นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวสัมมนาในหัวข้อ “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ มีโอกาสจะโตได้มากกว่า 3% ขณะที่ปี 66 มีโอกาสจะโตได้ 4% แต่การฟื้นตัวจะยังเป็นแบบไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงเสนอโมเดลที่เปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยว่าเป็น “แฝดสยาม” เนื่องจากแม้จะยังมีการเติบโต แต่ก็ต้องมองอย่างระมัดระวัง เพราะเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง โดยในธุรกิจประเภทเดียวกัน อาจจะมีทั้งกลุ่มที่อ่อนแอ และกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวได้ดี
โดยเศรษฐกิจไทย อาจแยกเป็น 2 ส่วน คือในแฝดที่แข็งแรง และในแฝดที่อ่อนแอ กล่าวคือ แฝดที่แข็งแรง เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป การท่องเที่ยวเมืองหลัก คอนโดฯ แนวรถไฟฟ้า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่เน้นการส่งออกและลงทุนต่างประเทศ ส่วนแฝดที่อ่อนแอ เช่น ภาคการเกษตร การท่องเที่ยวเมืองรอง อสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัด ธุรกิจที่เน้นการใช้ในประเทศและ SME เป็นต้น โดยในกลุ่มท่องเที่ยว จะพบว่าการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเกิดกับการท่องเที่ยวในเมืองหลัก แต่ตามเมืองรองหรือจังหวัดท่องเที่ยวอื่นยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตได้ดี คือ คอนโดฯ แนวรถไฟฟ้า ส่วนอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดอาจยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก เป็นต้น ขณะที่กำลังซื้อในระดับกลางถึงระดับบนเติบโตได้ดีขึ้น ในขณะที่กำลังซื้อในระดับกลางถึงล่างยังไม่ค่อยดีนัก
“การจะบอกว่าอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดี เป็นแฝดที่แข็งแรงแล้ว จะไม่สนใจอีกฝั่ง ซึ่งเป็นแฝดที่ไม่แข็งแรง ก็คงจะไม่ได้ เพราะคำว่าแฝดสยามโมเดล สองคนในร่างเดียว ถ้าคนหนึ่งไตไม่ดี ตับไม่ดี หัวใจไม่ดี อีกคนหนึ่งก็อยู่ไม่ได้ จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกัน จะเติบโตแค่ฝั่งเดียวคงไม่สามารถอยู่รอดได้ เราต้องดูแลฝั่งที่อ่อนแอด้วย” นายอมรเทพ ระบุ
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายผ่านคลื่นหลายลูก เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมต้องปรับตัวให้ทัน และต่อมาทั่วโลกต้องประสบกับสงครามการค้า (Trade War) ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
ถัดมาต้องเจอคลื่นจากโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้รายได้หลักของไทยอย่างการท่องเที่ยวหายไป เหลือเพียงภาคการส่งออก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ขณะที่โรคโควิดเริ่มดีขึ้น ทั่วโลกกลับต้องประสบกับภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics) ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และไต้หวัน-จีน ซึ่งส่งผลให้เกิดทั้งวิกฤติอาหารโลก และวิกฤติพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเศรษฐกิจถดถอย (Recession) สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และยังมีปัญหาท้าทายที่ทั่วโลกหนีไม่พ้น คือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งปัญหาไฟป่า น้ำท่วม หรือความแห้งแล้ง
นอกจากนี้จะเริ่มเห็นหลายประเทศย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น อย่างล่าสุดข้อมูลจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีการลงทุนในภูมิภาค ปีที่แล้วประเทศเวียดนามมีสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติแซงประเทศไทยแล้ว
อย่างไรก็ดี ส.อ.ท. มองว่าทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท กลุ่ม First Industries ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม Up Skill-Re Skill เพื่อให้สามารถปรับตัวเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีมากขึ้น
สำหรับ Next-Gen Industries อย่าง S-Curve หรืออุตสาหกรรมที่ไทยครองแชมป์ โดยเฉพาะการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะนี้โดน Disruption ขาดแคลนวัตถุดิบอย่างชิปและเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งเทรนด์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามามากขึ้น ไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว
ส่วน Next-Gen Industries ต่อมาคือโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบโดยเฉพาะชีววิทยา (Biology) ที่มีจุดแข็งทั้งด้านการเกษตร พื้นที่สีเขียว และความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถเพิ่มมูลค่าสิ่งที่มีด้วยตนเองได้ ทำให้รายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ต่างชาติ ดังนั้น หากไทยสามารถนำทรัพยากรมาบริหารจัดการได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก็จะสามารถนำรายได้กลับเข้าประเทศได้มากขึ้น เช่น ในการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ไทยได้เพียงค่าแรงกลับมาเท่านั้น
ทั้งนี้ S-Curves Industries 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น First S-curve การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
ส่วน New S-curve ยกระดับมูลค่า (Value Shifted) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา