หาดป่าตอง ภูเก็ต

ที่มาของภาพ, BBC Thai

ไทยจะไม่เป็นเพียงสวรรค์ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจอีกต่อไป เพราะเป้าหมายใหม่ของรัฐบาลคือเปลี่ยนให้ที่นี่เป็นบ้านหลังที่สองของ “ผู้มีความมั่งคั่งสูง”

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งลงมติเห็นชอบให้ลดค่าธรรมเนียมในการสมัครวีซ่าระยยาว (LTR Visa) ระยะเวลา 10 ปี ลงมาเหลือเพียง 50,000 บาท

เมื่อเป้าหมายสำคัญคือการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนจากคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามายังไทย “อันจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายในประเทศ” แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาในทันทีคือเป็นไปได้แค่ไหน และจะมีความเสี่ยงตามมาหรือไม่ บีบีซีไทยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและค้นคว้าคำตอบมาให้ในบทความนี้

เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่า “มั่งคั่ง”

กลุ่มเป้าหมายของวีซ่าระยะยาวนี้ประกอบไปด้วย 1.กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในประกาศและกฎเกณฑ์กำหนดเงื่อนไขของแต่ละกลุ่มไว้ดังนี้ :

1.กลุ่มความมั่งคั่งสูง

  • ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment FDI) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 17 ล้านบาท)
  • มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.7 ล้านบาท) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
  • มีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 35 ล้านบาท)

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุ

  • ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8.6 ล้านบาท)
  • มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.4 ล้านบาท) หรือมีรายได้เงินบำนาญ ไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.7 ล้านบาท)

3.กลุ่มผู้ต้องการทำงานจากประเทศไทย

  • มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.7 ล้านบาท) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
  • มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.4 ล้านบาท) หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปหรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือได้รับเงินทุน Series A มีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี

4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

  • มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.7 ล้านบาท) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
  • มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.4 ล้านบาท) หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

คุ้มค่าแค่ไหน : มาเลเซียเพิ่มมาตรการใหม่

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดึงดูดนักลงทุนเช่นนี้มีมานานแล้ว ทั้งยังเป็นหนึ่งในแนวนโยบายที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในภูมิภาคเดียวกัน ยกตัวอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียต่างก็มีมาตรการทางวีซ่าที่คล้ายคลึงกัน

“มาเลเซีย คือ บ้านหลังที่สองของฉัน” หรือ Malaysia My Second Home โครงการวีซ่าสำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูงที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2002 แต่ถูกระงับไปชั่วคราวในช่วงกลางปี 2020 ก่อนที่กระทรวงกลาโหมจะกลับมาเปิดโครงการใหม่อีกครั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา พร้อมเงื่อนไขที่เข้มข้นขึ้นหลายเท่า

จากที่เคยกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด หรือเงินฝากธนาคารระยะสั้น เพียง 350,000 – 500,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 2.8-4 ล้านบาท ) ข้อกำหนดใหม่ปรับขึ้นมาเป็น 1.5 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 12 ล้านบาท)

รายได้จากนอกประเทศของผู้สมัครยังต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 40,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 310,000 บาท) เพิ่มขึ้นสี่เท่าจากเงื่อนไขเดิม

แม้จะไม่มีเงื่อนไขด้านการลงทุน แต่ผู้สมัครจะต้องมีเงินฝากประจำขั้นต่ำ 1 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 8 ล้านบาท) โดยรัฐบาลอนุญาตให้ถอนเงินได้สูงสุด 50% ของยอดเงินฝากเพื่อไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ และการศึกษาของบุตร

เงื่อนไขเก่าของมาเลเซียบังคับให้ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ต้องมีเงินฝากขั้นต่ำเพียง 150,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 1.1 ล้านบาท) และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ต้องมีเงินฝากขั้นต่ำเพียง 300,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 2.3 ล้านบาท) เท่านั้น

รศ.ดร.อธิภัทร ชี้ว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่มาเลเซียปรับมาตรการของตนเองให้เข้มข้นขึ้น เพื่อคัดกรองผู้สมัครขอวีซ่าพำนักระยะยาว และเป็นประเด็นที่ไทยต้องกลับมาดูเช่นกันว่า “ถ้าเราต้องการดึงคนเข้ามา เกณฑ์ของเรามันดึงคนที่มีทักษะสูงอย่างที่เราต้องการจริงหรือเปล่า”

ช่วงปลายปี 2019 ก่อนที่มาเลเซียจะตัดสินใจระงับโปรแกรมดังกล่าวนั้น รัฐบาลปฏิเสธใบสมัครไปถึง 90%

คุ้มค่าแค่ไหน : สิงคโปร์ยกเลิก ชี้ภาษีไม่เป็นธรรม

สิงคโปร์เคยมีโครงการคล้ายคลึงกันภายใต้ชื่อ Not Ordinarily Resident (NOR) Scheme หรือโปรแกรมผู้พำนักอาศัยแบบไม่ธรรมดา แต่แล้วรัฐบาลก็ตัดสินใจยกเลิกโครงการดังกล่าวในปี 2019 ด้วยเหตุผลความไม่เป็นธรรมทางภาษีแก่ประชากรท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้ชาวต่างชาติที่อยู่ภายใต้โครงการดังกล่าวสามารถได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ ลงมาเหลือที่ขั้นเริ่มต้นเพียง 10% เท่านั้น ปัจจุบันสิงคโปร์บังคับจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าสูงสุด 22% สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อปีเกินกว่า 320,001 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 7.9 ล้านบาท)

ตามข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาบริษัทข้ามชาติ ECA International ระบุว่า รายได้รวมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของผู้จัดการระดับกลางในสิงคโปร์ ณ ปี 2021 อยู่ที่ 314,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 7.8 ล้านบาท)

แท้จริงแล้วก่อนหน้าที่ ครม.จะลงมติเห็นชอบกับการลดค่าธรรมเนียมสมัครวีซ่าระยะยาวนี้ ครม.ยังอนุมัติหลักการ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายลงเหลือเพียง 17% เท่านั้น

ในการแถลงเรื่องวีซ่าระยะยาว ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสักนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า จะมีชาวต่างชาติ เข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1 ล้านคน และกระทรวงการคลังประมาณการว่า จะไม่มีการสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ในฐานภาษีของประเทศไทย แต่อาจเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้พึงประเมิน”

อัตราภาษีเงินได้ของไทยเริ่มต้นที่ 5% สำหรับผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 150,001 – 300,000 บาท/ปี เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดไปจนถึงระดับ 35% สำหรับผู้ที่มีรายได้เกิน 5 ล้านบาท/ปี ข้อมูลจาก ECA International พบว่า รายได้เฉลี่ยของผู้จัดการระดับกลางรวมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในไทยตกอยู่ประมาณ (ราว 626,000 บาท)

ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน พบว่าไทยมีแรงงานต่างชาติทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติภายใต้มาตรา 62 ประเภทส่งเสริมการลงทุนเพียง 43,885 คนเท่านั้น

สามอาชีพหลักสำหรับชาวต่างชาติที่อยู่ภายใต้ประเภทส่งเสริมการลงทุนได้แก่ 1.ผู้จัดการฝ่ายอื่น ๆ 2.ช่างเทคนิคด้านต่าง ๆ และ 3.กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารระดับสูง

คุ้มค่าแค่ไหน : กรณีศึกษาจากยุโรป

งานวิจัยจาก คริสติน ซูรัก และ ยูซูเกะ ซึซูกิ ที่ตีพิมพ์เมื่อพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยใช้กรณีศึกษาจากโปรแกรมวีซ่าจากการลงทุนในทวีปยุโรปซึ่งส่วนมากมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน พบว่าโดยรวมแล้วมีส่วนสร้างเสริมผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีเฉลี่ยเพียง 0.3% เท่านั้น

รายงานยังเตือนว่า ควรมองนักลงทุนย้ายถิ่นเหล่านี้ให้คล้ายคลึงกับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ มากกว่า มองว่าเป็นผู้ย้ายถิ่นระยะยาว เนื่องจาก “พลเมืองยืดหยุ่นได้” (flexible citizens) เหล่านี้ใช้การลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตนเอง มากกว่า “มาลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจ”

ที่มาของภาพ, Getty Images

ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากออกมาเตือนว่า การสนับสนุนโปรแกรมวีซ่าเหล่านี้จะเร่งให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่นเพิ่มสูงขึ้น แต่ข้อมูลจากการวิจัยกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากสัดส่วนของผู้ที่ถือโกลเดนวีซ่าเหล่านี้มีน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งตลาด

ปัจจุบันโปรแกรมโกลเดนวีซ่าในยุโรปทำเงินให้เศรษฐกิจของทวีปนี้ปีละ 3,000 ล้านยูโร (ราว 1.1 แสนล้านบาท) ตามข้อมูล ณ ปี 2020

ผศ.คริสติน ซูรัก คณะสังคมวิทยา วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เผยกับบีบีซีไทยว่า หากอยากจะพิจารณาว่า แท้จริงแล้วโปรแกรมโกลเดนวีซ่าเช่นนี้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ รัฐบาลจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาความต้องการของประเทศอย่างถี่ถ้วนก่อน

“มีชาวต่างชาตินำเงินมาลงในคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ มากอยู่แล้ว คุณยังต้องการเพิ่มอีกเหรอ” ผศ.คริสติน ตั้งคำถาม

ในตอนที่เธอเดินทางมาประเทศไทยเมื่อ 2018 เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูลทำวิจัย เธอพบว่า โปรแกรมโกลเดนวีซ่าของไทยนั้นกลับไม่ได้เน้นไปที่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับของมาเลเซียหรือแม้แต่กับฝั่งยุโรป “บริการของไทยเหมือนกับ ‘เจ้าหน้าที่ดูแลแขก’ [concierge] มากกว่า”

ผศ.คริสติน เล่าว่า เจ้าหน้าที่จากฝั่งไทยได้ลองให้เธอซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงสนามบิน และกำลังจะต้องผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองในเวลาประมาณเที่ยงคืน ใช้ช่องทางพิเศษสำหรับผู้ถือวีซ่าเหล่านี้

ที่มาของภาพ, Getty Images

เธอพบว่า บริการดังกล่าวสะดวกกว่ามาก เนื่องจากแม้จะเป็นเวลาดึกแล้ว แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวที่รอผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก

“มันก็เห็นได้ชัดว่า ทำไมนักธุรกิจยอมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อความสะดวกนี้”

เมื่อโปรแกรมวีซ่าของไทยตั้งอยู่บนความสะดวกสบาย ผศ.คริสติน ชี้ว่า เพื่อจะตอบคำถามว่า โปรแกรมดังกล่าวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ จึงต้องไล่ลงไปดูว่า เหล่านักธุรกิจที่มาทำธุรกิจหรือมาลงทุนในไทยมองว่า สิ่งที่พวกเขาจ่ายไปคุ้มค่าไหม และก่อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจจากนักลงทุนเหล่านี้ตามมาจริงหรือไม่

ทว่าสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับกฎเกณฑ์หรือข้อกฎหมายโดยทั่วไปที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนเช่นกัน

ขณะที่รัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำหลายประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ทูตนอกแถว’ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า โดยหลักการแล้วโครงการวีซ่าเช่นนี้ก็เป็นการส่งเสริมการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ในเวลาเดียวกันยังมีประเด็นที่รัฐบาลควรเร่งจัดการให้รวดเร็วไม่แพ้กันคือปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

“ทุกวันนี้เรายังมีประกาศสภาวะฉุกเฉินอยู่เลย ไม่เอื้ออะไรต่อการลงทุนเลย เป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ”

สำหรับอดีตทูตที่ต้องคอยประสานงานกับชาวต่างชาติ รัศมิ์ชี้ว่า “การเมืองของเรายังไม่นิ่ง ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้จับม็อบ มีเรื่องอื่นอีกเยอะที่เราไม่ไปแก้ไขอย่างจริงจัง ถ้าจะดึงดูด [นักลงทุน] มีเรื่องอีกเยอะที่ต้องทำ “

ตามการจัดอันดับความง่ายในการทำธุรกิจประจำปี 2020 ของธนาคารโลก ไทยรั้งอันดับที่ 21 จากทั้งหมด 190 ประเทศ แม้จะเป็นอันดับที่ดี แต่ประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียมีอันดับดีกว่าไทยอย่างชัดเจน สิงคโปร์ครองอันดับที่ 2 ของโลก ขณะที่มาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 12

อีกทั้ง ไทยเคยขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 13 เมื่อปี 2009 ก่อนที่อันดับจะตกลงมาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

สหราชอาณาจักร : เงินผิดกฎหมาย ฟอกเงิน รัสเซีย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปแล้ว ตัดสินใจยกเลิกโปรแกรมวีซ่าดังกล่าว จากความพยายามแก้ปัญหาการฟอกเงิน

ประกาศดังกล่าวออกมาในช่วงเดียวกับที่สังคมตะวันตกต่างพยายามกดดันรัสเซียทุกทางเพื่อยุติสงครามในยูเครน

วีซ่าดังกล่าวซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Tier 1 (investor)’ อนุญาตให้ผู้ที่ลงทุนด้วยเม็ดเงินอย่างต่ำ 2 ล้านปอนด์ (ราว 85 ล้านบาท) พร้อมด้วยครอบครัวพำนักอยู่ในสหราชอารณาจักรเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน ในขั้นต้น ก่อนจะขยายเวลาออกไปอีก 2 ปี

สำหรับผู้ที่ลงทุน 5 ล้านปอนด์ขึ้นไป (ราว 212 ล้านบาท) สามารถยื่นขอใบอนุญาตพำนักถาวรได้หลังจากลงทุนไปแล้ว 5 ปี หรือหากลงทุน 10 ล้านปอนด์ขึ้นไป (ราว 424 ล้านบาท) สามารถขอใบอนุญาตพำนักถาวรได้หลังจากลงทุนไปแล้ว 2 ปี

รัฐบาลอังกฤษออกมาแถลงหลังยกเลิกวีซ่าดังกล่าวว่า โครงการนี้ “ไม่ได้สร้าง [ประโยชน์] ให้กับคนในสหราชอาณาจักร ทั้งยังเปิดโอกาสให้ชนชั้นสูงที่ทุจริต เข้ามายังสหราชอารณาจักร”

ที่มาของภาพ, Getty Images

พริที พาเทล รมว.มหาดไทย กล่าวกับบีบีซีว่า “จะทำให้ประชาชนมั่นใจในระบบของเรา ซึ่งนั่นรวมถึงการหยุดยั้งชนชั้นสูงที่ทุจริตและเป็นภัยต่อความมั่นคง รวมถึงการเอาเงินสกปรกเข้ามายังเมืองของเรา”

เมื่อต้นมีนาคมที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลออกแถลงการณ์สนับสนุนข้อเสนอของรัฐสภายุโรปที่เสนอให้มีการตรวจสอบและปรับปรุงโปรแกรมวีซ่าผ่านการลงทุน โดยองค์กรฯ ซึ่งคัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอดเห็นว่าโปรแกรมย้ายถิ่นฐานผ่านการลงทุน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน ทั้งยังเน้นว่า เศรษฐีชาวรัสเซียใช้ประโยน์จากช่องโหว่ของโปรแกรมดังกล่าว

มัยรา มาร์ตินี ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นทางของเงินผิดกฎหมาย จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล ชี้ว่า “ข่าวฉาวมากมายแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าโครงการขุ่นมัวนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อการย้ายถิ่นฐานหรือการลงทุนแท้ที่จริง”