ที่ผ่านมาร่วม 20 ปี การเติบโตของเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ที่มีชื่อย่อว่า BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เนื่องจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปต่างก็มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำหรือในบางช่วงเวลาก็มีภาวะเศรษฐกิจหดตัว อย่างเช่น ในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551-2552
ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่ มีเพียงประเทศจีนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมาตลอดอย่างต่อเนื่อง 30 ปี แม้แต่ในปีที่เจอโรคระบาด เศรษฐกิจจีนก็ยังคงเติบโตในขณะที่ทั่วโลกต่างมีภาวะเศรษฐกิจหดตัว แม้ว่าอัตราการเติบโตของจีนในปีนั้นจะต่ำกว่าที่เคยเป็นมา
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด คาดว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากสัญญาณทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ปรากฎขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหามากขึ้น
ตลาดหุ้นของจีนมีมูลค่าต่ำกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2539 แต่ด้วยธุรกิจภายในประเทศเติบโต มีการขยายธุรกิจ ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น เศรษฐกิจที่เติบโตสูงกว่าประเทศอื่นๆ ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากเข้าสู่จีน จนปัจจุบันมีมูลค่าตลาดหุ้นสูงกว่า 12 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (หรือเพิ่มขึ้น 300 เท่าภายในเวลา 27 ปี) กลายเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกา
ปี 2563 การระบาดของโควิด-19 ทำให้จีนเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ 2.3% จากที่เคยเติบโตสูงกว่า 5% ต่อปีมาโดยตลอดกว่า 30 ปี โดยในช่วง 2 เดือนแรกของ 2563 มีธุรกิจในประเทศจีนกว่า 2.4 แสนรายล้มละลาย ในขณะที่ตลาดหุ้นมีมูลค่าเพีมจาก 8 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ 14.4 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2564 การเติบโตเกือบเท่าตัวของตลาดหุ้นภายในเวลาเพียง 2 ปี สวนกระแสกับการเติบโตในภาคเศรษฐกิจจริงที่มีการขยายตัวชะลอลงในช่วงเวลาเดียวกัน
ในทางเศรษฐศาสตร์ ความไม่สอดคล้องกันนี้ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณของฟองสบู่ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากการเติบโตของราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขในช่วงเวลาดังกล่าว
แต่ตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงอย่างมาก คือ ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2564 เศรษฐกิจของจีนเติบโตเพียง 4% และที่สร้างความกังวลคือ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เศรษฐกิจเติบโตเพียง 0.4%
จากการรายงานของสำนักข่าว Bloomberg เศรษฐกิจจีนมีการหดตัวอย่างชัดเจนของระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีกของประเทศ และการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ต้นปี 2564 และหดตัวมาตลอดระยะเวลา 1 ปี
>> ทั้งหมดนี้ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศจีนโดยรวมลดลงอย่างมาก
เศรษฐกิจของเมืองเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาดหุ้นของจีนและเป็นเมืองหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจของจีนมาโดยตลอด หดตัวถึง 13.7% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มปรับตัวลดลงติดต่อกันมาตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา
ราคาอสังหาริมทรัพย์เคยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่มีการเปิดประเทศในยุค 90 และเคยมีช่วงที่ราคาที่พักอาศัยพุ่งสูงภายในปีเดียวถึง 25% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 แม้ในปี 2563 เองก็ยังมีราคาเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งทุกเดือนจนไปเพิ่มสูงในเดือนธันวาคม (ราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับราคาในปีก่อนหน้า)
แต่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา หรือก็คือช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ราคาที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างชะลอตัวลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา ราคาที่พักอาศํยในจีนปรับตัวลดต่ำลงมาตลอด เฉลี่ยแล้วลดไปกว่า 8% เมื่อเทียบกับราคาในปีก่อนหน้า
ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างประสบกับภาวะกำไรหดตัวหรือขาดสภาพคล่อง การผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนเริ่มปรากฎให้เห็นในปี 2564 และกลุ่มนี้มีหนี้สินมูลค่ามหาศาล การผิดนัดชำระหนี้สะท้อนถึงภาวะตึงตัวของธุรกิจ โดยเมื่อปลายปี 2564 Evergrande บริษัทอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีหนี้สินถึงกว่า 3 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่ามากกว่า GDP ชองหลายๆ ประเทศกว่าครึ่งโลก) ผิดนัดชำระหนี้ 1.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ความล้มเหลวทางธุรกิจของ Evergrande ส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจทั้งในอเมริกาและยุโรปที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทรวมกว่า 400 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ UBS อีกกว่า 300 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ Blackrock ประมาณ 400 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
Fantasia Holding และ Sinic Holding ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมกันแล้วประมาณ 3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ผิดนัดชำระหนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นับจนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นของ Fantasia ในปีที่ผ่านมาลดลง 76.5% และราคาหุ้นของ Sinic ในปีที่ผ่านมาลดลง 87.8%
ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2565 บริษัท Sunac ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรายถัดมาที่บรรดาบริษัทจัดอันดับความเสี่ยงปรับลดอันดับความน่าเชื่อลง ราคาหุ้นของ Sunac China Holdings ในปีที่ผ่านมาลดลงไปแล้ว 81.86%
ทั้ง 3 บริษัทมีมูลค่าหนี้สูงกว่าทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 เท่า นั่นหมายถึง มีมูลค่าหนี้รวมประมาณ 1.8 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
บรรดาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาเหล่านี้ต่างโทษว่านี่เป็นผลของการใช้มาตรการควบคุมการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ออกมาในปี 2563
เนื่องจากมูลค่าธุรกิจกลุ่มนี้และมูลค่าหนี้สูงมาก การจ้างงานที่มีแรงงานสูงกว่า 1 แสนคน ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของจีน นักลงทุนเองเริ่มเทขายหุ้นธนาคารและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน โดยเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้ มีการประท้วงของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เรียกร้องว่าหากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไม่ดำเนินการก่อสร้างต่อ ก็จะไม่ชำระหนี้เช่นกัน
เมื่อเร็วๆ นี้เอง หลายคนอาจเห็นข่าวว่าผู้ฝากเงินกับธนาคารขนาดเล็ก (ธนาคารหมู่บ้าน) ในจีน อย่างน้อย 4 แสนรายประสบกับการไม่สามารถถอนเงินของตนได้ โดยทางการจีนกล่าวว่าธนาคารเหล่านี้มีการรับฝากเงินผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่ของธนาคารเองซึ่งเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งแพลตฟอร์มที่ใช้ทำธุรกรรมนี้มีบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีเป็นเจ้าของหรือมีส่วนร่วมความเป็นเจ้าของ และหากมองย้อนกลับไป
ความจริงแล้วระบบการเงินการธนาคารของจีนเองเริ่มประสบปัญหามาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งมีธนาคารเปาซางล้มละลายเป็นธนาคารแรกในรอบ 20 ปี
======
รัฐบาลจีนและธนาคารของรัฐจึงมีแผนรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเตรียมเม็ดเงินไว้สำหรับโครงการต่างๆ ถึง 7.2 ล้านล้านหยวน
เราคงต้องติดตามดูเศรษฐกิจจีนกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร การใช้จ่ายของภาครัฐจะได้ผล พอที่จะพยุงเศรษฐกิจของจีนต่อไปให้รอดพ้นวิกฤตไปได้หรือไม่