ปวิน

ที่มาของภาพ, BBC Thai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมืองในญี่ปุ่นระบุว่า ตำรวจญี่ปุ่นที่จับกุมผู้ต้องหาที่บุกเข้ามาทำร้าย เขาถึงที่พัก ในเมืองเกียวโต เมื่อ 8 ก.ค. 2019 ได้แล้ว และอัยการจะนำตัวชายผู้นี้ส่งฟ้องต่อศาลในวันที่ 19 พ.ค. นี้

รศ. ดร. ปวิน ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก ของเขา เมื่อ 7.30 น. ของวันที่ 30 เม.ย. ตามเวลาในประเทศไทย หลังวอยซ์ทีวี รายงานข่าวนี้ออกไป และแก้ไขวันที่ให้ถูกต้อง

“มีข่าวสำคัญจะแจ้งให้ทราบค่ะ เกือบ 3 ปีมาแล้ว กรณีที่ดิชั้นถูกคนร้ายชุดดำบุกเข้ามาที่พักในเกียวโตตอนเวลาตี 4.45 แล้วทำร้ายดิชั้นด้วยสารเคมี ตอนนี้ ตำรวจญี่ปุ่นจับคนร้ายได้แล้ว คนร้ายรับสารภาพว่าทำร้ายดิชั้นจริงและได้รับการว่าจ้างมาอีกต่อหนึ่ง (ขอยังไม่บอกรายละเอียดตอนนี้) ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งคดีนี้ต่อเพื่อให้ศาลพิจารณาลงโทษ ดิชั้นจะขึ้นศาลที่เกียวโตวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ (ในข่าวบอกผิดเป็นวันที่ 25) และจะเผชิญหน้ากับคนที่ทำร้ายดิชั้นเป็นครั้งแรก ขอขอบคุณตำรวจญี่ปุ่นที่ทำงานอย่างหนักในกรณีนี้ ส่วนการขึ้นศาลนั้น จะเปิดให้สาธารณชนเข้าฟัง และจะมีการรายงานจากสื่อญี่ปุ่นและสื่อต่างชาติด้วยค่ะ ดิชั้นจะรายงานเรื่องนี้อย่างละเอียดในวันขึ้นศาลค่ะ”

ในเวลาต่อมา ปวินกล่าวกับบีบีซีไทยว่า ขอขอบคุณตำรวจญี่ปุ่นมาก ที่ใช้เวลาเกือบ 3 ปี แต่ในที่สุดก็ได้รับความยุติธรรมกลับมา

“ผมจะเข้าร่วมในการพิจารณาคดีของศาลอาญาญี่ปุ่นในวันที่ 19 พ.ค. นี้ แต่คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด แม้คนร้ายสารภาพ แต่การสอบสวนยังไงดำเนินต่อไปในส่วนของการจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายผมครั้งนี้”

ที่มาของภาพ, BBC News Thai

คำบรรยายภาพ,

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กับหนังสือที่เขาเขียน ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ในกรุงลอนดอน

ลำดับเหตุการณ์

เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Pavin Chachavalpongpun ของปวิน หยุดเคลื่อนไหวตั้งแต่ 8 ก.ค. 2019 และกลับมาอีกครั้งเมื่อ 3 ส.ค. 2019 ในโพสต์ที่แชร์ลิงค์ข่าวของวอชิงตันโพสต์ที่รายงานเรื่องเขาถูกทำร้ายที่บ้านพักในเกียวโต

ช่วงเวลาที่นักวิชาการผู้ลี้ภัยในญี่ปุ่นรายนี้หายไปจากโซเชียลมีเดีย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ปรากฏความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้เกิดการถามหาจากผู้ติดตามบนเฟซบุ๊ก รวมทั้งในกลุ่มผู้ที่เป็นเป้าหมายในการจับตาของทางการไทย หนึ่งในนั้นคือ นายแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวชาวสก็อตแลนด์ ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย

ต่อมา สื่อไทยและสื่อต่างประเทศเริ่มรายงานเหตุบุกทำร้ายปวิน หลังจากที่ปวินไปปรากฏตัวในงานเสวนาทางวิชาการที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 23 ก.ค. 2019 และเล่าเหตุการณ์ที่เขาถูกทำร้าย

ข่าวคราวเกี่ยวกับการบุกรุกที่พักของเขาในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ถูกรายงานโดยสื่อในหลายประเทศ รวมทั้งสื่อญี่ปุ่น พร้อมด้วยข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ จนทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการแห่งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต พบกับบีบีซีไทยระหว่างการเดินทางมายังสหราชอาณาจักรช่วงต้นเดือน ส.ค. 2019 หนึ่งเดือนหลังถูกทำร้าย พร้อมเล่าเรื่องราวที่เขาประสบทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ลอบทำร้าย

ที่มาของภาพ, Facebook/Pavin Chachavalpongpun

ความผิดปกติก่อนเกิดเหตุ

หนึ่งสัปดาห์ก่อนเกิด ปวินอ้างว่าได้รับโทรศัพท์ลึกลับทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งเขาบอกว่าไม่เคยได้รับโทรศัพท์แบบนี้เลยตั้งแต่มาใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2012

โทรศัพท์ครั้งแรกเป็นคนญี่ปุ่นที่โทรเข้ามาที่สำนักงานของเขา ครั้งที่สองโทรเข้ามือถือ ครั้งที่สามเกิดขึ้นในระยะเวลา 24 ชม. ก่อนเกิดเหตุบุกทำร้าย

ส่วนครั้งสุดท้าย เป็นเบอร์โทรศัพท์จากต่างประเทศโทรเข้ามายังสำนักงานของมหาวิทยาลัยที่เขาทำงาน และทิ้งข้อความว่าเป็นชายชาวต่างชาติโทรจากเยอรมนี ระบุชื่อพร้อมด้วยตำแหน่งนำหน้าว่า “ดอกเตอร์” ซึ่งได้ลองค้นหาชื่อในกูเกิล แต่ไม่พบบุคคลชื่อนี้ ซึ่งปวินตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นตำแหน่งดอกเตอร์ น่าจะมีชื่อปรากฏอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต

หลังจากเหตุการณ์โทรศัพท์ทั้ง 4 ครั้ง ปวินคุยกับคนใกล้ชิดว่ามีโทรศัพท์แปลก ๆ มาถึงเขามากเกินไป และเริ่มระวังถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิต รวมทั้งการอยู่ในที่พัก

ที่มาของภาพ, Pavin Chatchavalpongpun

นาทีถูกทำร้าย

ปวินเล่าถึงเหตุการณ์บุกทำร้ายในที่พักในกรุงเกียวโตว่า เหตุเกิดตอนเวลาประมาณ 4.45 น. ของวันที่ 8 ก.ค. ขณะที่เขาและคู่ชีวิตกำลังนอนหลับอยู่ในห้องนอนในคอนโดมิเนียมของพวกเขา

ปวินอ้างว่า ผู้ก่อเหตุเข้ามาทางประตูระเบียงด้วยการใช้ค้อนทุบกระจกให้เป็นรูแล้วสอดมือเข้ามาปลดล็อกประตู จากนั้นได้ตรงมาเปิดประตูห้องนอนที่เขาบอกว่าปกติไม่ได้ล็อก หลังจากนั้นผู้ก่อเหตุกระชากผ้าห่มที่เขาและคนใกล้ชิดห่มอยู่ แล้วฉีดสารเคมีจากกระป๋องใส่ตัวพวกเขา

“สิ่งที่ผมบอกได้คือ คนร้ายเป็นนักย่องเบา ตอนเข้านอน ผมไม่ได้ยินอะไรเลย จนกระทั่งจุดที่เข้ามาอยู่ในห้องผม”

ปวินใช้คำว่า “สเปรย์ไม่ยั้ง” อธิบายเหตุการณ์ชั่วนาทีนั้น และเริ่มรู้สึกเจ็บแสบตามผิวหนังเนื่องจากฤทธิ์ของสารเคมี หลังจากนั้น ปวินบอกว่า คู่ชีวิตของเขาได้พยายามวิ่งตามผู้ก่อเหตุแต่หนีไปได้ และจำลักษณะการแต่งกายของผู้ก่อเหตุได้ว่า แต่งกายด้วยชุดดำทั้งหมด สวมคลุมหมวกไอ้โม่ง โผล่ให้เห็นแต่ตา

ที่มาของภาพ, Pavin Chachavalpongpun

คำบรรยายภาพ,

ภาพเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานที่ปวินส่งให้บีบีซีไทย

ปวินเล่าว่า หลังจากนั้นเขารีบไปล้างตัว และราว 15 นาทีต่อมา ตำรวจก็เดินทางมาถึงจากการโทรแจ้งความของเพื่อนบ้านที่ได้ยินเสียงกรีดร้องจากการถูกบุกรุก

ปวินระบุว่า จนถึงขณะนี้ ตำรวจญี่ปุ่นยังไม่เปิดเผยว่าสารเคมีที่ใช้ในการทำร้ายนั้นเป็นสารเคมีอะไร แต่จากการให้แพทย์ตรวจที่โรงพยาบาลหลังเกิดเหตุ พบว่าเป็นสารเคมีที่ทำให้ผิวหนังเจ็บแสบเป็นรอยแดง แต่หายได้ภายใน 48 ชม.

ตำรวจสั่งไม่ให้ใช้โซเชียลมีเดีย

เมื่อมีการสอบสวนในทางคดี ปวินอ้างว่าตำรวจญี่ปุ่นสั่งห้ามไม่ให้เขากลับไปยังที่พักที่เกียวโต ตั้งแต่เกิดเหตุ เขาได้กลับไปที่ห้องพักและพื้นที่เกียวโตอย่างน้อยสองครั้ง ในจำนวนนี้ เขาอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยติดตามประกบ รวมทั้งเมื่อต้องเดินทางจากที่พักแห่งใหม่ไปยังสนามบินคันไซเพื่อเดินทางมายังสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เขา อ้างว่ามีโทรศัพท์สายที่ไม่ปกติติดต่อเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง

“มีการรักษาความปลอดภัยขนาดนี้และไม่ให้เรานั่งอยู่ในบ้าน มันทำให้เราต้องวิตกกังวล…เขาต้องมานั่งอยู่กับผม เขารู้อะไรหรือเปล่าแล้วไม่บอก” ปวินกล่าว

นอกจากนี้ ปวินยังเปิดเผยว่า ตำรวจญี่ปุ่นยังสั่งห้ามให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน และหยุดการเคลื่อนไหวใด ๆ บนโซเชียลมีเดีย นั่นเป็นสาเหตุที่เขาหายไปจากโซเชียลมีเดีย

“เขาก็บอกว่าอย่าทำ (ห้ามใช้โซเชียลมีเดียและห้ามให้ข้อมูลกับสื่อ) เพราะจะทำให้การสอบสวนหยุดชะงัก แต่เมื่อห้ามไม่ได้ เวลาคุณบอกสื่อขออย่างเดียว อย่าบอกว่าตำรวจสอบสวนไปถึงไหนแล้ว แต่ผมก็บอกว่าผมก็ไม่รู้อยู่ดี”

ที่มาของภาพ, Pavin Chachavalpongpun

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจในที่เกิดเหตุ เป็นภาพที่ปวินมอบให้บีบีซีไทยเผยแพร่

เรื่องส่วนตัวหรือเกี่ยวพันกับไทย

ปวิน อ้างถึงคำพูดของเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นชุดที่เข้ามาสอบสวนที่บ้านพักว่า ทางตำรวจญี่ปุ่นเข้าใจถึงบริบทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสถานภาพการเป็นผู้ลี้ภัยของเขา จากการสอบสวนเบื้องต้น ตำรวจตัดกรณีการบุกเพื่อลักขโมยออกไป

เขายังอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า หน่วยตำรวจที่ทำคดี ไม่ใช่หน่วยที่ดูแลอาชญากรรมทั่วไป แต่เป็นหน่วยตำรวจต่อต้านก่อการร้ายสากลภายใต้สำนักงานตำรวจประจำเกียวโต

“ข้อสงสัยแรกสุด เหตุการณ์นี้เชื่อมโยงกับการก่อการร้ายสากล เพราะว่ามีองค์ประกอบจากต่างประเทศ” ปวินอ้างคำพูดของตำรวจ

ปวินเปิดเผยถึงการสืบสวนของตำรวจว่า ตำรวจสอบปากคำเขานาน 4 ชม. และแยกสอบปากคำเขาและคู่ชีวิตของเขา ตำรวจได้สอบสวนในทุกมูลเหตุ ทั้งอาชญากรรมที่มีสาเหตุจากความเกลียดชัง หรือด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งปวินปฏิเสธว่า คู่ของเขาได้รับการปฏิบัติที่ดีจากเพื่อนบ้านในตึกเดียวกันที่เห็นพวกเขามา 7-8 ปี แล้ว เพื่อนบ้านให้การยอมรับบุคคลข้ามเพศ และทั้งสองคนไม่เคยถูกกลั่นแกล้งใด ๆ

เพื่อนร่วมอุดมการณ์และอริไม่เชื่อ

ในขณะนั้น แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล นักหนังสือพิมพ์อิสระ ซึ่งมีความบาดหมางกับปวินมาก่อน ได้ตั้งคำถามถึง “ความน่าเชื่อถือ” ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางหน้าเฟซบุ๊กของเขา

“หากเหตุการณ์นี้เป็นความจริง มันซับซ้อนตรงที่ว่า ไม่มีความพยายามใด ๆ เลยที่จะเตือนผู้อื่นว่า พวกเขาอยู่ในความเสี่ยง รวมทั้งผมและครอบครัวด้วย” มาร์แชลเขียนไว้ทางหน้าเฟซบุ๊กของเขาเมื่อ 30 ก.ค. 2019

นักข่าวชาวสก็อต ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ของไทย แสดงความเห็นไว้บนเฟซบุ๊กอีกว่า นี่เป็นเรื่องที่เกิดจาก “เหตุส่วนตัว”

“ไม่มีหลักฐานใดที่น่าเชื่อถือ ปวินแค่เล่าเรื่องที่ขัดแย้งกันเองให้หลายคน” มาร์แชลระบุ

“เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแน่ ๆ ที่อพาร์ตเมนต์ของปวินในเกียวโตเมื่อเช้ามืดวันที่ 8 ก.ค. แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม นี่ไม่ใช่การบุกทำร้ายที่สั่งการโดยกองทัพไทยหรือสถาบัน”

ที่มาของภาพ, Andrew McGreor Marshall

มาร์แชล ปวิน และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือ 3 บุคคล ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ออกประกาศเมื่อ 12 เม.ย. 2560 ขอให้ประชาชนงดเว้นการติดต่อ เผยแพร่ข้อมูลที่บุคคลทั้งสามเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ชี้อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ตำรวจญี่ปุ่นว่าอย่างไร

ในขณะนั้น โฆษกสถานีตำรวจประจำจังหวัดเกียวโตระบุกับบีบีซีไทยว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับปวินจริงและเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการสอบสวน ภายใต้ความรับผิดชอบของสถานีตำรวจเขตชิโมะกาโมะ (Shimogamo) ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกียวโต แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้

ส่วนหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ก็อ้างอิงกองบังคับการตำรวจจังหวัดเกียวโตว่ากำลังสืบสวนเรื่องนี้อยู่ แต่ปฏิเสธคำอ้างของปวินว่า ตำรวจต่อต้านก่อการร้ายสากลภายใต้สำนักงานตำรวจประจำเกียวโตเข้ามาร่วมสอบสวนคดีนี้ด้วย

หลักฐานจาก ปวิน

บีบีซีไทย สอบถามปวินถึงภาพถ่ายบันทึกหลักฐานพยานในที่เกิดเหตุ หรือภาพร่องรอยการถูกทำร้าย เขาส่งรูป 2 ใบ ที่บอกว่า ถ่ายขณะตำรวจมาบ้าน และใบสั่งยา วิธีการใช้ พร้อมใบเสร็จเป็นภาษาญี่ปุ่น 2 แผ่น มาประกอบคำให้การของเขา

ที่มาของภาพ, PAvin Chachavalpongpun

คำบรรยายภาพ,

ใบสั่งยาและใบเสร็จที่ปวินบอกว่าเป็นหลักฐานการรักษาบาดแผลจากการถูกทำร้ายด้วยสารเคมี

ที่มาของภาพ, PAvin Chachavalpongpun

คำบรรยายภาพ,

ใบสั่งยาและใบเสร็จที่ปวินบอกว่าเป็นหลักฐานการรักษาบาดแผลจากการถูกทำร้ายด้วยสารเคมี

ทางการไทยว่าอย่างไร

สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ชี้แจงกับบีบีซีไทยผ่านทางอีเมลว่า “เกี่ยวกับกรณีของ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นั้น สถานทูตฯ ได้รับทราบเรื่องนี้จากข่าวในสื่อออนไลน์ของไทย แต่เราไม่ได้รับการติดต่อใด ๆ จากทางการญี่ปุ่น”

พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า เขาได้ทราบข่าวเกี่ยวกับเหตุทำร้าย แต่แปลกใจกับความคิดที่ว่ากองทัพเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

“จินตนาการไปไกล นี่ไม่ใช่หนังเรื่องมิชชั่นอิมพอสสิเบิ้ล” พล.อ. อภิรัชต์ระบุ และชี้อีกว่าการทำร้ายอาจมาจากเรื่องส่วนตัว

“เรามีปัญหาของประเทศมากมายที่ต้องจัดการ การจะคิดเรื่องส่งคนออกไปทำร้ายร่างกายคนในต่างประเทศนั้นเป็นไปไม่ได้”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวยืนยันเช่นกันว่า รัฐบาลไม่ได้ส่งคนไปทำร้าย และบอกว่าเห็นใจ แต่ปวินถูกทำร้ายที่ญี่ปุ่น ต้องดูด้วยว่ากฎหมายที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างไร เพราะในแต่ละประเทศก็มีกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างกัน