สอนลูกระวังภัยคุกคามทางเพศ / ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภัยคุกคามทางเพศกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งจากข่าวคราวกรณีของบุคคลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งถูกกล่าวหาจากหญิงสาวจำนวนมากที่ระบุว่าถูกชายคนดังกล่าวคุกคามทางเพศ

ภัยคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาไม่ดีต่อบุคคลอื่นในทางเพศ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจอยู่ในหลายรูปแบบ

1. ทางร่างกาย เช่น พยายามใกล้ชิดแตะเนื้อต้องตัว โอบกอด โอบไหล่ การสัมผัสร่างกายของผู้อื่น การลูบคลำ การฉวยโอกาสกอดรัด จูบ การหยอกล้อ

2. ทางวาจา เช่น การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่าง ทรวดทรงเรื่องการแต่งกายที่ส่อไปทางเพศ พูดจาแทะโลม ลามก

3. ทางสายตา เช่น การจ้องมองส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ส่อไปในทางเพศ จ้องมองหน้าอก อวัยวะเพศ จนทำให้ผู้ถูกมองรู้สึกอึดอัด

4. ทางออนไลน์ อาจมีทั้งรูปแบบเป็นข้อความ คอมเม้นต์ รูปภาพ คลิปอนาจาร หรือเป็นการแซว ล้อเล่น แต่ส่อไปในทางเพศ ข้อความไม่เหมาะสมโดยที่ผู้รับไม่ต้องการ

ภัยคุกคามทางเพศยุคนี้ เกิดขึ้นทั้งจากคนแปลกหน้า และจากคนใกล้ตัว รวมถึงคนที่รู้จักกันผ่านโลกออนไลน์

การสอนลูกระวังภัยคุกคามทางเพศจึงมีความสำคัญยิ่ง พ่อแม่ควรตระหนักในเรื่องนี้อย่างมาก สามารถสอนด้วยการสอดแทรกในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ก็มีส่วนช่วยให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัวในร่างกายได้ด้วย

สำหรับเด็กเล็ก

สอนให้ลูกรู้จักอวัยวะของร่างกายตัวเอง

ควรทำตั้งแต่ลูกยังเล็กเพื่อให้เขาได้เรียนรู้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงอวัยวะที่เกี่ยวกับเพศ เช่น จู๋ จิ๋ม ก้น หน้าอก ควรใช้คำง่าย ๆ เพื่อให้ลูกสื่อสารกับพ่อแม่ได้ จากนั้นบอกลูกว่าพื้นที่ภายในบริเวณที่เสื้อผ้าปกปิด เป็นพื้นที่ส่วนตัวต้องห้าม ไม่ควรเปิดเผยให้ใครดู และห้ามไม่ให้ใครสัมผัส หากมีใครสัมผัส ขอดู ขอถ่ายรูป หรือจะให้ลูกจับ ให้ดูบริเวณพื้นที่ต้องห้าม ต้องปฏิเสธ หลีกหนีทันที และบอกพ่อแม่

เคารพร่างกายของลูก

ท่าทีของพ่อแม่สำคัญมาก แม้จะเป็นพ่อแม่แต่ก็ไม่มีสิทธิเหนือร่างกายของลูก เวลาจะกอด หอมแก้ม ควรขออนุญาตเขาก่อน เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าร่างกายของเขา เขามีสิทธิตัดสินใจอนุญาตหรือไม่ก็ได้ หากเขาปฏิเสธ ไม่ควรบังคับฝืนไจ เพราะเท่ากับเป็นการสอนให้ลูกตระหนักถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเองและเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น

สังเกตพฤติกรรมของลูก

พ่อแม่ควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพฤติกรรมของลูก เพราะเด็กเล็กอาจยังไม่สามารถบอกได้ กรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาจมีร่องรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีอาการหวาดกลัว เก็บตัว พูดน้อยลง เหม่อ มีความหวาดระแวงคนแปลกหน้า ฯลฯ หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ ควรพูดคุยค่อย ๆ ซักถามลูก

สำหรับเด็กโต

ที่เปลี่ยวไม่ไปคนเดียว

ไม่ควรเดินทางไปในที่เปลี่ยวและมืดโดยลำพัง ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วยทุกครั้ง

มีอุปกรณ์ตัวช่วยและช่างสังเกต

ควรพกอุปกรณ์ป้องกันตัวติดไว้เวลาเดินทางไปในที่สาธารณะต่าง ๆ หรือโดยสารรถขนส่งสาธารณะ เช่น สเปรย์พริกไทย และให้ฝึกเป็นคนช่างสังเกตสิ่งรอบตัว ผู้คนรอบข้าง ดูทางหนีทีไล่ ไม่เอาแต่ดูโทรศัพท์มือถือ

สังสรรค์แบบปลอดภัย

หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือของมึนเมาในสถานที่ต่าง ๆ นอกบ้าน ถ้ามีงานเลี้ยงสังสรรค์ก็ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วย และถ้าให้ดีก็ควรจะมีเพื่อนที่ไม่ดื่มอยู่ด้วย เพื่อลดอัตราเสี่ยงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ไม่ไว้ใจใครง่ายๆ

อย่าตัดสินคนที่หน้าตา การศึกษาดี ฐานะดี ท่าทางบุคลิกดี ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าจะปลอดภัยเสมอไป ควรจะระมัดระวังตัวเอง ไม่เชื่อใจใครง่าย ๆ รู้หน้าไม่รู้ใจ ถ้าจำเป็นต้องหารือเรื่องงาน ก็ควรมีเพื่อนไปด้วยทุกครั้ง ที่สำคัญต้องกล้าปฏิเสธที่จะไม่ไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยง เช่น คอนโดมิเนียม หรือห้องในโรงแรมโดยไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย

อย่าเปิดประตูให้คนอื่น

กรณีที่อยู่บ้านคนเดียว ควรปิดล็อคประตูให้เรียบร้อย ไม่เปิดประตูให้คนแปลกหน้าหรือคนรู้จักเข้ามาในบ้านกรณีที่เราอยู่บ้านคนเดียวเด็ดขาด

นี่ยังไม่รวมถึงกรณีถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์

เราต้องยอมรับว่าภัยคุกคามทางเพศในยุคนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ใช่เกิดเฉพาะกับเพศหญิงอย่างเดียว เพศชายที่ถูกคุกคามทางเพศก็มีไม่น้อย เพียงแต่พวกเขาเหล่านั้นไม่กล้าที่จะออกมาเปิดเผยเรื่องราว เพราะผู้ถูกกระทำรู้สึกอับอาย ไม่อยากบอกใคร กลัวถูกสังคมตีตรา เนื่องเพราะยังมีเรื่องทัศนคติของสังคมที่ยังมีคนมองว่าเป็นเพราะผู้ถูกกระทำมีส่วนต่อการทำให้ตัวเองถูกคุกคามทางเพศเองด้วย

ประเด็นที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อหลายรายที่ออกมาแสดงตนว่าเคยถูกคุกคามทางเพศจากบุคคลดังกล่าว และเชื่อว่ายังมีเหยื่ออีกจำนวนมากในสังคมที่ถูกคุกคามทางเพศจากคนใกล้ตัวและคนแปลกหน้าอยู่ทุกวี่วัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งที่ถูกละเมิดหรือคุกคามเท่านั้น แต่นี่เป็นปัญหาสังคม และเป็นปัญหาที่ถูกซุกอยู่ใต้พรม ด้วยทัศนคติที่ผู้ถูกกระทำมักจะอับอาย ไม่กล้าบอกให้ใครรู้ จึงเลือกที่จะนิ่งเงียบ

เมื่อปรากฏการณ์ “#MeToo” เกิดขึ้น มีผู้ถูกกระทำกล้าที่จะออกมาแสดงตน เล่าเหตุการณ์ และไม่ยอมให้ผู้กระทำผิดลอยนวล จึงน่าจะนำมาเป็นบทเรียนร่วมกันในครอบครัว ชวนลูกพูดคุยและสอนให้ลูกระวังภัยคุกคามทางเพศที่อยู่ใกล้ตัวทุกขณะ

ช่าวสารเหตุการณ์ปัจจุบันนำมาเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับลูกได้เสมอ


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน