของฝ่ายขายและการตลาด ทำงานเอกสาร ผมทำ Present ซัพพอร์ตพวกเขา แต่ว่าวิธีการทำงาน การบริหารงานฝ่ายขาย ผมยอมรับว่าผมไม่มีความรู้ครับ”
ถามว่าเพราะเหตุใดจึงสนใจอยากเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ภาสกรตอบว่า เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมพัฒนา จากสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาทั้งสองอย่าง รวมถึงเรื่องของที่อยู่อาศัย ผมก็อยากทำให้มันดีขึ้นครับ เช่นบ้านเก่า แม้ต้องเก่าไปตามกาลเวลา แต่เราก็ทำสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ พัฒนาที่ดินจากที่เคยรกร้างเราก็ทำให้ดีขึ้น
รวมถึงธรรมชาติในที่นั้นๆ ด้วย เราก็เพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการไปด้วยเลย”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มองเห็นจังหวะก้าวของคุณ ทำให้เวลานี้ คุณทำให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามการก้าวของคุณ และจริงๆ แล้ว มองไปได้ถึงเมื่อครั้งที่คุณอยู่มหาวิทยาลัย ในคณะที่คุณเลือก ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน
ภาสกรตอบว่า “ก็มีปมในชีวิตเข้ามาเรื่อยๆ ครับ แล้วผมก็ค่อยๆ หา ค่อยๆ คลายปมไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่กระทบกับคนอื่นนะครับ
อย่าง Point แรก ปมแรก ก็อย่างที่ผมบอกครับ บ้านผมไม่มีเงิน แล้วผมจะซิ่วไปเรียนคณะสถาปัตย์ฯ ใหม่ เราก็ไม่มีเงินพอ
ดังนั้น ก็ต้องบอกตัวเองครับ เราเรียนมา 2 ปีแล้วนะ เราจะไปเรียนใหม่อีกหรือ
ก็เลยต้องตัดสินใจว่าต้องเรียนให้จบ ซึ่งก็สามารถนำสิ่งที่เรียนมาใช้กับงานทำงานได้ เพราะในแปดปีที่ทำงานอยู่ภูเก็ต ทำให้เราไปทบทวนในสิ่งที่เราอยากเรียนตอนนั้น แล้วเราไม่ได้เรียน” ภาสกรระบุ
เมื่อขอให้ฝากทิ้งท้าย
ภาสกรตอบว่า “ก็อยากฝากให้ทุกคน สู้ๆ นะครับ ทุกคนที่อยากเข้ามาอยู่ในวงการนักจัดสวน ถึงขั้นเป็นนักจัดสวนมืออาชีพ ก็ต้องฝึกฝน อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วก็ลงมือทำครับ”
เป็นคติอันแสนเรียบง่าย แต่ตอบได้ทุกโจทย์ของลูกค้า ไม่ว่าต้องการสวนแนวใดก็ตาม
นับเป็นนักจัดสวนรุ่นใหม่มาแรง อนาคตไกล ที่ยังคงมีงานจัดสวนเข้ามาต่อเนื่องยาวนานและยาวไกล
พร้อมเสียงชื่นชมจากลูกค้าอีกหลายต่อหลายคน หลายองค์กรที่ล้วนกลับมาใช้บริการงานออกแบบของชายคนนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดระยะเวลาเนิ่นนานปี
……………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ภาสกร เอกจิโรภาส