แลนด์ลอร์ดเริ่มเปิดหน้าดิน รับสาย‘สีเหลือง-ชมพู’ LHปัดฝุ่นคอนโดฯศรีนครินทร์

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู อยู่ในระหว่างการทดสอบการเดินรถช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีพ.ศ.2565 และคาดว่าจะเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบได้ในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ.2566 โดยทั้ง 2 เส้นทางเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าของรถไฟฟ้ารางเบา ไม่ใช่เส้นทางรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (เหมือนเส้นในเมือง) รูปแบบการให้บริการจะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ผ่านกรุงเทพมหานครรอบนอกในตอนเหนือ (สีชมพู) ซึ่งเชื่อมจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานครตอนเหนือ และตะวันออก (สีเหลือง) ที่เชื่อมกรุงเทพมหานครตอนเหนือกับจังหวัดสมุทรปราการ

นอกจากนี้ ทั้ง 2 เส้นทาง ยังทำหน้าที่เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ลำเลียงคนจากพื้นที่ต่างๆ เข้าสู่เส้นทางรถไฟฟ้าหลัก อย่างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีส้มในอนาคต และทั้ง 2 เส้นทางยังมีสถานีร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ อีกหลายสถานี

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร กล่าวถึงศักยภาพหลังการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้า 2 สายในปีนี้ 2566 ว่า เส้นทาง “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” มีจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง เช่น สายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว สายสีส้มที่สถานีลำสาลี แอร์พอร์ตลิ๊งค์ที่สถานีหัวหมาก และสายสีเขียวที่สถานีสำโรง

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ยังเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ผ่านถนนเส้นทางสำคัญของกรุงเทพมหานคร คือ ถนนลาดพร้าว และศรีนครินทร์ เรียกได้ว่าเกือบ 100% ของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอยู่บนถนน 2 เส้นทางนี้ ซึ่งถ้าเส้นทางเชื่อมต่อส่วนต่อขยาย จากสถานีลาดพร้าวขึ้นไปตามถนนรัชดาภิเษกจะมีเพิ่มอีก 2 สถานี และเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีรัชโยธิน เพียงแต่ 2 สถานีในส่วนต่อขยายนี้ยังไม่สามารถเจรจากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้สำเร็จได้ รวมไปถึงสถานีลำสาลี ก็อาจจะเป็นสถานีร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และสถานีลาดพร้าว 83 ที่อาจจะกลายเป็นสถานีร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต

เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ผ่านถนนเส้นทางสำคัญของกรุงเทพมหานคร ทั้งลาดพร้าว และศรีนครินทร์ โดยพื้นที่ตามแนวถนนลาดพร้าว เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนามายาวนานมากกว่า 30 ปี แทบไม่มีพื้นที่เหลือให้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อะไรได้มากนัก เพราะที่ดินตลอดแนวเส้นทางมีการพัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์ หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นๆ จนเต็มพื้นที่แล้ว การจะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อะไรก็ตามในพื้นที่ จำเป็นต้องซื้อบ้าน อาคารพาณิชย์หรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ไปพัฒนา ซึ่งราคาที่ดินในพื้นที่ตามแนวถนนลาดพร้าวก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด



โดยช่วงก่อนปีพ.ศ.2560 ราคาที่ดินตามแนวถนนลาดพร้าว อยู่ที่ 150,000 – 500,000 บาทต่อตารางวา แต่ ณ ปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ในช่วงระหว่าง 200,000 – 800,000 บาทต่อตารางวา และสำหรับพื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์ไปจนถึงสถานีสำโรง มีราคาที่ดินในช่วงก่อนปีพ.ศ.2560 อยู่ที่ระหว่าง 150,000 – 250,000 บาทต่อตารางวา แต่ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 200,000 – 600,000 บาทต่อตารางวาแล้ว แต่ขึ้นอยู่ที่ทำเลและศักยภาพของที่ดินในแต่ละแปลง

ตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 เป็นต้นมา เริ่มมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากขึ้น ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เพราะการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีความชัดเจนมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยพื้นที่ตามแนวถนนลาดพร้าวอาจจะมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากกว่าพื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์ต่อเนื่องถึงสำโรง แต่หลังจากนั้น ทั้ง 2 พื้นที่นี้ก็มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ไม่แตกต่างกันมากนัก จำนวนคอนโดมิเนียมรวมในทั้ง 2 พื้นที่มีจำนวนไม่แตกต่างกันมาก จนกระทั่งปีพ.ศ.2565 พื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์ต่อเนื่องถึงสำโรงมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากขึ้นแบบชัดเจน ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สอดคล้องกับช่วงเวลาการเปิดให้บริการของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในปีพ.ศ.2566 โดยพื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์ต่อเนื่องถึงสำโรง ยังคงมีที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม

จำนวนคอนโดมิเนียมรวมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เฉพาะโครงการที่เปิดขายตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 เป็นต้นมา อยู่ที่ประมาณ 20,430 ยูนิต ถ้านับรวมตั้งแต่ก่อนหน้านั้นจะมีคอนโดมิเนียมรวมทั้งหมด 29,600 ยูนิต ช่วงเวลาไม่เกิน 10 ปีนับจากปีพ.ศ.2557 เป็นต้นมา คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่กว่า 20,000 ยูนิต โดยคอนโดมิเนียมทั้งหมดในพื้นที่กว่า 20,430 ยูนิตขายไปแล้วกว่า 80% โดยคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ในพื้นที่มีราคาขายอยู่ในช่วง 60,000 – 100,000 บาทต่อตารางเมตร(ตร.ม.) แต่โครงการส่วนใหญ่มีราคาขายไม่เกิน 80,000 บาทต่อตร.ม.

ช่วงก่อนหน้านี้ 4–5 ปี คอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ยังคงกระจายอยู่ในพื้นที่ตามแนวถนนลาดพร้าว โดยเฉพาะบริเวณที่มีความเป็นชุมชนหรือการพัฒนามาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น โชคชัย 4 บางกะปิ จากนั้นบริเวณที่จะเป็นสถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง เช่น ลำสาลีก็กลายเป็นพื้นที่ยอดนิยมขึ้นมาทันที มีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าไปในพื้นที่หลายราย พื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์อาจจะมีโครงการคอนโดมิเนียมไม่มากนักในช่วงก่อนหน้านี้ โครงการบ้านจัดสรรจะมีมากกว่าชัดเจน แต่พื้นที่รอบๆ สถานีร่วมกับแอร์พอร์ตลิ๊งค์ และพื้นที่ที่ไม่ไกลจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ เช่น ซีคอน พาราไดซ์พาร์ค ก็มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เช่นกัน แต่ปีพ.ศ.2565 มีคอนโดมิเนียมไม่ต่ำกว่า 5,000 ยูนิต เปิดขายใหม่ในพื้นที่ตามแนวศรีนครินทร์ต่อเนื่องถึงสำโรง



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะมีส่วนเข้ามาตอบโจทย์ในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการในหลากหลายเส้นทาง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นเส้นทางที่ครอบคลุมการเดินทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และยังสามารเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจได้

โดยโครงการคอนโดฯที่เกิดขึ้นมา ระดับราคาที่นำเสนอจะไม่ได้สูง เช่น ของค่ายออริจิ้นฯ กับแบรนด์ใหม่กับ Origin Plug & Play หรือจะแบรนด์คอนโดมิเนียม Upper Class โดยมีโครงการ The Origin ลาดพร้าว – บางกะปิ คอนโดฯแนวสูง ที่อยู่ติดรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีบางกะปิ เพียง 100 เมตรเท่านั้น ราคาเริ่มต้นที่ 1.99 ล้านบาท

แม้แต่ แบรนด์รายใหญ่ อย่างบริษัท โนเบิล ดีเวลลอป เมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ออกโครงการใหม่มาก่อนหน้านี้ คือ NUE Noble ศรีนครินทร์–ลาซาล คอนโดมิเนียม High Rise ติดรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานี ศรีลาซาล มีจำนวน 1,014 ยูนิต ในราคาเริ่มต้นที่ 1.59 ล้านบาท

ขณะที่ในกลุ่มแนวราบ ก็ยังมีโครงการเกิดขึ้นเพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเช่นกัน เช่น กลุ่มของแพทโก้ กรุ๊ป ที่เข้ามาชิงกำลังซื้อกับตลาดคอนโดฯ อย่างโครงการ “เธอ”ลาดพร้าว93 (THER LADPRAO 93 ) ลักชัวรี ทาวน์โฮม จับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมีบ้านหรูอยู่อาศัยในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ปัจจุบันปิดเฟสที่ 1-2 แล้ว และอยู่ระหว่างเปิดขายในเฟส 3 และ 4 โซนพิเศษหน้าสวน ราคาเริ่มต้น 14 .9 ล้านบาท รับส่วนลดสูงสุด 2 ล้านบาท และหากจองในวันที่ 21-22 ม.ค. 2566 มีสิทธิ์ลุ้นรับอั่งเปาทองคำสูงสุดมูลค่า 1.5 แสนบาท ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งทางโครงการได้เริ่มโอนที่อยู่อาศัยให้ลูกค้าเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมาแล้ว

แลนด์ฯปัดฝุ่นแปลงศรีนครินทร์

ผุดคอนโดพ่วงค้าปลีก

ผู้สื่อข่าวรายงาน เริ่มมีความเคลื่อนไหวของบริษัทรายใหญ่ อย่างบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ที่ได้ประกาศแผนลงทุน โดย 1 โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวในปีนี้ ได้เลือกทำเลศรีนครินทร์ ซึ่งบริษัทฯมีที่ดินรอพัฒนาอยู่แล้ว มาปัดฝุ่นทำโครงการใหม่อีกครั้ง

“เดิมแลนด์ฯมีแผนที่จะทำคอนโดฯมาก่อนที่จะเกิดโควิด-19 และมีพื้นที่ค้าปลีกด้วย แต่หลังจากเกิดโควิด ทำให้ต้องชะลอการพัฒนาออกไปก่อน ซึ่งต้องมาดูว่า ในโมเดลใหม่จะยังคงคอนเซ็ปต์เรื่องพื้นที่ขายรีเทลหรือไม่”

สำหรับโครงการที่ LH จะเปิดภายใต้ชื่อ The Key ศรีนครินทร์ เนื้อที่ 12.3 ไร่ จำนวน 805 ยูนิต ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8.1 ล้านบาทต่อยูนิต มูลค่าโครงการสูงถึง 6,500 ล้านบาท เปิดขายในไตรมาส 3 ปี 2566 ทั้งนี้ โครงการ The Key ตามแผนที่จะพัฒนาในปีพ.ศ.2562 นอกจากโครงการคอนโดฯแล้ว อาจจะมีพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งหากพิจารณาตามมูลค่าโครงการ The Key สูงถึง 6,500 ล้านบาท อาจจะมีพื้นที่รีเทล เกิดขึ้นตามแผนเดิมที่วางไว้



ปรับผังเมืองกทม.ใหม่ หนุนคอนโดฯแนวสายสีชมพู

เส้นทาง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร โดยมีแนวเส้นทางผ่านถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ และรามอินทรา ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีสถานีร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าอื่นๆ เช่นกัน สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีก็เป็นสถานีร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีหลักสี่เป็นสถานีร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม สถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีมีนบุรีเป็นสถานีร่วมกับสายสีส้ม และถ้าเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทามีการพัฒนาขึ้น ก็จะมีสถานีร่วมกับสายสีชมพูที่สถานีวัชรพล ซึ่งการเป็นเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา อาจจะไม่ได้มีเส้นทางที่วิ่งเข้าเมืองชั้นใน แต่เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อการเดินทางกับเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของคนตามแนวเส้นทาง ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนเลย คือ ราคาที่ดินในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงปีพ.ศ.2561 – 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ราคาที่ดินในพื้นที่ต่ำกว่าปัจจุบัน 20 -30% สถานีที่อยู่จังหวัดนนทบุรีมีราคาที่ดินในช่วงปีพ.ศ.2561 – 2562 อยู่ที่ประมาณ 200,000 – 250,000 บาทต่อตารางวา ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 230,000 – 300,000 บาทต่อตารางวา หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 13 – 20%

พื้นที่ตามแนวถนนรามอินทรา ราคาขายที่ดินปัจจุบันอยู่ในช่วง 200,000 – 300,000 บาทต่อตารางวา ปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 – 25% เช่นกัน ก่อนหน้านี้ราคาที่ดินแถวตลาดมีนบุรีอยู่ที่ประมาณ 150,000 – 160,000 บาทต่อตารางวา ปัจจุบันอยู่ที่ 200,000 บาทต่อตารางวาไปแล้ว เพราะเส้นทางรถไฟฟ้า และมีผู้ประกอบการเข้าไปซื้อที่ดินกันมากขึ้น ทำให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้ตลาดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะในพื้นที่รอบสถานีที่เป็นสถานีร่วมหรือใกล้กับศูนย์การค้า หรือชุมชนเดิม

จำนวนคอนโดมิเนียมในพื้นที่ตามแนวเสนทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ณ สิ้นปีพ.ศ.2565 อยู่ที่ประมาณ 25,650 ยูนิต โดยเป็นจำนวนคอนโดมิเนียมที่มีการเปิดขายมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 และเป็นการขยายตัวแบบต่อเนื่อง ไม่มีปีใดที่มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายมากแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง อาจจะเป็นเพราะว่า เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ผ่านกรุงเทพมหานครรอบนอกทั้ง 2 เส้นทาง ไม่ได้เข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน จึงไม่มีตัวแปรที่เข้าเร่งผู้ประกอบการให้เร่งการเปิดขายโครงการ

อีกทั้ง ฝั่งของผู้ประกอบการยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่าพื้นที่ตามแนว 2 เส้นทางนี้ อัตราการขายก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะโครงการส่วนใหญ่เปิดขายมาสักระยะแล้ว อัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 83% อาจจะยังมียูนิตเหลือขายอยู่ แต่ไม่มากนัก ราคาขายเฉลี่ยอยู่ในช่วงไม่เกิน 80,000 บาทต่อตร.ม. อาจจะมีบางโครงการที่มีราคาขายมากกว่านี้ แต่ไม่มากนัก

“เส้นทางรถไฟฟ้า” ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของที่ดินในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่พื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าจะมีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบตามผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ แม้ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมตามแนวทางของผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน แต่ก็คงไม่ด้อยกว่าเดิมแน่นอน เพราะเส้นทางรถไฟฟ้ามีส่วนสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพื้นที่รอบๆ สถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้ามากกว่า 1 เส้นทาง



เส้น ศรีนครินทร์-รามอินทรา โซนศักยภาพ

แลนด์ลอร์ดผุดโปรเจกต์รับเชื่อมต่อเข้าเมือง



โดยพื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์ และรามอินทรา ที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีศักยภาพตามข้อจำกัดในผังเมืองที่มากขึ้น เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ในพื้นที่เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เช่น เจ้าของห้างสรรพสินค้าซีคอน มีที่ดินแปลงใหญ่ที่อาจจะพร้อมพัฒนาโครงการในอนาคต และสีชมพูเริ่มมีการขยับขยายหรือมีการประกาศขายที่ดินมากขึ้น ตลาดสด หรือโกดังขนาดใหญ่ อาจจะกำลังรอการขายอยู่ รวมถึงมีผู้ประกอบการท้องถิ่น มีแผนจะทำคอมมูนิตี้มอลล์ หรือแม้แต่ทางสวนสยาม ได้ทุ่มกว่า 3,000 ล้านบาท กับโครงการ “บางกอก เวิลด์” บนพื้นที่ 70 ไร่ รวมไปถึงผู้ประกอบการเจ้าของที่ดินหลายราย ที่อาจจะรอความชัดเจนในเรื่องของผังเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อจะได้ทราบถึงข้อจำกัดและศักยภาพสูงสุดของที่ดินภายใต้ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่



“รถไฟฟ้ารางเบา ก็มีส่วนช่วยให้ราคาที่ดินปรับสูงขึ้นได้ แต่อาจจะไม่เหมือนเส้นในเมือง ซึ่งทั้งเส้นสีเหลืองและสีชมพู มีบมจ.อสังหาเข้าไปพัฒนาโครงการคอนโดฯต่อเนื่องมาหลายปี แบรนด์ออริจิ้นฯ บริษัทแอล.พี.เอ็น.ฯ บริษัทเสนาฯ บริษัท ริชี่ เพลซ ฯ ซึ่งห้องชุดพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ก็ยังคงพอมีให้เห็น แต่กระจายทำเล ไม่กระจุกตัวเหมือนในบางเส้นที่เปิดให้บริการ แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเลือกที่จะทยอยเปิดโครงการ เพื่อให้มีผลต่อราคาในแต่ละช่วง เนื่องจากปัจจัยเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ต่างกับเส้นรถไฟฟ้าลำสาลี ที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดคอนโดฯหลายโครงการพร้อมกัน ส่วนของลูกค้าที่ซื้อ ก็มีชาวจีนมองหาคอนโดมิเนียมเช่นกัน เช่น โซนศรีนครินทร์ที่จะไปเส้นบางนา จะมีคนจีนอยู่คอนโดฯ แม้ไม่มีรถไฟฟ้า แต่ก็มีห้างสรรพสินค้ารองรับ เป็นต้น”

ดังนั้น พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และชมพู ที่แม้ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดเล็ก ไม่มีเส้นทางผ่านเข้ากรุงเทพฯชั้นใน แต่ก็ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเดินทาง และการเชื่อมต่อการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง ยังมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องแน่นอนในอนาคต.


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน