workpointTODAY | What Works TODAY

ส่งหน้านี้ให้เพื่อน

ผ่านพ้นไปอีกปี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 ยังน่าจับตาต่อเนื่องและเป็นปีแห่งความหวัง ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมายังต้องเผชิญมรสุม ทั้งจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเงินเฟ้อที่ผลักดันให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหา ปีนี้อาจไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้นัก อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหา ของภาครัฐ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ ยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ดึงดูดให้กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้มากขึ้น

ข้อมูลจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.1 เป็น 47.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ถือเป็นสัญญาณบวกสะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้กลับมาแล้ว

ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า ปัจจัยภายนอกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ เมื่อเลือกซื้อที่อยู่อาศัยนั้น มากกว่าครึ่งต้องการโครงการที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (53%) ตามมาด้วยเลือกจากทำเลที่ตั้งของโครงการ (50%) สะท้อนให้เห็นว่าคนหาบ้านปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อบ้าน/คอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่บนทำเลที่มีศักยภาพ พร้อมรองรับการเดินทางไปทำงานและไลฟ์สไตล์ทุกด้านด้วยนั่นเอง

กรุงเทพฯ ยังครองความนิยมเป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจซื้ออสังหา มากที่สุดในรอบปี 2565 ตามมาด้วย อันดับ 2 นนทบุรี, อันดับ 3 สมุทรปราการ, อันดับ 4 ปทุมธานี, อันดับ 5 ชลบุรี, อันดับ 6 เชียงใหม่, อันดับ 7 ประจวบคีรีขันธ์, อันดับ 8 ภูเก็ต, อันดับ 9 พัทยา และอันดับ 10 นครปฐม

โดย 4 อันดับแรกอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งสิ้น นอกจากนี้เองผลจากการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่ง และโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ครอบคลุม และเชื่อมต่อการเดินทางทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยไม่ได้กระจุกตัวแค่ในเมืองหลวงอีกต่อไป ส่งผลให้ตลาดอสังหา ในพื้นที่นอกเมืองหลวงกลายเป็นทำเลที่น่าจับตามองและเติบโตตามไปด้วย

โดย “คอนโดฯ” กลายเป็นประเภทอสังหา ที่มีการค้นหามากที่สุดทั่วประเทศในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยสัดส่วน 42% ตามมาด้วยบ้านเดี่ยวในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน (40%) และทาวน์เฮ้าส์ (18%) สะท้อนให้เห็นว่าเทรนด์ที่อยู่อาศัยแนวดิ่งยังคงเป็นที่ต้องการและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ แม้จะไม่มีการเติบโตอย่างหวือหวา แต่การแข่งขันเปิดตัวโครงการคอนโดฯ ของผู้ประกอบการอสังหา ออกไปยังตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น ถือเป็นการขยายโอกาสไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ยังคงมีดีมานด์อีกด้วย

สำหรับตลาดอสังหา ในกรุงเทพฯ ผู้ประกอบการอสังหา ยังคงเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง โดยเฉพาะในทำเลที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ยิ่งดึงดูดให้ผู้บริโภคมองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่เหมาะสมบนทำเลที่ตอบโจทย์ เมื่อพิจารณาจากจำนวนการเข้าชมประกาศอสังหา สำหรับขายบนเว็บไซต์ DDproperty พบว่า “สวนหลวง” เป็นทำเลที่ได้รับความสนใจซื้อมากที่สุดในรอบปี 2565 ด้วยความที่เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีอสังหา หลากหลายรูปแบบให้เลือก และมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่รองรับการเดินทางที่หลากหลาย เมื่อรวมกับอานิสงส์จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่จะเปิดให้บริการในปี 2566 ซึ่งเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าได้หลายเส้นทาง จึงทำให้ “สวนหลวง” กลายเป็นสุดยอดทำเลยอดนิยมในฝั่งผู้ซื้อประจำปีนี้

โดย 10 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจซื้อมากที่สุดในรอบปี 2565 ได้แก่

อันดับ 1 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง

อันดับ 2 แขวงบางจาก เขตพระโขนง

อันดับ 3 แขวงบางนา เขตบางนา

อันดับ 4 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา

อันดับ 5 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว

อันดับ 6 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง

อันดับ 7 แขวงจอมพล เขตจตุจักร

อันดับ 8 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ

อันดับ 9 แขวงดินแดง เขตดินแดง

อันดับ 10 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาทำเลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจซื้อมากที่สุด เมื่อแบ่งตามประเภทของอสังหา แล้วพบว่า ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจซื้อคอนโดฯ สูงสุดในรอบปี 2565 ได้แก่ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา ส่วนความสนใจซื้อบ้านเดี่ยวสูงสุด ได้แก่ แขวงประเวศ เขตประเวศ และทาวน์เฮ้าส์ ได้แก่ แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน

ท่ามกลางความท้าทายทางการเงินจากสภาพเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาเลือกเช่าแทนการซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานมากกว่า ข้อมูลจากจำนวนการเข้าชมประกาศอสังหา ให้เช่า บนเว็บไซต์ DDproperty พบว่า ในปี 2565 นี้ “บางจาก” เป็นทำเลที่ได้รับความสนใจเช่ามากที่สุด ด้วยความโดดเด่นจากการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยยอดนิยมของวัยทำงานทั้งชาวไทยและต่างชาติ อยู่ใกล้ใจกลางเมือง รายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และมีรถไฟฟ้าผ่าน ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีคอนโดฯ ที่มีราคาเอื้อมถึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ โดย 10 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจเช่ามากที่สุดในรอบปี 2565 ได้แก่

อันดับ 1 แขวงบางจาก เขตพระโขนง

อันดับ 2 แขวงบางนา เขตบางนา

อันดับ 3 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา

อันดับ 4 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง

อันดับ 5 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย

อันดับ 6 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง

อันดับ 7 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา

อันดับ 8 แขวงดินแดง เขตดินแดง

อันดับ 9 แขวงจอมพล เขตจตุจักร

อันดับ 10 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ

ขณะที่ทำเลที่ได้รับความสนใจเช่ามากที่สุดในรอบปี เมื่อแบ่งตามประเภทของอสังหา พบว่า “สวนหลวง” ครองอันดับ 1 ของการค้นหาที่อยู่อาศัยแนวราบเพื่อเช่า เนื่องจากเป็นย่านที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงระดับบนที่สามารถเดินทางได้สะดวก

ขณะที่ประเภทอสังหา ในกรุงเทพฯ ที่มีความสนใจซื้อมากที่สุดในรอบปี 2565 พบว่า ผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง (55%) ค้นหาคอนโดฯ มาเป็นอันดับ 1 สะท้อนให้เห็นว่า คอนโดฯ ยังคงมีดีมานด์ทั้งจากผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยหรือนักลงทุน เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายในการอยู่อาศัยชัดเจน และมีจุดเด่นที่อำนวยความสะดวกให้ใช้ชีวิตในเมืองหลวงได้คล่องตัวกว่า ตามมาด้วยบ้านเดี่ยว (28%) และทาวน์เฮ้าส์ (17%) โดยระดับราคาที่อยู่อาศัยที่ชาวกรุงสนใจซื้อมากที่สุดในรอบปี 2565 เมื่อแบ่งตามประเภทอสังหา พบว่า

ระดับราคาคอนโดฯ ที่มีการค้นหามากที่สุดในรอบปี ได้แก่ ระดับราคา 1-3 ล้านบาท มีการค้นหามากถึง 42% สะท้อนให้เห็นดีมานด์ของกลุ่มลูกค้าในตลาดกลาง-ล่างที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในราคาจับต้องได้ (Affordable price) หรือซื้อที่อยู่อาศัยเป็นครั้งแรก จึงเลือกที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ และคุ้มค่าเมื่อพิจารณาจากปัจจัยบวกที่ได้จากมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์-ค่าจดจำนอง เหลือเพียง 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้สามารถกู้ได้เต็ม 100% ภายในสิ้นปี 2565 นี้ ตามมาด้วยระดับราคา 5-10 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท (ในสัดส่วน 18% และ 16% ตามลำดับ)

สวนทางกับระดับราคาบ้านเดี่ยวที่มีความสนใจซื้อมากที่สุดในรอบปี ได้แก่ ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ด้วยสัดส่วน 36% ตามมาด้วยระดับราคา 5-10 ล้านบาท (30%) และระดับราคา 3-5 ล้านบาท (20%) สะท้อนให้เห็นถึงดีมานด์ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและมีเงินเก็บเพียงพอ ที่สนใจเป็นเจ้าของบ้านหรู (Luxury) โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ และผู้บริโภคที่ต้องการพื้นที่รองรับการอยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัว จำเป็นต้องเลือกพิจารณาบ้านเดี่ยวที่ราคาสูงขึ้น เพื่อแลกกับพื้นที่ใช้สอยที่ตอบโจทย์

ส่วนระดับราคาของทาวน์เฮ้าส์ที่มีความสนใจซื้อมากที่สุดในรอบปี พบว่า ผู้บริโภคเกือบครึ่ง (48%) ค้นหาทาวน์เฮ้าส์ในระดับราคา 1-3 ล้านบาทมากที่สุด ตามมาด้วยระดับราคา 3-5 ล้านบาท ( 27%) และ 5-10 ล้านบาท (15%) จะเห็นว่าผู้บริโภคให้ความสนใจเลือกซื้อทาวน์เฮ้าส์ในระดับราคาที่จับต้องได้ เช่นเดียวกับในกลุ่มคอนโด

ในฝั่งตลาดเช่าที่อยู่อาศัยพบว่า “คอนโดฯ” ยังคงครองความนิยมและเป็นประเภทอสังหา สำหรับเช่าที่มีคนค้นหามากที่สุดในรอบปี 2565 ด้วยสัดส่วนถึง 86% เนื่องด้วยเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสังคมเมือง ซึ่งมีทั้งวัยทำงานและวัยเรียนเข้ามากระจุกตัวเป็นจำนวนมาก ด้านที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์นั้นมีความสนใจเช่าในสัดส่วนเท่ากันที่ 7% เมื่อพิจารณาระดับค่าเช่าต่อเดือนที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในรอบปี แบ่งตามประเภทอสังหา พบว่า

ระดับค่าเช่าคอนโดฯ ที่มีคนค้นหามากที่สุดในรอบปี เกือบ 4 ใน 5 ของผู้เช่า (74%) สนใจค้นหาที่ระดับราคาไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการเช่าคอนโดฯ บนทำเลที่เดินทางสะดวก มีระบบความปลอดภัยที่ไว้วางใจได้ และระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน

– อันดับ 1 ระดับค่าเช่า 10,000-20,000 บาท สัดส่วน 38%

– อันดับ 2 ระดับค่าเช่า ไม่เกิน 10,000 บาท สัดส่วน 36%

– อันดับ 3 ระดับค่าเช่า 30,000 บาทขึ้นไป สัดส่วน 15%

ระดับค่าเช่าบ้านเดี่ยวที่มีคนค้นหามากที่สุดในรอบปี ผู้เช่ามากกว่าครึ่ง (59%) สนใจเช่าที่ระดับราคา 30,000 บาทขึ้นไป โดยให้ความสำคัญไปที่การเช่าบ้านเดี่ยวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ตั้งอยู่ในทำเลทองที่หาซื้อบ้านใหม่ในราคาที่เหมาะสมได้ยาก มีพื้นที่เพียงพอรองรับการใช้ชีวิตของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งถือว่าคุ้มค่าหากเทียบกับการมีภาระหนี้ก้อนโตในระยะยาวจากการซื้อบ้านในเวลานี้

– อันดับ 1 ระดับค่าเช่า 30,000 บาทขึ้นไป สัดส่วน 59%

– อันดับ 2 ระดับค่าเช่า 10,000-20,000 บาท สัดส่วน 19%

– อันดับ 3 ระดับค่าเช่า 20,000-30,000 บาท สัดส่วน 16%

ระดับค่าเช่าทาวน์เฮ้าส์ที่มีคนค้นหามากที่สุดในรอบปี ผู้เช่าส่วนใหญ่ (38%) ต้องการเช่าที่ระดับราคาไม่เกิน 20,000 บาท โดยมองว่าเป็นราคาที่สอดคล้องและสมเหตุสมผลในการเช่าทาวน์เฮ้าส์ ที่ได้พื้นที่ส่วนตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าการเช่าห้องพักหรือคอนโดฯ ซึ่งสามารถต่อยอดในการทำธุรกิจได้ด้วย

– อันดับ 1 ระดับค่าเช่า 10,000-20,000 บาท สัดส่วน 38%

– อันดับ 2 ระดับค่าเช่า 30,000 บาทขึ้นไป สัดส่วน 27%

– อันดับ 3 ระดับค่าเช่า 20,000-30,000 บาท สัดส่วน 20%


ส่งหน้านี้ให้เพื่อน