‘เดอะมอลล์ กรุ๊ป’ เดินหน้าผนึก 2 เจ้าสัว ‘เจริญ-ซีพี’ หวังพลิกโฉมบางกะปิ เทียบชั้น ‘The EM District’

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

ย้อนไปปี 2020 ที่ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้ Rebranding เดอะมอลล์งามวงศ์วาน และ ท่าพระ โดยใช้งบไปสาขาละกว่า 5,000 ล้านบาท ล่าสุด ก็ถึงคิวของเดอะมอลล์ บางกะปิ และ บางแค สองสาขาที่เปิดตัวพร้อมกันตั้งแต่ปี 1994 ซึ่งทั้งสองสาขานี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะถือเป็น แฟลกชิป ของเดอะมอลล์ ทั้งในแง่ของเรเวอร์นิวและทราฟฟิก

ทุ่ม 20,000 ล้านแปลงโฉมใหม่หมด

ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ได้เล่าว่า เมื่อเกือบ 30 ปีก่อนที่เปิดตัว เดอะมอลล์ บางกะปิ โดยใช้สโลแกน อาณาจักรแห่งความสุขทุกครอบครัว แต่ปัจจุบันมันเชยแล้ว ต้องเป็น ไลฟ์สโตร์ ซึ่งทันสมัยและเหมาะกับคนรุ่นใหม่ ดังนั้น เดอะมอลล์ต้องต้องรีเฟรชตัวเองให้ทันสมัย ทำให้ต้อง Rebranding เป็น M Lifestore โดยเปลี่ยนโลโก้ให้ทันสมัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ A Happy Place to live life

โดยทั้ง 2 ศูนย์จะเริ่มทยอยรีโนเวตตั้งแต่ปลายปีนี้ ภายใต้งบ 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2023 ซึ่งการรีโนเวตจะเน้น 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

  • URBAN ได้ยกระดับความครบครันทันสมัยเสมือนยกห้างพารากอนมาไว้ และจะมีการเชื่อมพื้นที่จากสถานีรถไฟฟ้า MRT เข้าสู่ตัวตึกทั้ง 2 สาขา
  • LIFE ได้รวบรวมรูปแบบของความสุขในการใช้ชีวิตที่หลากหลาย และจะเพิ่มแบรนด์ใหม่ ๆ รวมกว่า 1,000 แบรนด์ ใน 8 กลุ่ม รวมถึงจะมีคอนเซ็ปต์ใหม่ ๆ ของแต่ละแบรนด์ด้วย
  • NATURE มีการออกแบบศูนย์ให้ผสมผสานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพักผ่อนและสันทนาการ

นอกจากนี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังได้ใช้งบลงทุนอีก 4,000-5,000 ล้านบาท ในการรีโนเวต พารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2024

ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

สำหรับเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ มีพื้นที่ 350,000 ตารางเมตร พื้นที่รอบ 10 กิโลเมตร มีประชากรกว่า 2 ล้านคน และมีประชากรดิจิตอลสูงถึง 5 ล้านคน มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่พัก คอนโดมิเนียมมากกว่า 1.2 ล้านยูนิต นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่บนถนนลาดพร้าว – บางกะปิ แยกบางกะปิ และลำสาลี ซึ่งกำลังจะมี สถานีลำสาลี ที่เป็นศูนย์รวมการเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าหลัก 3 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง, โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย – ลำสาลี)

ส่วนศูนย์การค้าเดอะมอลล์บางแคมีพื้นที่ 350,000 ตารางเมตรเช่นกัน ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม – กาญจนาภิเษก มีประชากรกว่า 1.5 ล้านคน และมีประชากรดิจิตอล 3.5 ล้านคน มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัก คอนโดมิเนียม มากกว่า 700,000 ยูนิต และอนาคตจะมี รถไฟฟ้าสถานีหลักสอง และ สายเฉลิมรัชมงคล เป็นเครือข่ายคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพฝั่งตะวันตก

ต้องการปั้นบางกะปิเทียบชั้น The EM District

ศุภลักษณ์ เล่าต่อว่า ย่านบางกะปิถือเป็นย่านที่สำคัญมาก เพราะเป็นทำเลที่เชื่อมทั้งเส้นลาดพร้าว, รามคำแหง, บางกะปิ, นวมินทร์, มีนบุรี และศรีนครินทร์ โดยเฉพาะเมื่อมี รถไฟฟ้า 3 สาย ตัดผ่าน นอกจากนี้ ยังสามารถเดินทางทาง เรือ ผ่านคลองแสนแสบ ซึ่งปัจจุบัน คิดเป็นทราฟฟิกประมาณ 10% ของเดอะมอลล์ บางกะปิ

ดังนั้น เดอะมอลล์ กรุ๊ป จึงหวังที่จะพัฒนาย่านดังกล่าวให้เป็น All in One ที่สมบูรณ์แบบ แบบเดียวกับย่านการค้าดัง ๆ ในต่างประเทศ เหมือนกับการพัฒนา The EM District โดยดึง กลุ่ม AWC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีพื้นที่โครงการตะวันนารวมแล้วประมาณ 27 ไร่ และมีพื้นที่ ห้างแม็คโครของเครือซีพีอีก 30 ไร่ เพื่อสร้างย่านการค้า

“นี่เป็นโปรเจกต์ร่วมกันกับคุณเอ๋ วัลลภา ไตรโสรัส ซึ่งเราร่วมมือกันตั้งแต่โปรเจกต์ The EM District แล้ว แต่พอรถไฟฟ้าเสร็จเราเลยมีแผนที่จะพัฒนาชุมชนแถวนั้น โดยจะยกความเป็นเออร์เบิร์น ยกความเจริญเข้ามา ให้คนไม่ต้องเข้าเมือง ครอบคลุมกลุ่มคนทุกระดับ ซึ่งเรายังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่คุยกันแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนกับทางซีพีก็เริ่มมีการคุยกันแล้ว”

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ทายาทเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

เชื่อมั่น 2023 ปีทองเดอะมอลล์ กรุ๊ป

สำหรับปี 2023 ศุภลักษณ์ เชื่อมั่นว่าจะเป็น ปีทอง ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป เพราะโปรเจกต์ The EM District ซึ่งเป็นย่านการค้าที่ประกอบด้วยดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และล่าสุดกับโครงการดิ เอ็มสเฟียร์ ที่ลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท บนเนื้อที่รวม 50 ไร่ มีพื้นที่ในศูนย์รวมกันกว่า 650,000 ตารางเมตร จะเปิดให้บริการภายใน สิ้นปี 2023 เช่นเดียวกับการรีโนเวตเดอะมอลล์ บางกะปิและบางแค ที่จะแล้วเสร็จในช่วงเดียวกัน

สูตรสำเร็จเดอะมอลล์ คือ โลเคชั่น โลเคชั่น โลเคชั่น ดังนั้น ทุกโปรเจกต์ของเราต้องเป็นทำเลหรือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เราขยายไม่เยอะเพราะถ้าทำเลไม่ดีเราไม่ทำ เล็ก ๆ เราก็ไม่ทำ เพราะเราไม่แข่งในสนามเล็ก เราจะลงเฉพาะสนามใหญ่ ๆ เท่านั้น เพราะเราต้องการสร้างย่านที่สมบูรณ์”

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าในปีหน้านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมา ซึ่งจะคิดเป็นสัดส่วน 20% ของ GDP เติบโตจากปี 2022 ที่คิดเป็น 10% ของ GDP ซึ่งยังไม่มี นักท่องเที่ยวจีน และหลังจากที่เดอะมอลล์บางกะปิ และบางแครีโนเวตเสร็จ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มทราฟฟิกอีก 30%

นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ทราฟฟิกของเดอะมอลล์กลับมาเท่ากับปี 2019 และคาดว่าภายในสิ้นปีจะมียอดขายรวม 5 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ช่วงไตรมาสแรกยังได้ผลกระทบจากโควิด ดังนั้นปีหน้า เราเชื่อว่าจะเป็นปีทองของเดอะมอลล์ กรุ๊ป”

รีเทลยุคนี้ยาก ต้องครบสมบูรณ์แบบ

ศุภลักษณ์ ย้ำว่า ศูนย์การค้ายุคนี้ต้อง ยิ่งใหญ่ เพียบพร้อม สมบูรณ์แบบ เพราะต้องเอาใจคนให้ได้ทุกเซ็กเมนต์ เพื่อจะเก็บลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่ม เนื่องจากลูกค้าคิดแล้วว่าถ้าจะเสียเวลามามันต้องคุ้ม ดังนั้น เดอะมอลล์ต้องตามลูกค้าให้ทัน หรือไม่ก็ต้องเป็นผู้นำเทรนด์ให้ลูกค้า เพราะรอให้ลูกค้ามาบอกว่าต้องการอะไรมันไม่ทัน

“วิชั่นเราต้องก้าวไปก่อนคนอื่น ถ้าเราจะเป็นผู้นำเราต้องไม่เป็นผู้ตาม ดังนั้น เราต้องมีความกล้า ต้องก้าวออกจากกรอบ แน่นอนทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่เราเชื่อว่าเรามีประสบการณ์ 40 ปี ที่ผ่านมาทุกวิกฤต และเรามีพันธมิตรที่พร้อมจะไปกับเราจริง ๆ ในทุกสถานการณ์”


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน