รายได้ยังไม่ฟื้น ‘กกร.’ ขอรัฐลด ‘ภาษีที่ดิน-ค่าโอนบ้าน’ อีก 1 ปี เป็นของขวัญปีใหม่
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปลายเดือนตุลาคมหรืออย่างช้าต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย จะทำหนังสือถึงรัฐบาล ขอให้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปัจจุบันเก็บในอัตรา 100% มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทำให้รายได้ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม
นายอธิปกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ 1.ขอเลื่อนจ่าย 1 ปี หรือเก็บลดในอัตราเป็นขั้นบันได เช่น ปี 2566 ลด 75% ปี 2567 ลด 50% และปี 2568 ลด 25% รอเศรษฐกิจฟื้นตัวถึงเก็บ100% 2.ยกเว้นดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับ40% ให้กับธุรกิจที่ค้างชำระภาษี เป็นระยะเวลา 1 ปี 3.ควรพิจารณาปรับโครงสร้างอัตราภาษีที่ดินฯให้เป็นอัตราเดียว ไม่ควรแยกเป็นหลายประเภทเหมือนปัจจุบัน มี 4 ประเภท ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ที่ดินประเภทอื่นๆ เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า เนื่องจากราคามูลค่าทรัพย์สินของที่ดินแต่ละประเภท ทางกรมธนารักษ์มีการประเมินราคาที่ดินไม่เท่ากันอยู่แล้ว เมื่อปัจจุบันมีหลายอัตราและแยกเป็นรายประเภทแล้ว ทำให้เจ้าของนำที่ดินพัฒนาให้เข้าเกณฑ์เกษตรกรรม เพื่อจ่ายภาษีในอัตราที่ถูกลง และ4.ขอให้พิจารณาสต็อกบ้านและคอนโดมิเนียมที่ยังคงเหลือคิดในอัตราภาษีเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ใช่คิดตามอัตราประเภทอื่นๆ ที่ต้องจ่ายสูงถึงล้านละ 3,000 บาท หากเป็นที่อยู่อาศัยจะจ่ายล้านละ 200 บาท
นายอธิปกล่าวว่า ในส่วนของมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ทั้ง 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยและสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียด เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในตลาด ให้เกิดความต่อเนื่อง เช่น ขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% และการผ่อนคลายมาตรการLTVให้กู้ได้ 100% ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ออกไปอีก 1 ปี
โดยในส่วนของการลดค่าธรรมเนียมโอนนั้น จะขอให้รัฐไม่ต้องกำหนดเพดานราคา จากเดิมกำหนดราคาไว้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เช่น ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 5 ล้านบาท จะได้สิทธิลดค่าธรรมเนียม 3 ล้านบาทแรก อีก 2 ล้านบาทที่เหลือให้คิดค่าธรรมเนียมตามปกติ ถึงจะช่วยกระตุ้นตลาดได้ครอบคลุมทุกระดับราคาและเศรษฐกิจได้
“ตราบใดยังมีปัจจัยภายนอก เงินเฟ้อสูงทั่วโลก ยังไงเศรษฐกิจในปี 2566 ก็ยังไม่มีฟื้นตัว การที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ ต้องไม่มีปัจจัยลบมาเป็นแผง ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าลำบาก และรายได้ตามไม่ทันรายจ่าย ซึ่งประเทศไทยปีนี้เงินเฟ้อสูงขึ้นประมาณ 6-7% แต่คนยังมีรายได้เท่าเดิม อีกทั้งยังมีการเมืองมาเป็นปัจจัยเพิ่มอีก แต่หากการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจก็มีโอกาสจะฟื้นตัว” นายอธิปกล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่