เทคนิคเอาตัวรอด เมื่อต้องอยู่ร่วมห้องกับผู้ป่วยโควิดโดยไม่มีห้องแยกกัก

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

โอมิครอน” ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงมากกว่าหมื่นคนต่อวัน ผู้ป่วยอาการน้อยรักษาแบบผู้ป่วยนอก เจอแจกจบ หรือกักตัวรักษาที่บ้าน (HI) ปัญหาใหญ่ของชาวหอพัก คอนโดมิเนียม ที่มี ATK ขึ้น 2 ขีด เมื่อต้องแยกกักตัวรักษาที่บ้าน แต่ไม่มีห้องแยกกัก ต้องพักอาศัยอยู่ในบ้านร่วมกับผู้อื่นที่ไม่ติดเชื้อ

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ มีคำแนะนำเป็นแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องกักตัวรักษาที่บ้าน (HI) กรณีที่ไม่มีห้องแยกให้กักตัวในบ้าน แต่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัวอย่างไรให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ โควิด-19 โดย นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ รพ.ราชวิถี ให้คำแนะนำ ดังนี้

1.ขอให้ทุกคนที่อยู่ในห้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และยึดแนวทางการป้องกันตนเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

2.แบ่งเขตพื้นที่ส่วนผู้ที่เป็นและส่วนผู้ที่ไม่เป็นแยกออกจากกันอย่างชัดเจน

3.จัดหาพัดลมวางไว้ในห้องและเปิดตลอดเวลา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางลมให้ไปออกที่หน้าต่างฝั่งที่ใกล้กับส่วนผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ของส่วนผู้ที่ไม่ป่วย ปลอดภัยเนื่องจากอยู่เหนือลม โดยมีพื้นที่กำหนดพิเศษที่จะให้ผู้ที่เป็นสามารถผ่านเข้ามาได้เฉพาะกรณีวางของหรือออกจากห้องเท่านั้น

4.กำหนดพื้นที่พิเศษสำหรับการจัดการกับสิ่งของหรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้แล้ว โดยขอให้ผู้ป่วยนำของใส่ในถุง พ่นด้วยแอลกอฮอล์ข้างในก่อนปิดปากถุง เมื่อวางแล้วให้พ่นแอลกอฮอล์ซ้ำที่ตรงปากถุงด้านนอก ส่วนผู้ที่จะนำไปจัดการต่อจะต้องใส่ถุงมือ โดยพ่นแอลกอฮอล์ที่ด้านนอกถุงอีกครั้ง เมื่อนำถุงออกมาจากพื้นที่แล้ว ให้เปิดปากถุงแล้วแช่ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟอกประมาณ 10-15 นาที ก่อนที่จะนำไปทำความสะอาดตามปกติ

5.เมื่อมีการสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ขอให้มีการปฏิบัติตัวป้องกันตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยยึดหลัก “ไม่แพร่เชื้อ-ไม่ติดเชื้อ” ทั้งนี้ หากผู้พักอาศัยหรือผู้ดูแลมีอาการผิดปกติควรรีบตรวจหาเชื้อทันที

624ec5aa1f6d28.02047580.jpg

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเอง วัดอุณหภูมิและวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว 2–3 ครั้งต่อวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจ หอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รับการรักษาอยู่ และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาโรงพยาบาล แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ควรใช้รถโดยสารสาธารณะ และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา หากใช้รถยนต์ส่วนตัวขอให้ยึดแนวทางป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด จัดให้ผู้ป่วยนั่งในแถวหลัง เปิดกระจกในรถเพื่อควบคุมทิศทางลมให้ไหลออกไปนอกรถ เป็นการลดความเสี่ยงในการหมุนวนของอากาศ เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางไปด้วย

ทั้งนี้ประชาชนที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด เพื่อความรวดเร็ว ให้ติดต่อพื้นที่ ถ้าอยู่ กทม.ให้โทรสายด่วนประจำแต่ละเขต กรณีอยู่ต่างจังหวัด โทร.สายด่วนประจำจังหวัดหรืออำเภอ หากติดขัดให้โทรสายด่วน สปสช. 1330 โดยสปสช.จัดเตรียมระบบสายด่วน สปสช. 1330 รองรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดที่อาจจะเพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์ โดยจะดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาโดยเฉพาะ ทั้งกลุ่ม 608 เด็ก 0-5 ขวบ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง สปสช.จะลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน (HI) ให้ก่อน พร้อมประสานหาเตียงเพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน