คอลัมน์การเมือง – เหม็นน้ำลายนักการเมืองให้ร้ายประเทศไทย

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

การผ่อนคลายทางเศรษฐกิจหลังโควิด ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย กิจกรรมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเริ่มคึกคัก นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามา แต่ก็ยังมีปัญหาราคาพลังงาน เงินเฟ้อ เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้ง สงครามเศรษฐกิจในระดับโลกยังดำเนินต่อไป

คนไทยจำนวนไม่น้อย ยังรู้สึกไม่แน่ใจว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะย้อนกลับไปเป็นเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 อีกหรือไม่?

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉายภาพสถานการณ์ปัจจุบัน หลังครบรอบ 25 ปี ที่ทางการไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

ศูนย์วิจัยกสิกร ชี้ชัดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ย้อนรอยอดีตวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540

ข้อมูลและความเห็นบางประการที่น่าสนใจ อาทิ

1. เงินบาทในปีนี้มีทิศทางอ่อนค่า สอดคล้องกับหลายสกุลเงินในเอเชีย ล้วนได้รับผลกระทบจากปัจจัยของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากปี 2540

เพราะในปี 2540 เงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลมาจากการปรับอ่อนค่าหลังมีการลอยตัวค่าเงินเพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของไทยในเวลานั้น ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2565 ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ อยู่ที่ประมาณ 4-6% ซึ่งสะท้อนว่า ธปท.ยังคงช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาทท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้าน

2. วิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 มีต้นตอมาจากความไม่สมดุลภายในและการผูกค่าเงิน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความแตกต่าง เพราะต้องรับมือกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก

โดยปี 2540 ภาคเอกชนและสถาบันการเงินขาดการตระหนักถึงความเสี่ยงมีการใช้จ่ายและกู้ยืมเกินตัวเปิดความเสี่ยงด้าน Maturity and Currency Mismatch มีการก่อหนี้ต่างประเทศสูง และมีการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจภาพรวมมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนตรึงไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งทำให้ถูกโจมตีค่าเงิน และทางการไทยจำเป็นต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยในเวลานั้นเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิลดลงเหลือเพียง 2.8 พันล้านบาท ณ มิ.ย.2540

แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงและแข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก

ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (เงินสำรอง และ Net ForwardPosition) ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท ณ 24 มิ.ย.2565 ซึ่งสามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน

ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564

นอกจากนี้ ทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะผ่านมาตรการ เช่น การกำหนดเกณฑ์ LTV ทำให้คลายกังวลต่อปัญหาดังกล่าวลงบางส่วน ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตและการวางแนวทางเพื่อไม่ให้ไทยซ้ำรอยเดิม

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน มีโจทย์จากปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่เหมือนกับในอดีต ปัจจุบันมีต้นตอของปัญหามาจากโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งกระทบราคาน้ำมัน รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

3. ในปี 2540 หนี้ที่เป็นปัญหา ต้นตอมาจากการก่อหนี้ต่างประเทศและมาปล่อยกู้ผ่าน BIBF

แต่ปัจจุบัน หนี้ภาคเอกชนและภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทจากสภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก

นอกจากนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งของหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาจากการที่ต้องเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤตหลายระลอกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น แม้ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนจะเป็นโจทย์ระยะยาวที่ต้องมีการเข้าไปดูแล แต่ไม่น่าจะสร้างปัญหาในระยะสั้นเหมือนกับหนี้ BIBF ในช่วงวิกฤต 2540

4. สถานะของแบงก์ไทยในวันนี้ มีสถานะแข็งแกร่งกว่าปี 2540

แต่มีโจทย์ในเรื่องการประคองความสามารถในการทำกำไรให้กลับมาเทียบเคียงระดับก่อนโควิด พร้อมๆ กับการดูแลปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ และการเร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาวให้ลูกหนี้

จุดอ่อนในภาคธนาคารที่เคยเป็นชนวนของวิกฤตสถาบันการเงินในช่วงปี 2540 ได้รับการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการและครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า รวมถึงการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล (Basel III) ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าในปี 2540 มาก

สะท้อนจากความมั่นคงของระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงมีการจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก โดยสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.79% (ณ เมษายน 2565) ซึ่งสูงกว่าในช่วงปี 2540 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับต่ำกว่า 100% และสัดส่วน NPL ณ ไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 2.93% ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์

5. กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะไม่เหมือนกับในปี 2540 และไทยได้มีการเรียนรู้และปรับมาตรการและกฎเกณฑ์มาป้องกันการซ้ำรอย จนทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ สถานะของสถาบันการเงิน และไม่มีภาวะเก็งกำไรในวงกว้างแบบในปี 2540 อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบของปัจจัยภายนอก ทั้งวิกฤตโควิด สงครามยูเครน-รัสเซีย ปัญหาราคาน้ำมันสูง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้โจทย์ที่สำคัญ คือ การช่วยประคองภาคครัวเรือนและธุรกิจให้สามารถรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า เช่น แรงกดดันเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ/ต้นทุนที่สูง และดอกเบี้ยในประเทศที่กำลังจะขยับขึ้น พร้อมๆ กับการวางแนวทางรับมือกับโจทย์เชิงโครงสร้าง ทั้งระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น การยกระดับทักษะแรงงาน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเร่งผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยังระบุด้วยว่า

“แม้ไทยจะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงหลังสิ้นสุดหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กอปรกับมีการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นตามการนำเข้าพลังงาน แต่เมื่อรวมผลจากจีดีพีไตรมาส 1/2565 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด มุมมองการบริโภคภาคเอกชนที่ดีกว่าที่เคยประเมินเล็กน้อย รวมถึงแรงหนุนสำคัญจากรายได้นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีสำหรับทั้งปี 2565 จาก 2.5% มาอยู่ 2.9%

…ไทยยังไม่ต้องห่วงผลกระทบต่อความมั่นคงของระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากยังอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ได้กว่า 1.2 เท่า”

6. หากคนไทยเหม็นเบื่อน้ำลายนักการเมืองที่ต้องการแย่งชิงอำนาจรัฐมาเป็นของตัวเอง ใช้วิธีกล่าวให้ร้าย ดิสเครดิต ปั่นกระแสเพื่อหวังล้มรัฐบาลลูกเดียว จนสาดโคลนเสียราวกับประเทศชาติไม่มีอะไรดี มีแต่จะดิ่งลงเหว

ก็สมควรที่คนไทยจะปฏิเสธนักการเมืองสามานย์คุณภาพต่ำ หันมาเสพข่าวจริงๆ ข้อมูลจริงๆ และร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้เดินต่อไปข้างหน้ามิใช่วนกลับไปอยู่ในอุ้งมือนักการเมืองโกงบางตระกูล และเกิดวิกฤตการเมืองซ้ำซาก

สารส้ม


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน